เอเอฟพี - พรรคการเมืองของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีประสบความพ่ายแพ้ครั้งประวัติศาสตร์ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันอาทิตย์ (18 ก.ย.) ขณะที่พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ซึ่งชูแนวทางประชานิยมขวาจัดได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้นจากชาวเมืองเบียร์ที่ต่อต้านนโยบายเปิดรับผู้อพยพ
สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นคาดการณ์ว่า พรรค AfD จะกวาดคะแนนเสียงไปได้ราวๆ 14% จากชาวกรุงเบอร์ลิน ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงที่เปิดกว้างและมีความเป็นพหุวัฒนธรรมสูง
สัดส่วนคะแนนที่เทไปให้แก่พรรค AfD ในครั้งนี้ โดยเฉพาะจากประชาชนในย่านที่เคยเป็นเบอร์ลินตะวันออก หมายความว่าพรรคได้ที่นั่งส.ส.ฝ่ายค้านไปแล้วถึง 10 รัฐจากทั้งหมด 16 รัฐในเยอรมนี ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในอีก 1 ปีข้างหน้า
พรรค คริสเตียน เดโมแครติก ยูเนียน (CDU) ของ แมร์เคิล นั้นได้คะแนนโหวตมาเพียง 17.5% ตกต่ำที่สุดสำหรับการเลือกตั้งที่เมืองหลวงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งก่อนและหลังทลายกำแพงเบอร์ลิน ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล โซเชียล เดโมแครตส์ (SPD) ได้คะแนนสูงที่สุดราว 22%
การเลือกตั้งที่เบอร์ลินครั้งนี้ถูกครอบงำด้วยปัญหาระดับท้องถิ่นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบริการสาธารณะที่ย่ำแย่ อาคารโรงเรียนซึ่งมีสภาพเก่าโทรม รถไฟล่าช้า การขาดแคลนที่อยู่อาศัย รวมถึงวิธีจัดการกับคลื่นผู้อพยพที่ไหลทะลักเข้ามา
เยอรมนีซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่และเข้มแข็งที่สุดในสหภาพยุโรป (อียู) รับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศมากถึง 1 ล้านคนในปีที่แล้ว ซึ่งราว 70,000 คนมาลงหลักปักฐานอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ขณะที่อีกหลายพันคนยังอาศัยอยู่ตามโรงเก็บเครื่องบินของสนามบินเทมเปลฮอฟ ซึ่งสร้างขึ้นในยุคนาซี และเคยเป็นศูนย์กลางการบินของเบอร์ลินในช่วงสงครามเย็น
ไมเคิล มุลเลอร์ นายกเทศมนตรีกรุงเบอร์ลินซึ่งสังกัดพรรค SPD ได้เตือนเอาไว้ล่วงหน้าว่า หากพรรค AfD กวาดคะแนนเสียงได้มากขึ้น “จะเป็นสัญญาณให้ทั่วโลกเห็นว่า ลัทธิขวาจัดและนาซีเยอรมนีกำลังเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง”
ผลเลือกตั้งคราวนี้นับว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญสำหรับ AfD ซึ่งมีนโยบายต่อต้านชาวต่างชาติ ไม่ต่างจากพรรค เนชันแนล ฟรอนท์ ในฝรั่งเศส หรือพรรคประชานิยมขวาจัดในออสเตรียและเนเธอร์แลนด์
“จากศูนย์มาสู่ตัวเลข 2 หลัก นี่คือครั้งแรกสำหรับเบอร์ลิน” เกออร์ก ปาซแดร์สกี ผู้สมัครจากพรรค AfD ในกรุงเบอร์ลินประกาศอย่างฮึกเหิม พร้อมทำนายว่าปีหน้าชาวเมืองหลวงจะพร้อมใจกันคว่ำบาตรรัฐบาลผสมขวา-ซ้ายของ แมร์เคิล อย่างแน่นอน
แม้พรรค CDU จะมีจำนวน ส.ส. มากที่สุดในระดับชาติ แต่สำหรับที่กรุงเบอร์ลินยังเป็นหุ้นส่วนเสียงข้างน้อยของ SPD ซึ่งมีฐานเสียงเข้มแข็งในเมืองหลวงมานาน
ล่าสุดนายกเทศมนตรี มุลเลอร์ ได้ออกมาปฏิเสธที่จะจับขั้วกับ CDU และคาดว่าเขาอาจจะหันไปหาแนวร่วมใหม่อย่างพรรคกรีนส์ หรือพรรคซ้ายจัด Die Linke ซึ่งได้คะแนนโหวตประมาณ 15% ทั้งคู่
สมาชิกทั้ง 3 พรรคหวังว่า การจับขั้วแบบ “แดง-แดง-เขียว” เช่นนี้อาจเกิดได้ขึ้นจริงในระดับประเทศเข้าสักวันหนึ่ง
เกโร นอยเกเบาเออร์ จากมหาวิทยาลัยฟรีในกรุงเบอร์ลิน (Freie Universität Berlin) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ธุรกิจฮานเดลสบลัตต์ ว่า แมร์เคิล อาจถูกกดดันให้ต้อง “อธิบายยุทธศาสตร์ทางการเมือง” ของเธอนับจากนี้ เนื่องจากพรรค CDU ก็เพิ่งจะพ่ายให้แก่ AfD มาหมาดๆ ในการเลือกตั้งที่รัฐเมคเลนบูร์ก-ฟอร์พอมเมิร์น เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
ด้าน ไค อาร์ไซเมอร์ นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยไมน์ซ (Mainz University) ก็ทำนายว่า จะเกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่าง CDU กับพรรค คริสเตียน โซเชียล ยูเนียน (CSU) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองพรรคน้องในรัฐบาวาเรีย ทว่าทั้งสองพรรคคงยังไม่ถึงขั้นคิดเปลี่ยนตัวผู้นำสูงสุดอย่าง แมร์เคิล