เอเอฟพี - แอชตัน คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ออกมาประณามคำพูดที่ “ร้ายแรง” ของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ซึ่งเปรียบเทียบสงครามยาเสพติดในฟิลิปปินส์ว่าเหมือนกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
บอสใหญ่เพนตากอนได้เดินทางไปร่วมประชุมซัมมิตความมั่นคงกับบรรดารัฐมนตรีจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มลรัฐฮาวาย เพื่อยืนยันว่านโยบาย “ปรับสมดุลสู่เอเชีย” (rebalance) ของสหรัฐฯ จะยังได้รับการสานต่อโดยรัฐบาลอเมริกันชุดต่อไป
ดูเตอร์เต ชนะศึกเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อเดือน พ.ค. ด้วยคำมั่นสัญญาที่ว่าจะเข่นฆ่าอาชญากรเป็นแสนๆ คน และทำให้แดนตากาล็อกปลอดจากยาเสพติดให้ได้ภายใน 6 เดือน
ระหว่างแถลงผ่านสื่อโทรทัศน์เมื่อวานนี้ (30) ผู้นำขาโหดได้เปรียบเปรยมาตรการกวาดล้างยาเสพติดของตนว่าไม่แตกต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยรัฐบาลนาซี
“ฮิตเลอร์ ฆ่าคนยิว 3 ล้าน เวลานี้ก็มีพวกติดยา 3 ล้านคน (ในฟิลิปปินส์) ผมพร้อมจะฆ่าพวกเขาทิ้งให้หมด” ดูเตอร์เต ให้สัมภาษณ์ที่เมืองดาเวา ซึ่งเขาเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีมานานกว่า 20 ปี
“อย่างน้อยถ้าเยอรมนีมีฮิตเลอร์ ฟิลิปปินส์ก็จะมี...” ผู้นำขาโหดชี้มือไปที่ตัวเอง ก่อนจะพูดต่อว่า “แต่คุณก็รู้ ผมต้องการให้เหยื่อของผมเป็นพวกอาชญากรทั้งหมด เพื่อขจัดปัญหาออกไปจากประเทศนี้ และทำให้คนรุ่นหลังพ้นจากหายนะ”
คาร์เตอร์ ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมไม่ได้มีการเอ่ยถึงถ้อยแถลงของ ดูเตอร์เต
“แต่ความเห็นส่วนตัวของผมนะ ผมว่าคำพูดเช่นนี้ถือเป็นเรื่องร้ายแรง” เขากล่าว
รัฐบาลเยอรมนีได้เรียกเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำกรุงเบอร์ลินเข้าพบทันทีเมื่อวานนี้ (30) และแจ้งให้ฟิลิปปินส์ทราบว่า ความเห็นของประธานาธิบดีดูเตอร์เต ที่เชื่อมโยงสงครามอาชญากรรมนองเลือดของเขากับความพยายามกำจัดชาวยิวของฮิตเลอร์ เป็น “สิ่งที่ยอมรับไม่ได้”
โรนัลด์ เลาเดอร์ ประธานสภายิวโลก ก็ได้ประณามความเห็นของ ดูเตอร์เต ว่า “น่ารังเกียจ” และเรียกร้องคำขอโทษจากปากของเขา
“สิ่งที่ประธานาธิบดีดูเตอร์เตพูดไม่ใช่แค่ขาดมนุษยธรรมอย่างแรงกล้า แต่มันยังแสดงให้เห็นถึงการขาดความเคารพต่อชีวิตมนุษย์ด้วย”
ดูเตอร์เต ประกาศกร้าวในสัปดาห์นี้ว่าฟิลิปปินส์จะไม่ซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯ อีกต่อไป ซึ่งนับเป็นสัญญาณร้ายของความเป็นพันธมิตรทางทหารที่มีมานานกว่า 60 ปี
การพบปะ “อย่างไม่เป็นทางการ” ระหว่าง คาร์เตอร์ กับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่เกาะโออาฮู (Oahu) ในรัฐฮาวายนั้นพุ่งเป้าไปที่ประเด็นปัญหาเรื้อรังในภูมิภาค รวมถึงเรื่องที่จีนพยายามขยายอิทธิพลทางกายภาพในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และยังเข้าไปถมทะเลขยายเกาะปะการังขนาดเล็กๆ ให้กลายเป็นเกาะใหญ่ที่สามารถรองรับอาวุธยุทโธปกรณ์ได้
คาร์เตอร์ ย้ำว่ากองทัพสหรัฐฯ ไม่ให้น้ำหนักกับการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน และพร้อมที่จะออกปฏิบัติภารกิจในน่านฟ้าและน่านน้ำรอบๆ หมู่เกาะในทะเลจีนใต้ตามปกติ
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มีการหารือ ได้แก่ ภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นที่เป็นเครือข่ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รวมไปถึงพวกนักรบญิฮาดท้องถิ่นที่ผ่านการฝึกปรือในอิรักและซีเรีย และพร้อมจะกลับมาก่อเหตุรุนแรงในบ้านเกิด