เอเอฟพี - สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) มีมติปรับ “แพนด้ายักษ์” ออกจากบัญชีสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ (endangered) หลังความพยายามตลอดหลายสิบปีของรัฐบาลจีนในการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์สัตว์ประจำชาติชนิดนี้ช่วยให้ประชากรของพวกมันเพิ่มขึ้น
IUCN ได้จัดทำ “บัญชีแดง” (red list) ซึ่งรวบรวมสถานะของสัตว์และพืชชนิดต่างๆ มีระดับตั้งแต่สูญพันธุ์ (extinct) สูญพันธุ์ไปแล้วในธรรมชาติ (extinct in the wild) เสี่ยงสูญพันธุ์อย่างน่าเป็นห่วง (critically endangered) กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ (endangered) และเปราะบางต่อการสูญพันธุ์ (vulnerable) โดยในการปรับปรุงบัญชีครั้งล่าสุด แพนด้ายักษ์ได้ถูกถอดออกจากบัญชีสายพันธุ์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ลงมาอยู่ที่ระดับ “เปราะบาง”
จากการประเมินล่าสุดพบว่า ประชากรแพนดายักษ์ที่โตเต็มวัยมีอยู่ราว 1,864 ตัว และแม้จะไม่สามารถยืนยันตัวเลขที่แน่นอนได้ แต่หากนับรวมลูกหมีด้วย จะทำให้ทั่วโลกมีแพนด้ายักษ์อยู่ไม่น้อยกว่า 2,060 ตัวในปัจจุบัน
“หลักฐานจากการสำรวจในระดับชาติอย่างต่อเนื่องบ่งชี้ว่า การลดลงของประชากรแพนด้ายักษ์ในอดีตได้ถูกยับยั้ง และเวลานี้พวกมันเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” รายงานของ IUCN ระบุ
มาตรการสำคัญอย่างหนึ่งที่รัฐบาลจีนได้กระทำเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์แพนด้ายักษ์ก็คือ การเพิ่มพื้นที่ป่าไผ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติพวกมัน
นอกจากนี้ จีนยังมีโครงการ “ให้ยืม” แพนด้ายักษ์ไปจัดแสดงตามสวนสัตว์ต่างประเทศ เพื่อนำเงินรายได้มาเป็นทุนหมุนเวียนในการอนุรักษ์เจ้าสัตว์สีขาวดำขนปุกปุยชนิดนี้ต่อไป
“ต้องยอมรับว่ารัฐบาลจีนทำได้ดีทีเดียวในการอนุรักษ์ประชากรแพนด้ายักษ์” จอห์น โรบินสัน นักวานรวิทยา (primatologist) และหัวหน้าทีมอนุรักษ์จากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี
“มีแค่ไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้นที่ได้รับการปรับอันดับลงอย่างจริงจัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์” เขาแถลงในการประชุมใหญ่ของ IUCN ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโฮโนลูลูในรัฐฮาวาย
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าข่าวดีสำหรับแพนด้ายักษ์อาจไม่ยั่งยืนอย่างที่คิด
มีการประเมินว่า ปัญหาโลกร้อนซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะทำให้ป่าไผ่ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของแพนด้ายักษ์หายไปมากกว่า 1 ใน 3 ในอีก 80 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่า ประชากรแพนด้ายักษ์ยังมีความเสี่ยงที่จะลดลงในอนาคต และความสำเร็จในวันนี้อาจพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ คาร์โล รอนดินีนี ผู้ประสานงานโครงการวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากมหาวิทยาลัยซาเปียนซาในกรุงโรม ระบุ
บัญชีแดงของ IUCN ได้รวบรวมสถานะของสัตว์และพืชทั้งหมด 82,954 ชนิด โดย 23,928 ชนิด หรือราวๆ 1 ใน 3 ถูกจัดอยู่ในข่ายเสี่ยงสูญพันธุ์