เอเจนซีส์ / MGR online – สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศข้อเสนอด้านการลงทุนมูลค่า 44,000 ล้านยูโร (ราว 1.71 ล้านล้านบาท) สำหรับการลงทุนในทวีปแอฟริกาและภูมิภาครอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งรวมถึงตะวันออกกลาง หวังใช้การลงทุนและการพัฒนา เป็นเครื่องมือในการสกัดกั้น “การไหลบ่าสู่ยุโรป” ของเหล่าผู้อพยพ
เฟเดริกา โมเกรินี ประธานนโยบายต่างประเทศของอียู เผยต่อผู้สื่อข่าวระหว่างการเดินทางเยือนมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ โดยระบุว่า แผนการลงทุนนี้จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญไปที่การลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ในแอฟริกาและเมดิเตอร์เรเนียน และว่า นี่คือแผนการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่อียูเคยเสนอต่อภูมิภาคดังกล่าว
“การพัฒนาศักยภาพของคนหนุ่มสาวในทวีปแอฟริกาและดินแดนรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จะช่วยให้อียูสามารถต่อสู้กับปัญหาการไหลทะลักของผู้อพยพได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในอีกด้านหนึ่ง การพัฒนาคนหนุ่มสาวในภูมิภาคดังกล่าว ยังจะช่วยมิให้พวกเขาเหล่านี้ถูกดึงดูดหรือถูกครอบงำด้วยแนวคิดสุดโต่งต่างๆ ที่ฝักใฝ่การใช้ความรุนแรง” โมเกรินี กล่าว
รายงานข่าวระบุว่า สหภาพยุโรปจะให้การสนับสนุนต่อภาคเอกชน ในการเข้าไปลงทุนในดินแดนที่มีความเปราะบาง และสุ่มเสี่ยงจะเป็นต้นตอของคลื่นผู้อพยพทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างงาน และสร้างโอกาสใหม่ๆทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในประเทศกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ และเป็น “ทางเลือก”ให้ประชาชนในดินแดนที่เคยคุกรุ่นไปด้วยปัญหาและความขัดแย้ง สามารถเลือกปักหลักอยู่ในบ้านเกิดของตน แทนการอพยพสู่ยุโรป
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของอียู ในการประกาศแผนการลงทุนในภูมิภาคแอฟริกาและเมดิเตอร์เรเนียน มีขึ้นไม่นานหลังจากที่นายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ออกมาประกาศกร้าวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะไม่ขอทบทวนนโยบาย “เปิดประตู” รับผู้อพยพเข้าสู่ยุโรป ถึงแม้กระแสต่อต้านผู้อพยพในยุโรปจะยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อไม่นานมานี้ สถานีโทรทัศน์ “NDR” ของเยอรมนีนำเสนอรายงานพิเศษ ซึ่งระบุเวลานี้มีผู้อพยพจำนวนมากกว่า 300,000 รายที่ประกอบอาชีพแบบผิดกฎหมายในฐานะ “แรงงานเถื่อน” อยู่ในเมืองเบียร์
รายงานดังกล่าวระบุว่า ราว 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้อพยพจำนวน 1.1 ล้านคนที่ไหลทะลักเข้าสู่แผ่นดินเยอรมนีตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วได้กลายสภาพเป็นแรงงานเถื่อน ที่ลักลอบประกอบอาชีพแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเยอรมนีในเวลานี้
อย่างไรก็ดี รายงานล่าสุดที่มีการนำเสนอผ่านสื่อดังอย่าง NDR ระบุว่า ตัวเลขผู้อพยพที่ลักลอบประกอบอาชีพในเยอรมนีที่คาดว่าจะมีจำนวนสูงถึง 300,000 รายนั้นเป็นตัวเลขที่มาจากการสืบสวนภายใน ของเหล่าเจ้าหน้าที่ด้านสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานของเยอรมนี ตลอดจนการให้ข้อมูลของบรรดานักเคลื่อนไหวและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตาม ศูนย์ผู้อพยพต่างๆ รวมถึงข้อมูลที่มาจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานในนครฮัมบวร์กและกรุงเบอร์ลิน หาใช่ข้อมูลที่มาจากการสืบสวนของรัฐบาลเยอรมนีโดยตรงแต่อย่างใด
ขณะที่แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านแรงงานในแคว้นโลเวอร์ซักโซนี และกรุงเบอร์ลิน ออกมาให้ความเห็นว่า ในความเป็นจริงแล้ว ตัวเลขผู้อพยพที่ลักลอบทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั่วเยอรมนีในขณะนี้ อาจมีจำนวนสูงเกินกว่า 500,000 คน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้อพยพ 1.1 ล้านคนที่เดินทางเข้าสู่เยอรมนีในปี 2015
ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยผลการศึกษา เกี่ยวกับผู้อพยพในเยอรมนีอีกชิ้นหนึ่งเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยสถาบันวิจัย “IAB” ซึ่งมีฐานอยู่ในนครเนิร์นแบร์ก (นูเรมเบิร์ก) ของเยอรมนี ซึ่งระบุจำนวนของผู้อพยพที่ไหลทะลักเข้าสู่เยอรมนีเฉพาะในปี 2016 นี้ อาจมีสูงถึง 400,000 ราย
แฮร์เบิร์ต บรูคเกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาดแรงงาน ของทางสถาบัน IAB เปิดเผยผ่านคำแถลง โดยระบุว่า จำนวนของผู้อพยพรายใหม่ที่ไหลทะลักเข้าสู่เยอรมนีอาจสูงถึง 400,000 ราย ก่อนสิ้นปี 2016 นี้ หากภาวะแวดล้อมทางการเมืองในเยอรมนี ซึ่งรวมถึงนโยบาย “เปิดประตู” รับผู้อพยพเข้าประเทศของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิลยังคงดำเนินต่อไป โดยที่ในจำนวนนี้คาดว่าจะมีผู้อพยพราว 160,000 คนที่ตบเท้าเข้าสู่ “ตลาดแรงงาน” แบบถูกกฎหมายในเยอรมนีภายในสิ้นปีนี้
ผลการศึกษาล่าสุดของสถาบันวิจัย IAB ยังระบุด้วยว่า บรรดาผู้อพยพที่ไหลบ่าเข้าสู่เยอรมนีนั้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือที่ขาดทักษะ ที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพในเยอรมนี และถือเป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่งสำหรับรัฐบาลเยอรมนี และอีกหลายประเทศในยุโรป ในการจัดการกับการไหลทะลักเข้าประเทศของบรรดาแรงงานไร้ฝีมือเหล่านี้
ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารชายแดนของสหภาพยุโรป (ฟรอนเท็กซ์) เปิดเผยว่า ในปี 2015 มีผู้อพยพแบบผิดกฎหมายไหลทะลักเข้าสู่ประเทศสมาชิกอียู มากกว่า 1.83 ล้านราย โดยที่ในจำนวนนี้มีมากกว่า 1.1 ล้านคนที่มุ่งหน้าสู่เยอรมนี ขณะที่ตัวเลขผู้อพยพผิดกฎหมายที่เดินทางเข้าสู่อาณาเขตของอียูเมื่อปี 2014 นั้นมีจำนวนเพียง 283,000 รายเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้วมีการเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นในเยอรมนี ซึ่งพบว่าประชากรเมืองเบียร์ส่วนใหญ่ไม่สนับสนุน และไม่เชื่อน้ำยาว่านายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก “อังเกลา แมร์เคิล” จะประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบาย “เปิดประตู” รับผู้อพยพเข้าประเทศ
ผลสำรวจดังกล่าวโดยสำนักวิจัย “YouGov” ที่มีการเผยแพร่ในวันที่ 30 ก.ค. พบข้อมูลที่ระบุ กลุ่มตัวอย่างชาวเยอรมันร้อยละ 66 จากจำนวนผู้เข้าร่วมการสำรวจทั้งหมด 1,017 คน ไม่สนับสนุนและไม่เชื่อมั่นในนโยบาย “เปิดประตูรับผู้อพยพเข้าประเทศ” ของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ว่า จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีและเหมาะสมสำหรับสังคมและเศรษฐกิจของเยอรมนี
ผลสำรวจดังกล่าวของ YouGov ที่จัดทำขึ้น โดยการรวบรวมความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างทั่วเมืองเบียร์ในระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า มีชาวเยอรมันในขณะนี้เพียงร้อยละ 27 เท่านั้นที่สนับสนุนนโยบายนี้ของนางแมร์เคิล
ผลสำรวจที่ออกมาซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างชาวเยอรมันสูงถึงร้อยละ 66 ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรับผู้อพยพเข้าประเทศนั้น ถือเป็นผลสำรวจที่มีสัดส่วนของผู้คัดค้านนโยบายนี้ในระดับสูงสุด นับตั้งแต่ผลสำรวจที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ปีที่แล้ว ที่พบว่าในเวลานั้นมีชาวเยอรมันร้อยละ 51 ไม่ปลื้มกับนโยบาย “ชักปัญหาเข้าบ้าน” ของนายกรัฐมนตรีหญิงเมืองเบียร์
ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดถูกเผยแพร่ออกมา ภายหลังจากที่นางแมร์เคิลเพิ่งกล่าวสุนทรพจน์ยืนยัน จะไม่ขอทบทวนนโยบายเปิด ประตูรับผู้อพยพที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจากซีเรีย และอัฟกานิสถาน เข้าประเทศ พร้อมกับการยืนยันว่าชีวิตและทรัพย์สินของคนเยอรมันจะยังคงปลอดภัย ถึงแม้จะมีผู้อพยพจำนวนมากจากต่างวัฒนธรรมและต่างศาสนาเข้ามาอาศัยในประเทศ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์)ระบุว่าจำนวนผู้อพยพโดยเฉพาะจากซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถานที่เดินทาง เข้าสู่แผ่นดินยุโรปไปแล้วเมื่อนับถึงเดือนมีนาคมปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 4,812,993 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 600,000 รายได้ลงทะเบียนขอลี้ภัยในเยอรมนีอย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อนับถึงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา