xs
xsm
sm
md
lg

“รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์” ปีนี้เป็นของ 2 นักวิชาการศึกษาค้นคว้าเรื่องการกำหนดค่าจ้างผลตอบแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>สมาชิกของคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ แถลงข่าวในวันจันทร์ (10 ต.ค.) ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ว่าผู้ชนะรางวัลประจำปีนี้ คือ โอลิเวอร์ ฮาร์ต และ เบงต์ โฮล์มสตรอม </i>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - สองนักวิชาการซึ่งทำงานอยู่ในสหรัฐฯ ได้แก่ โอลิเวอร์ ฮาร์ต ที่เกิดในอังกฤษ และ เบงต์ โฮลม์สตรอม ผู้ถือกำเนิดในฟินแลนด์ เป็นผู้ชนะได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ คณะกรรมการพิจารณารางวัลประกาศในวันจันทร์ (10 ต.ค.) โดยระบุว่าผลงานวิจัยบุกเบิกว่าด้วยทฤษฎีการทำข้อตกลง (contract theory) ของพวกเขาได้ช่วยแก้ไขคลี่คลายคำถามในทางปฏิบัติต่างๆ จำนวนมาก ตั้งแต่เรื่องที่ว่าควรใช้วิธีไหนในการให้ผลตอบแทนแก่พวกผู้บริหาร ไปจนถึงปัญหาที่ว่าควรให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงเรียนและเรือนจำหรือไม่

ราชบัณฑิตยสถานทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ซึ่งเป็นผู้ประกาศมอบรางวัลมูลค่า 8 ล้านโครนสวีเดน (ราว 32.4 ล้านบาท) บอกว่า ผลงานการวิจัยค้นคว้าของพวกเขาว่าด้วยทฤษฎีการทำข้อตกลง ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ จำนวนมาก เป็นต้นว่า ธรรมาภิบาล, ระเบียบกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย, และกระทั่งรัฐธรรมนูญทางการเมือง

“ทฤษฎีนี้มีความสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อจริงๆ ไม่เพียงสำหรับเศรษฐศาสตร์เท่านั้น หากแต่สำหรับสังคมศาสตร์สาขาอื่นๆ อีกด้วย” แพร์ สตรอมเบิร์ก สมาชิกผู้หนึ่งในการพิจารณามอบรางวัลนี้ และศาสตราจารย์ของสถาบันเศรษฐศาสตร์สต็อกโฮล์ม กล่าวในการแถลงข่าว

ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีการทำข้อตกลง สามารถนำมาใช้พิจารณาว่าควรจ่ายผลตอบแทนให้แก่พวกผู้จัดการในรูปของเงินโบนัสหรือในรูปของการให้ออปชันหุ้น, ควรจ่ายผลตอบแทนแก่ครูอาจารย์หรือบุคลากรด้านการรักษาสุขภาพแบบให้ค่าจ้างอัตราคงที่ดี หรือใช้หลักเกณฑ์จ่ายโดยอิงตามผลงานดีกว่า

ทางด้าน พอล ครุกแมน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์นี้เมื่อปี 2008 ได้แสดงการยกย่องสรรเสริญการมอบรางวัลนี้ให้แก่บุคคลทั้งสอง โดยทวีตว่า “ฮาร์ตกับโฮล์มสตรอมสมควรที่จะได้รับรางวัลนี้อย่างชัดเจน จนกระทั่งความคิดแรกที่เกิดขึ้นของผมก็คือ 'ไม่ใช่พวกเขาได้ไปแล้วหรือ?'”
<i>โอลิเวอร์ ฮาร์ต ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อ่านอีเมลแสดงความยินดีที่ส่งมาถึงเขา ที่บ้านพักในเมืองเล็กซิงตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันจันทร์ (10 ต.ค.) ภายหลังมีประกาศว่าเขาเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ </i>
<i>เบงต์ โฮล์มสตรอม ศาสตราจารย์แห่งเอ็มไอที พูดกับสื่อมวลชนที่สถาบันเอ็มไอที เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อวันจันทร์ (10 ต.ค.) หลังจากมีประกาศว่าเขาได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ร่วมกับ โอลิเวอร์ ฮาร์ต </i>
ฮาร์ตซึ่งปัจจุบันอายุ 68 ปี เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ส่วนโฮล์มสตรอมที่อยู่ในวัย 67 ปี เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที)

คำประกาศมอบรางวัลของราชบัณฑิตสถานทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดนบอกว่า ผลงานของฮาร์ตส่วนหนึ่งโฟกัสไปที่การศึกษาทำความเข้าใจว่า บริษัทไหนควรควบรวมกัน และใช้ส่วนผสมทางการเงินอย่างไรจึงจะเป็นผลดีที่สุด และเมื่อใดพวกสถาบันอย่างเช่นโรงเรียน, เรือนจำ และโรงพยาบาล จึงควรให้เอกชนเป็นเจ้าของ และเมื่อใดควรให้ภาครัฐเป็นเจ้าของ

เขาโต้แย้งว่า การทำให้บริการหลายๆ อย่างกลายเป็นของภาคเอกชน เป็นต้นว่า เรือนจำของภาคเอกชนในสหรัฐฯ นั้น ปกติแล้วมักมีแรงจูงใจสูงเกินไปในเรื่องการลดค่าใช้จ่าย

การทำข้อตกลงกัน “เป็นเพียงพื้นฐานสำหรับแนวความคิดทั้งหมดในเรื่องที่ว่าการแลกเปลี่ยนกันคือการต่างตอบแทนกัน และในธุรกรรมหนึ่งๆ นั้นจะมีกันอยู่ 2 ฝ่าย” ฮาร์ตชี้

ในส่วนของโฮล์มสตรอม ศึกษาเรื่องการจัดทำข้อตกลงว่าจ้างสำหรับคนงานพนักงาน ตั้งแต่ครูอาจารย์ไปจนถึงผู้บริหารบริษัท เขาสรุปว่า “ในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง การจ่ายค่าตอบแทนควร … ที่จะค่อนข้างอิงอยู่กับค่าจ้างคงที่ ขณะที่ในสภาพแวดล้อมซึ่งมั่นคงมากกว่า มันควรที่จะอิงอยู่กับมาตรวัดผลงาน”

เขายังเคยโต้แย้งว่า ค่าตอบแทนที่ให้แก่ครูอาจารย์นั้น ไม่ควรที่จะขึ้นอยู่กับคะแนนสอบของพวกนักเรียนของเขาเท่านั้น แต่ควรต้องกำหนดขึ้นมาในลักษณะที่ยังจะให้รางวัลสำหรับการสอนทักษะซึ่งวัดได้ยากยิ่งขึ้นอีกด้วย เป็นต้นว่าการสอนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์, การสอนให้สามารถคิดอย่างอิสระ

กำลังโหลดความคิดเห็น