รอยเตอร์ - เยอรมนีควรยอมรับความจริงที่ว่าก่อการร้ายอิสลามิสต์มาถึงแล้วและต้องตอบสนองด้วยการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยและนโยบายคนเข้าเมืองที่เข้มข้นกว่าเดิม จากคำเตือนของนายกรัฐมนตรีรัฐบาวาเรียในวันอังคาร (26 ก.ค.)
“ก่อการร้ายอิสลามิสต์มาถึงเยอรมนีแล้ว” นายฮอร์สท์ ซีโฮเฟอร์ ที่วิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนานต่อนโยบายอ้าแขนรับผู้อพยพของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าว “เราต้องการความปลอดภัยมากกว่านี้ในเยอรมนี ประชาชนกำลังขุ่นเคือง เต็มไปด้วยความกลัว ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ พวกเขาต้องการคำตอบที่น่าเชื่อถือจากพวกนักการเมือง ไม่ใช่การโต้เถียงกันและคำแก้ตัวอย่างไม่รู้จบ” นายซีโฮเฟอร์ กล่าวหลังจากประชุมเหล่าแกนนำพรรค
เหตุโจมตีหลายครั้งนับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคมในเยอรมนีคร่าชีวิตผู้คนรวม 15 ศพ ในนั้นรวมถึงผู้ก่อการ 4 ราย และบาดเจ็บหลายสิบราย ขณะที่ในบรรดาผู้ก่อเหตุนั้นมีอยู่ 2 คนที่เชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)
การที่ 2 ใน 5 ผู้ก่อเหตุเพิ่งเดินทางจากซีเรียเข้ามายังเยอรมนีเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนอีกคนมาจากปากีสถานหรือไม่ก็อัฟกานิสถาน ได้กระพือความกังวลเกี่ยวกับปัญหาคนเข้าเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หลังผู้ลี้ภัยกว่า 1 ล้านคนไหลทะลักเข้าสู่เยอรมนีเมื่อปีที่แล้ว
แน่นอนว่าประเด็นคนเข้าเมืองและความมั่นคงจะเป็นหัวข้อสำคัญของศึกเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้า ที่จะเป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (Christian Social Union - CDU) ของนางแมร์เคิล และพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (Christian Social Union in Bavaria) ของซีโฮเฟอร์ ซึ่งอาจกัดเซาะความหวังอยู่ในอำนาจต่อไปของพวกอนุรักษนิยม
โจอาชิม เฮอร์มันน์ รัฐมนตรีมหาดไทยรัฐบาวาเรีย กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่า เยอรมนีควรทบทวนกฎระเบียบต่างๆ ที่จำกัดการเนรเทศผู้ลี้ภัยด้วยในเหตุผลด้านการแพทย์ และลดขวากหนามที่จะเนรเทศผู้ลี้ภัยที่ละเมิดกฎหมาย
ชาวซีเรียวัย 27 ปีที่ระเบิดตนเองในเมืองอันสบาค ทางตอนใต้ของเยอรมนีเมื่อวันอาทิตย์ (24 ก.ค.) เคยรอดพ้นจากการถูกเนรเทศเนื่องจากเหตุผลทางการแพทย์เมื่อกว่า 1 ปีก่อน แต่เร็วๆ นี้เพิ่งมีคำสั่งเนรเทศเขาไปยังบัลแกเรีย นอกจากนี้แล้วเขายังเคยมีปัญหากับตำรวจในประเด็นยาเสพติดและความผิดอื่นๆ
เจ้าหน้าที่รัฐบาวาเรียบอกว่ารัฐของพวกเขาจะเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ แต่ก็จะผลักดันให้รัฐบาลผ่อนปรนข้อจำกัดในการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัยด้วย
โทมัส เดอ เมซิแอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมนี ระบุว่า ยังไม่มีการตัดสินใจเปลี่ยนกฎระเบียบการลี้ภัยหรืออพยพ จนกว่าการสืบสวนเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อเร็วๆ นี้จะแล้วเสร็จ
เหตุความรุนแรงหลายครั้งในเยอรมนีเกิดขึ้นตามหลังเหตุชายชาวตูนิเซียขับรถบรรทุกพุ่งชนฝูงชนในเมืองนีซ ฝรั่งเศส ในวันชาติของแดนน้ำหอม เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม คร่าชีวิตผู้คน 84 ศพ ในเหตุการณ์ที่พวกไอเอสอ้างความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันไอเอสยังอ้างอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีล่าสุดในฝรั่งเศสเมื่อวันอังคาร (26 ก.ค.) โดยคนร้ายลงมือสังหารบาทหลวงวัยชราคนหนึ่งในโบสถ์คาทอลิกทางภาคเหนือของประเทศ