เอเจนซีส์ – การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาถึงไคลแม็กซ์สำคัญคือการดีเบตครั้งแรกจากทั้งหมด 3 ครั้งระหว่างฮิลลารี คลินตัน นักการเมืองเจนสังเวียนจากเดโมแครต กับโดนัลด์ ทรัมป์ นักธุรกิจและพิธีกรเรียลลิตี้โชว์ปากร้ายจากรีพับลิกัน ขณะที่โพลล์จากทั่วประเทศชี้ว่า คะแนนนิยมของคลินตันที่เคยนำอยู่เล็กน้อย บัดนี้กลายมาเป็นคู่คี่กับทรัมป์แล้ว นอกจากนั้นผู้ตอบแบบสอบถามยังมองแคนดิเดตทั้งสองคนติดลบพอๆ กัน
การโต้วาทีความยาว 90 นาทีเต็มที่คาดว่า จะมีอเมริกันชนถึง 90 ล้านคนติดตามชมตั้งแต่เริ่มเปิดม่านเวลา 21.00 น. วันจันทร์ (26) หรือ 8.00 น. ของวันอังคารตามเวลาไทยนั้น จะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยฮอฟสตราในนิวยอร์ก โดยคลินตัน วัย 68 ปี จะขึ้นเวทีพร้อมดีกรีอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศที่ทำงานการเมืองมาเกือบ 40 ปี พร้อมความเชี่ยวชาญในการจัดการปัญหาต่างๆ อย่างช่ำชอง ขณะที่ทรัมป์ วัย 70 ปี มาพร้อมพฤติกรรมที่คาดเดายาก และท่าทีผ่อนคลายกับแสงสปอตไลต์มากกว่าการตอบคำถาม
การดีเบตครั้งนี้มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากโพลล์ของวอชิงตัน โพสต์-เอบีซี นิวส์ระบุว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงที่ลงทะเบียนให้คะแนนคลินตันและทรัมป์เท่าๆ กันที่ 46% จากเมื่อเดือนที่แล้วที่อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งยังนำอยู่เล็กน้อย
นักวิเคราะห์หลายคนลงความเห็นว่า แม้การโต้วาทีไม่ได้การันตีชัยชนะ แต่แค่ประโยคเดียวที่พลาดพลั้งก็อาจสร้างความเสียหายใหญ่โตให้แคนดิเดตได้
วันอาทิตย์ (25) ทีมหาเสียงของคลินตันที่หวังว่า แคนดิเดตของตนจะได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเมืองลุงแซม แสดงความกังวลว่า เลสเตอร์ โฮลต์ ผู้ดำเนินรายการจากเอ็นบีซี จะป้อนคำถามง่ายๆ กับทรัมป์ และซักไซ้ประเด็นที่ท้าทายกว่ากับคลินตัน รวมทั้งหวั่นว่า โฮลต์จะปล่อยผ่าน หากทรัมป์โกหกหน้าตาเฉยบนเวที
สงครามจิตวิทยายังถูกนำมาใช้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเวที เมื่อทรัมป์ประกาศว่า จะเชิญเจนนิเฟอร์ ฟลาวเวอร์ส กิ๊กเก่าของบิลล์ คลินตัน ไปนั่งดูการโต้วาทีในที่นั่งแถวหน้า ซึ่งเคลลี่แอนน์ คอนเวย์ ผู้จัดการแคมเปญของทรัมป์ บอกว่า เป็นวิธีที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์จากนิวยอร์กสามารถ “เข้าไปนั่งในใจคลินตัน” ก่อนสำทับว่า ทีมหาเสียงไม่คิดจะเชิญฟลาวเวอร์ไปฟังการโต้วาทีจริง
ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 9% บอกว่า ยังไม่รู้จะเลือกใคร หลังการหาเสียงยาวนานที่แคนดิเดตทั้งคู่สาดโคลนใส่กันมากกว่าป่าวประกาศนโยบายบริหารประเทศ
ผลสำรวจจากรอยเตอร์/อิปซอสส์ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์พบว่า ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 50% คิดว่า การดีเบตจะช่วยในการตัดสินใจในวันเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายน แต่ 39% บอกว่า ไม่ได้ช่วยอะไร และ 11% ไม่รู้ว่า การดีเบตจะมีผลอย่างไรกับตัวเอง
.
.
.
ก่อนขึ้นเวที คลินตันหมกตัวอยู่กับผู้ช่วยและเอกสารกองโตที่บ้านพักในนิวยอร์ก รวมทั้งซ้อมโต้วาทีกับผู้ช่วยที่สมมติตัวเป็นทรัมป์ โดยพุ่งความสนใจที่การพยายามทำให้ทรัมป์ตบะแตก เพื่อให้คนดูเห็นว่า นักธุรกิจพันล้านผู้นี้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้และขาดความยับยั้งชั่งใจซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่จำเป็นของผู้นำ
เนื่องจากหากทรัมป์บันดาลโทสะและตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรงแบบที่ทำมาตลอด เขาจะสูญเสียคะแนนจากกลุ่มผู้หญิงที่เป็นสัดส่วนถึง 53% ของผู้ออกไปใช้สิทธิ์ทั้งหมด จากเดิมที่ทรัมป์ไม่เป็นที่โปรดปรานของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกลุ่มนี้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ตัวทรัมป์เองบอกว่า เตรียมพร้อมเป็นอย่างดี และส่วนหนึ่งในการเตรียมการคือการเดินสายหาเสียงต่อ ซึ่งรวมถึงเมื่อคืนวันเสาร์ (24) ที่เวอร์จิเนีย
ขณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงที่ว่า คลินตันลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 2 แล้ว จึงถือว่า เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดีเบตและมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ดังนั้น งานนี้เธอจึงอาจเสียมากกว่าได้
แดน ชเนอร์ อดีตนักกลยุทธ์ของรีพับลิกันที่ปัจจุบันเป็นนักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย แจงว่า การที่คนคาดหวังในตัวทรัมป์น้อย ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องโชว์ความฉลาดปราดเปรื่องบนเวที แต่แค่ไม่คุยเขื่องมากไปก็สอบผ่านแล้ว
ทั้งนี้ ชาวอเมริกัน 88% เชื่อว่า คลินตันฉลาด แต่มีถึง 66% ที่คิดว่า เธอไม่ซื่อสัตย์ ภาพลักษณ์ของผู้สมัครจากเดโมแครตผู้นี้ยังถูกย่ำยีอย่างหนักจากการที่ทรัมป์ระดมโจมตีเรื่องอีเมลฉาว มูลนิธิคลินตันที่รับบริจาคแลกกับการให้สิทธิพิเศษบางอย่าง และการที่เธอมีตื้นลึกหนาบางกับวอลล์สตรีท
ผู้ตอบแบบสอบถาม 57% มองคลินตันติดลบว่า ใช้สมองมากกว่าอารมณ์ ห่างเหินหรือเย็นชา แต่ขณะเดียวกัน ก็มองทรัมป์ติดลบในสัดส่วนพอๆ กัน.
.
.