เอเอฟพี - สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ (Moody’s) ประกาศหั่นเรตติ้งตุรกี 1 ขั้นลงสู่ Ba1 ซึ่งเป็นระดับ “ขยะ” (junk) เมื่อวันศุกร์ (23 ก.ย.) โดยระบุว่าเหตุวุ่นวายทางการเมืองส่งผลให้ภาคการคลังของอังการาอ่อนแอลง
มูดีส์ ระบุด้วยว่า คำสั่งกวาดล้างที่ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ใช้ตอบสนองความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อเดือน ก.ค. ได้บั่นทอนการปฏิรูปและหลักนิติธรรมในตุรกี
“บรรยากาศทางการเงินและภูมิรัฐศาสตร์ในตุรกียังอยู่ในขั้นเปราะบาง” มูดีส์ ระบุ
“ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกมีสูงขึ้น ทั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ยากจะคาดเดาในช่วงนี้ และมุมมองของนักลงทุนที่ผันแปรตลอดเวลา”
การที่รัสเซียสั่งห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางมายังตุรกีเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงเหตุโจมตีที่เกิดบ่อยขึ้นในช่วงนี้ ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของจีดีพีตุรกีลดลง
ขณะเดียวกัน หนี้ภายนอกประเทศ (external debt) ทั้งของรัฐบาล บริษัทเอกชน และภาคธนาคารก็เพิ่มสูงขึ้น โดยมียอดหนี้ที่ต้องชำระในปีนี้สูงถึง 156,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“หนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาลอาจยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งค่อนข้างอ่อนแอและผันแปรรวดเร็วตลอดช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา” มูดีส์ ระบุ
แม้จะดูเหมือนว่ารัฐบาลตุรกีสามารถปกป้องภาคการเงินมิให้สั่นสะเทือนจากผลของความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อเดือน ก.ค.แต่ มูดีส์ เตือนว่า โอกาสที่จะเกิดวิกฤตดุลชำระหนี้ (balance of payments) ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น “เนื่องจากความจำเป็นในการชำระหนี้ต่างประเทศ ความสุ่มเสี่ยงทางการเมืองภายในประเทศ และภัยคุกคามด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่”
สถาบันจัดเรตติ้งแห่งนี้เตือนด้วยว่า “วิธีที่รัฐบาลตุรกีใช้ตอบสนองการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลว ยิ่งทำให้หลายฝ่ายรู้สึกไม่มั่นใจในทิศทางและประสิทธิภาพของนโยบายรัฐบาล รวมไปถึงหลักนิติธรรมในอนาคต”