xs
xsm
sm
md
lg

UN ประณามโสมแดงยิงจรวดพิสัยกลางครั้งล่าสุด-ผู้เชี่ยวชาญเตือน “มูซูดัน” อาจพร้อมใช้งานปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแถลงประณามการทดสอบขีปนาวุธ “มูซูดัน” ของเกาหลีเหนือเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าขีปนาวุธร้ายแรงรุ่นนี้อาจได้รับการพัฒนาจนพร้อมใช้งานได้จริงภายในต้นปีหน้า

เกาหลีเหนือได้นำขีปนาวุธมูซูดันซึ่งมีพิสัยเดินทางระหว่าง 2,500-4,000 กิโลเมตร ออกมายิงทดสอบอีกครั้งเมื่อวันเสาร์ (16 ต.ค.) และแม้ว่าการทดสอบจะล้มเหลว เนื่องจากจรวดได้ระเบิดกลางอากาศหลังพุ่งออกจากฐานยิงได้ไม่นาน แต่ก็ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งยูเอ็นซึ่งห้ามมิให้เกาหลีเหนือใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธทุกรูปแบบ

สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น รวมถึงจีนซึ่งเป็นมหามิตรหนึ่งเดียวของเกาหลีเหนือ ได้มีมติเอกฉันท์ประณามการทดสอบขีปนาวุธครั้งนี้ “ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง” และถือว่าเกาหลีเหนือกำลังละเมิดพันธกรณีที่มีต่อนานาชาติ “อย่างร้ายแรง” ด้วย

สมาชิกคณะมนตรียังเห็นพ้องให้ “จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และใช้มาตรการตอบโต้อย่างมีนัยสำคัญต่อไป”

ขีปนาวุธมูซูดันถูกนำมาอวดโฉมเป็นครั้งแรกในพิธีสวนสนามของกองทัพโสมแดงที่กรุงเปียงยาง เมื่อเดือน ต.ค.ปี 2010

ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ขีปนาวุธรุ่นนี้สามารถโจมตีเป้าหมายในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้ทุกแห่ง และอาจเดินทางไปได้ไกลจนถึงฐานทัพสหรัฐฯ บนเกาะกวม

กองทัพโสมแดงได้นำขีปนาวุธมูซูดันออกมายิงทดสอบแล้วถึง 7 ครั้งในปีนี้ แต่เพิ่งจะ “สำเร็จ” ตามเป้าหมายเพียงครั้งเดียวคือในเดือน มิ.ย. ซึ่งจรวดสามารถเดินทางไปไกลถึง 400 กิโลเมตร ก่อนจะตกลงสู่ทะเลญี่ปุ่น

ผู้นำคิม จองอึน ยกย่องความสำเร็จดังกล่าวว่าเป็น “ข้อพิสูจน์” ว่าโสมแดงมีศักยภาพพอที่จะโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ “ทั่วยุทธบริเวณในแปซิฟิก”

แม้จะประสบความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง แต่ จอห์น สกิลลิง วิศวกรการบินและอวกาศผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขับเคลื่อนจรวดเตือนว่า ขีปนาวุธมูซูดันถูกพัฒนาไปถึงขั้นที่อาจนำมาใช้งานจริงได้ในอนาคตอันใกล้

สกิลลิงชี้ว่า การที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบจรวดมูซูดันติดๆ กันเช่นนี้ แม้จะยิ่งเสี่ยงต่อความล้มเหลว แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้พวกเขาได้บทเรียนจากการทดสอบแต่ละครั้งเพื่อนำไปแก้ไขจุดบกพร่อง

“ถ้าพวกเขายังเดินหน้าทดสอบในอัตราเร็วเช่นนี้ ขีปนาวุธพิสัยกลางมูซูดันน่าจะพร้อมใช้งานจริงได้ภายในปีหน้า เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้มาก” สกิลลิง เขียนในบทความที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ 38 North ของสถาบันสหรัฐฯ-เกาหลี มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์

การทดสอบครั้งล่าสุดมีขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ และจีนยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างไรเพื่อตอบโต้การทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 5 เมื่อเดือน ก.ย.

ยูเอ็นคว่ำบาตรเกาหลีเหนือมาแล้วถึง 5 ครั้ง ตั้งแต่เปียงยางเริ่มทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อปี 2006

การทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ปีนี้ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นตัดสินใจใช้บทลงโทษที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี โดยมุ่งปิดกั้นการค้าแร่ธาตุและธุรกรรมการเงินของโสมแดง

กำลังโหลดความคิดเห็น