เอเจนซีส์ - รัฐบาลอังกฤษมีคำสั่งชั่วคราวห้ามส่งออกจุลมงกุฎ (coronet) ประดับเพชรและแซปไฟร์ซึ่งเคยเป็นของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เพื่อมิให้สมบัติล้ำค่าของแผ่นดินชิ้นนี้ถูกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ
ศิราภรณ์ประดับพระเกศาซึ่งเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี ทรงออกแบบขึ้นในปี 1840 เพื่อใช้ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์ เสี่ยงที่จะถูกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ หากไม่มีคนในอังกฤษยอมทุ่มเงินซื้อไว้ในราคา 5 ล้านปอนด์ ตามที่เจ้าของคนปัจจุบันเรียกร้อง
คำสั่งห้ามส่งออกชั่วคราวมีขึ้น หลังจากที่เจ้าของจุลมงกุฎได้ทำเรื่องขออนุญาตจำหน่ายไปยังต่างประเทศ
แมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมอังกฤษซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่ง ระบุว่า จุลมงกุฎชิ้นนี้เป็นสัญลักษณ์แทน “ตำนานรักที่เลื่องลือที่สุดเรื่องหนึ่ง” ในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร
จุลมงกุฎนี้มีความยาว 11.5 เซนติเมตร ประดับด้วยแซปไฟร์สีน้ำเงินขนาดใหญ่จำนวน 11 เม็ดในเรือนทอง ล้อมรอบด้วยเพชรซึ่งตัวเรือนทำจากเงินแท้
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า จุลมงกุฎนี้เป็นหนึ่งในบรรดาเครื่องประดับชิ้นสำคัญที่สุดในรัชสมัยของควีนวิกตอเรีย โดยเข้าคู่กันกับเข็มกลัดแซปไฟร์และเพชรที่เจ้าชายอัลเบิร์ตได้ทูลเกล้าฯ ถวายก่อนงานพระราชพิธีอภิเษกสมรส
หลังจากเจ้าชายอัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ลงในปี 1861 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงปฏิเสธที่จะเสด็จฯ ไปทรงเปิดการประชุมรัฐสภา จนกระทั่งถึงปี 1866 จึงได้เสด็จไปอีกครั้ง พร้อมกับทรงสวมจุลมงกุฎชิ้นนี้ด้วย
ทั้งจุลมงกุฎและเข็มกลัดได้ปรากฏอยู่ในพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียขณะพระชนม์มายุแรกรุ่นในปี 1842 โดยฝีมือการวาดของ ฟรานซ์ เซเวอร์ วินเทอร์ฮอลเตอร์
พระเจ้าจอร์จที่ 5 และสมเด็จพระราชินีแมรี ได้พระราชทานจุลมงกุฎนี้แก่เจ้าฟ้าหญิงแมรี เพื่อใช้ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับ วิสเคานต์ ลาสเซลเลส (Viscount Lascelles) ในปี 1922 ต่อมาจุลมงกุฎได้ถูกขายให้กับผู้ค้าเครื่องประดับรายหนึ่งในลอนดอน จนกระทั่งตกถึงมือเจ้าของคนปัจจุบันซึ่งต้องการจะส่งออกมันไปยังต่างประเทศ
คำสั่งห้ามส่งออกมีขึ้นตามคำแนะนำของคณะกรรมการพิจารณาการส่งออกผลงานศิลปะและสิ่งของซึ่งมีคุณค่าทางวัฒนธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของสภาศิลปะแห่งอังกฤษ
คณะกรรมการให้เหตุผลว่า จุลมงกุฎนี้ “เกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชาติ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาเรื่องราวของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ขณะที่ยังทรงมีพระชนมายุแรกรุ่น”
ฟิลิปปา แกลนวิลล์ หนึ่งในคณะกรรมการ ชี้ว่า ศิราภรณ์ชิ้นนี้นอกจากจะมีความ “งดงามวิจิตร” แล้ว ยัง “สะท้อนถึงรสนิยมโรแมนติกในยุคนั้น จนมีผู้นำไปลอกเลียนแบบมากมาย”
“หากจุลมงกุฎนี้ถูกจำหน่ายไปต่างประเทศจะถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ เพราะเป็นเครื่องประดับที่มีความงดงามและความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์”
ด้านรัฐมนตรี แฮนค็อก ระบุว่า “ผมหวังว่าเราจะสามารถรักษาจุลมงกุฎนี้ไว้ในสหราชอาณาจักร และจัดแสดงให้ประชาชนได้ชื่นชมไปตลอดหลายปีข้างหน้า”
กระทรวงวัฒนธรรม สื่อ และกีฬาแห่งอังกฤษ (Department for Culture, Media and Sport) ได้เลื่อนการตัดสินออกใบอนุญาตส่งออกจุลมงกุฎไปจนถึงวันที่ 27 ธ.ค.