รอยเตอร์ - สื่อต่างประเทศรายงานรัฐบาลทหารของไทยเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (1 ก.ย.) ว่าจะกลับมาเจรจาสันติภาพกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิมทางภาคใต้ของประเทศอีกครั้งในมาเลเซีย แต่ยังไม่มีการลงนามในข้อตกลงจนกว่าพวกก่อความไม่สงบจะหยุดโจมตี อ้างนักวิเคราะห์ข้อตกลงนี้เป็นไปได้ยาก เนื่องจากกลุ่มหลักที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงไม่ได้เข้าร่วมเจรจาด้วย
พวกแบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดทางภาคใต้ของไทย ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดหลายจุดตามเมืองท่องเที่ยวหลายแห่งเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไป 4 ศพ และบาดเจ็บหลายคน
สถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษทางภาคใต้ของไทย โหมกระพือขึ้นอีกครั้งในปี 2004 และนับตั้งแต่นั้นมีผู้คนเสียชีวิตแล้วมากกว่า 6,500 ศพ
การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มก่อความไม่สงบเริ่มต้นขึ้นในปี 2013 ภายใต้รัฐบาลพลเรือนของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทว่ามันได้หยุดชะงักไปนับตั้งแต่ทหารโค่นอำนาจรัฐบาลของเธอในปี 2014
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเปิดเผยว่า จะเริ่มกลับมาเจรจากันอีกครั้งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในวันศุกร์ (2 ก.ย.) เมืองหลวงของมาเลเซีย ประเทศที่เป็นคนกลางของการเจรจา
พลเอก อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาของรัฐบาลไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า พวกก่อความไม่สงบจำเป็นต้องแสดงถึงความจริงใจด้วยการยุติความรุนแรงเสียก่อน “ผมได้รับคำสั่งให้บอกกับกลุ่มต่างๆ ว่าต้องเกิดสันติในพื้นที่เสียก่อน แล้วเราถึงจะลงนามในเอกสารใดๆ”
สำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซียรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของไทยจะพบปะกับตัวแทนของกลุ่มมารา ปัตตานี
รอยเตอร์อ้างความเห็นของนายแอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์จากไอเอชเอส เจนส์ ประจำกรุงเทพฯ ระบุว่า ข้อตกลงหยุดโจมตีนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะกลุ่มหลักที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรง แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ไม่ได้เข้าร่วมการเจรจา
“บีอาร์เอ็นแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าพวกเขาปฏิเสธกระบวนการปัจจุบันของการเจรจาสันติภาพระหว่างกรุงเทพฯ กับกลุ่มก๊กเล็กๆ ที่พำนักอยู่ในมาเลเซีย นามว่ามารา ปัตตานี” เขากล่าว