xs
xsm
sm
md
lg

คองเกรสลงมติท่วมท้นหักล้างอำนาจวีโต้โอบามา ผ่าน กม.เปิดทางครอบครัวเหยื่อ 9/11 ฟ้อง รบ.ซาอุฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - สภาคองเกรสสหรัฐฯ ในวันพุธ (28 ก.ย.) ลงมติอย่างท่วมท้นหักล้างอำนาจวีโต้ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ต่อร่างกฎหมายที่อนุญาตให้เหยื่อโศกนาฏกรรม 11 กันยายน ฟ้องร้องซาอุดีอาระเบีย นับเป็นครั้งแรกที่โอบามาถูกลบล้างอำนาจวีโต้ตั้งแต่ที่เขาก้าวสู่ทำเนียบขาวในปี 2009

เบื้องต้นวุฒิสภาลงมติ 97-1 เสียง หักล้างอำนาจวีโต้ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากนั้นให้หลังไม่นานสภาผู้แทนราษฎรก็ชูมือคว่ำอำนาจวีโต้ด้วยคะแนน 348-77 เสียง

มติดังกล่าวนับเป็นความเคลื่อนไหวร่วมกันระหว่างสองพรรคที่พบเห็นไม่บ่อยนัก และสร้างความผิดหวังต่อโอบามาที่พยายามล็อบบี้อย่างหนักต่อร่างกฎหมายเอาผิดต่อผู้สนับสนุนลัทธิก่อการร้าย (Justice Against Sponsor of Terrorism Act)

ในช่วงไม่กี่เดือนสุดท้ายของวาระดำรงตำแหน่งของโอบามา ผลโหวตคราวนี้แสดงให้เห็นว่าทำเนียบขาวอ่อนแอลงอย่างมาก หลังจากก่อนหน้านี้โอบามาเคยใช้สิทธิ์วีโต้ 12 ครั้ง และไม่เคยมีสักครั้งเลยที่ถูกลบล้าง

ส่วนจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเขาจากรีพับลิกัน เคยใช้สิทธิ์วีโต้ 12 ครั้ง ซึ่งมีอยู่ 4 หนที่ถูกลบล้าง ขณะที่ประธานาธิบดีคนสุดท้ายที่ไม่เคยถูกลบล้างอำนาจวีโต้เลยก็คือ ลินดอน จอห์นสัน อดีตวุฒิสภาและสมาชิกรัฐสภาจากพรรคเดโมแครต

ทำเนียบขาวระบุโต้แย้งว่า ร่างกฎหมาย 9/11 จะกัดเซาะหลักการคุ้มกันอำนาจอธิปไตย เปิดทางให้สหรัฐฯ ถูกฟ้องร้องในอนาคต

ในหนังสือที่ส่งถึงแแกนนำวุฒิสภาจากทั้งรีพับลิกันและเดโมแครต โอบามาระบุว่า “ผมเชื่อว่าการประกาศใช้ JASTA เป็นกฎหมายจะก่ออันตรายแก่ผลประโยชน์แห่งชาติสหรัฐฯ” พร้อมเตือนถึงผลกระทบหายนะต่อเพนตากอน เจ้าหน้าที่ นักการทูต และหน่วยข่าวกรองอเมริกา “มันจะไม่ปกป้องอเมริกันชนจากการโจมตีก่อการร้าย หรือปรับปรุงแนวทางตอบสนองที่มีประสิทธิผลของเราต่อเหตุโจมตีเหล่านั้น”

“สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาหลักการของเอกสิทธิ์คุ้มกันเพื่อปกป้องคู่ความต่างประเทศและศาลต่างชาติ จากการคาดเดาปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายของเราและปฏิบัติการอื่นๆ ที่เราใช้ในทุกๆ วัน” โอบามาระบุ

ครอบครัวเหยื่อ 9/11 รณรงค์เรียกร้องกฎหมายฉบับนี้ ด้วยเชื่อว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีที่คร่าชีวิตผู้คนเกือบ 3,000 ราย

ในบรรดามือจี้เครื่องบิน 19 คน มีอยู่ 15 คนที่เป็นชาวซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่ารัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้อง และรัฐบาลริยาดยืนกรานปฏิเสธว่าไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับพวกก่อการ แม้เอกสารอ้างอิงจะแสดงให้เห็นว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ มีข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับความพัวพันระหว่างรัฐบาลซาอุดีอาระเบียกับมือโจมตี

เบื้องหลังฉาก ริยาดพยายามล็อบบี้อย่างดุุเดือดให้คว่ำร่างกฎหมายนี้ ขณะที่มีรายงานว่าเจ้าชายซาอุพระองค์หนึ่งขู่ถอนสินทรัพย์หลายพันล้านดอลลาร์จากสหรัฐฯ หากร่างนี้ผ่านเป็นกฎหมาย อย่างไรก็ตามตอนนี้เจ้าหน้าที่ซาอุฯ ได้เว้นระยะห่างจากคำกล่าวอ้างนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น