xs
xsm
sm
md
lg

‘อิหร่าน’เข้าร่วมจับมือ‘ตุรกี-รัสเซีย’ ทำ‘อเมริกา-ซาอุฯ-อิสราเอล’หนาว

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Iran taps into Turkish-Russian reset
By M.K. Bhadrakumar
14/08/2016

สำหรับอิหร่านแล้ว การมีความผูกพันอย่างแข็งแรงกับรัสเซียและตุรกีผู้เป็นชาติเพื่อนบ้านของตน คือสิ่งที่มีความสำคัญมากในขณะนี้ เมื่อแกนพันธมิตรภูมิภาคระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอลเพื่อปิดล้อมเตหะรานกำลังก่อตัวปรากฏขึ้นมา อีกทั้งไม่มีความแน่นอนเลยว่าภายใต้ประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่จะมีการปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับเหล่ามหาอำนาจกันต่อไปอย่างไรหรือไม่ ในอีกด้านหนึ่ง จากลู่ทางโอกาสที่จะเกิดแกนพันธมิตรตุรกี-อิหร่าน-รัสเซียขึ้นมาเช่นนี้ ก็กำลังบีบคั้นกดดันให้คณะบริหารโอบามาต้องหาทางแก้ไขผ่อนคลายความบาดหมางที่มีอยู่กับอังการา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย ที่วอชิงตันมีการเปลี่ยนตัวยกระดับให้รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นผู้นำคณะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอันมีเดิมพันสูงลิ่ว ในการเยือนตุรกีวันที่ 24 สิงหาคมนี้

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะ “อัปเกรด” คณะผู้แทนอเมริกันซึ่งวอชิงตันเสนอว่าจะส่งไปเยือนกรุงอังการาในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ จากระดับทางการทูตขึ้นไปเป็นระดับทางการเมือง ความเคลื่อนไหวเช่นนี้มีแต่จะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า การฟื้นฟูสัมพันธไมตรีระหว่างตุรกีกับรัสเซียซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงความสำคัญยิ่งนั้น กำลังส่งอิทธิพลให้เห็นประจักษ์มากขึ้นเรื่อยๆ

ตอนนี้รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเป็นผู้รับผิดชอบนำคณะผู้แทนสหรัฐฯเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่มีเดิมพันสูงลิ่วที่ตุรกีคราวนี้ ซึ่งจะเป็นทริปแรกของบุคคลระดับสูงชาวอเมริกันภายหลังเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจที่ล้มเหลวในตุรกีเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม

ดังนั้น การที่ประธานาธิบดีเรจิป ตัยยิบ แอร์โดอัน ของตุรกี เดินทางไปพบปะหารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม และการเยือนกรุงอังการาวันเดียวอย่างไม่มีกำหนดการล่วงหน้ามาก่อนของรัฐมนตรีต่างประเทศจาวัด ซารีฟ (Javad Zarif) ของอิหร่านเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม จึงกำลังกลายเป็นตัวเปลี่ยนโฉมแปลงร่างพลวัตทางอำนาจในตะวันออกกลางอย่างมโหฬาร

ขณะที่ศักยภาพของการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีตุรกี-รัสเซีย ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงจะปรากฏให้เห็นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ระดับต่างๆ หลายหลาก แต่สำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “ส่วนยอดที่โผล่พ้นน้ำของภูเขาน้ำเข็ง” ก็อาจเปรียบเทียบบ่งบอกให้เรามองเห็นได้ว่า สงครามการสู้รบในซีเรีย ซึ่งถือเป็นประเด็นปัญหาฮอตสุดในภูมิภาคตะวันออกกลางเวลานี้ กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงจนถึงระดับรากฐานทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สำหรับสหรัฐฯแล้ว การขบคิดพิจารณาในเรื่องยุทธศาสตร์ต่างๆ ของวอชิงตันในอนาคตระยะใกล้นี้ ถึงอย่างไรก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องคำนึงว่า ทิศทางแนวโน้มที่จะปรากฏแกนพันธมิตรระหว่างตุรกี-อิหร่าน-รัสเซียขึ้นมาอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นี้ กำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่โตต่อการจับกลุ่มรวมตัวกันในตะวันออกกลาง

ก่อนหน้าเดินทางไปกรุงอังการาในวันศุกร์ (12 ส.ค.) ซารีฟได้สนทนาเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวางทางโทรศัพท์ กับรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียเกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) ของรัสเซีย โดยเฉพาะเกี่ยวกับพัฒนาการต่างๆ ในภูมิภาค “รวมทั้งการจัดหาความสนับสนุนจากภายนอกเพื่อให้บรรลุการตกลงกันในซีเรีย” ทั้งนี้ตามข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย

ระหว่างที่อยู่ในกรุงอังการา ซารีฟได้เข้าพบหารือทั้งกับประธานาธิบดีเรจิบ แอร์โดอัน และนายกรัฐมนตรีบินาลี ยิลดิริม (Binali Yildirim) ของตุรกี ขณะที่การแถลงของซารีฟและของรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ดาฟลุต คาวูโซกลู (Davlut Cavusoglu) ในที่ประชุมแถลงข่าวร่วมในอังการา ก็บ่งบอกให้ทราบว่า การที่เตหะรานให้ความสนับสนุนเต็มที่แก่แอร์โดอันในการปราบปรามความพยายามทำรัฐประหารโค่นล้มเขานั้น ได้ส่งผลกลายเป็นการยกระดับทางคุณภาพให้แก่ความสัมพันธ์โดยรวมระหว่างประเทศทั้งสอง

คาวูโซกลูกล่าวสรรเสริญความสนับสนุนที่อิหร่านให้แก่แอร์โดอันเสียอย่างเลิศลอย เขาพูดให้ความเห็นในลักษณะที่เปิดเผยข้อเท็จจริงลึกๆ อย่างตรงไปตรงมาว่า “ในคืนที่เกิดรัฐประหารนั่น ผมไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลยจนกระทั่งถึงตอนเช้า และเพื่อนของผม จาวัด ซารีฟ ก็เหมือนกัน เขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ผมพูดคุยด้วยมากที่สุด โทรศัพท์มาหาผมถึง 5 ครั้งในคืนนั้น”

ตามรายงานข่าวหลายๆ กระแส เตหะรานน่าจะได้แบ่งปันแลกเปลี่ยนข่าวกรองอันมีค่ากับพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของตุรกีในเรื่องที่ว่ากำลังจะเกิดการทำรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารในวันที่ 15 กรกฎาคม เฉพาะปัจจัยข้อนี้เพียงประการเดียวก็สมควรที่จะทำงานได้อย่างมหัศจรรย์สำหรับความผูกพันระหว่างตุรกีกับอิหร่านตราบเท่าที่แอร์โออันยังคงมีอำนาจอยู่ ทั้งนี้คาวูโซกลูก็ระบุว่า “ความมั่นคงและเสถียรภาพของอิหร่านคือความมั่นคงและเสถียรภาพของตุรกี และเราเชื่อว่าอิหร่านก็มีความเห็นเช่นเดียวกันนี้”

เขากล่าวต่อไปว่า ตุรกีกับอิหร่านมีความเข้าใจร่วมกันในเรื่องเกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนอันแบ่งแยกมิได้ของซีเรีย ตรงนี้จะต้องมองให้ทะลุว่าคือการอ้างอิงอย่างชัดเจนถึงการที่อังการาและเตหะรานมีผลประโยชน์ร่วมกันในการป้องกันสกัดกั้นไม่ให้เกิดดินแดนในปกครองของชาวเคิร์ดแทรกขึ้นมาในบริเวณภาคเหนือของซีเรีย

ในการให้สัมภาษณ์แยกต่างหากออกไป ต่อ “เสียงอเมริกา” (Voice of America) อัยเซ โซเซน อุสลูเอร์ (Ayse Sozen Uslue) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านระหว่างประเทศของแอร์โดอัน ก็พูดลดน้ำหนักความแตกต่างระหว่างเตหะรานกับอังการาในเรื่องซีเรีย โดยเขากล่าวว่า “ระหว่างอิหร่านกับตุรกี เราไม่ได้มีปัญหาสาหัสร้ายแรงอะไร เรามีพื้นที่ซึ่งร่วมมือกันในภูมิภาคนี้มากมายหลายหลาก เราเพียงแต่มีวิธีการทางด้านนโยบายการต่างประเทศในภูมิภาคนี้ที่แตกต่างกัน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมบางครั้งบางคราวเราจึงยืนอยู่คนละฝ่าย ทว่าเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาสาหัสร้ายแรงที่จะกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี-อิหร่านในภูมิภาคนี้หรอก”

อย่างไรก็ดี เรื่องราวที่สำคัญที่สุดซึ่งเกิดขึ้นมาระหว่างการเยือนของซารีฟคราวนี้ เห็นจะไม่พ้นการที่เขาดูเหมือนจงใจเหยียบย่ำซ้ำตรงรอยแยกที่ปรากฏขึ้นมาในระยะหลังๆ นี้ในความสัมพันธ์ซึ่งตุรกีมีอยู่กับพวกหุ้นส่วนดั้งเดิมของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับสหรัฐฯและเหล่าพันธมิตรในภูมิภาคตะวันออกกลางของสหรัฐฯ

ต่อหน้าต่อตาคาวูโซกลู ณ ที่ประชุมแถลงข่าวร่วมกันทีเดียว ซารีฟได้กล่าวเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ อิหร่าน-ตุรกี-รัสเซียร่วมมือกัน “ในการทำงานร่วมกันเพื่อนำเอาสันติภาพและความมั่งคั่งรุ่งเรืองมาสู่ภูมิภาคนี้”

แน่นอน หากอิหร่านมีความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับ 2 มหาอำนาจสำคัญที่เป็นเพื่อนบ้านอยู่ประชิดติดกัน ซึ่งได้แก่รัสเซียและตุรกีแล้ว มันก็จะสร้างความแตกต่างอย่างมากมายให้แก่เตหะราน ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่งยวดในปัจจุบัน เมื่อกำลังมีการก่อตัวแกนพันธมิตรภูมิภาคระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอล (โดยที่ได้รับการหนุนหลังเป็นนัยๆ จากสหรัฐฯ) เพื่อ “ปิดล้อม” อิหร่านกันอยู่ อีกทั้งบรรยากาศยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในเรื่องที่ว่าภายใต้ประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกา จะมีการเดินหน้าปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านหรือไม่เพียงใด

ขณะที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่รัสเซียกับตุรกีกดปุ่ม “รีเซ้ต” ความสัมพันธ์กันใหม่ ตลอดจนการเจรจาหารือของซารีฟในกรุงอังการา หนังสือพิมพ์เตหะรานไทมส์ (Tehran Times) ซึ่งเป็นสื่อที่สะท้อนความคิดอ่านของทางการอิหร่าน เขียนเอาไว้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับพลวัตความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ทางอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง ดังนี้:

“ขณะที่อังการาเคลื่อนตัวเข้ามาหาอิหร่านและรัสเซียเช่นนี้ มีความหวังกันว่ากำลังจะปรากฏรูปสามเหลี่ยมทางยุทธศาสตร์ (strategic triangle) รูปใหม่ขึ้นมา และเมื่อเวลาผ่านมา สามเหลี่ยมทางยุทธศาสตร์นี้ก็น่าจะเริ่มต้นก่อให้เกิดอิทธิพลอย่างมากมายมหาศาล ไม่เพียงเฉพาะต่อซีเรียเท่านั้น หากต่อภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งหมดทีเดียว เมื่ออิหร่านกับตุรกีหันหน้ามาจับมือกัน ในฐานะที่ประเทศทั้งสองเป็นกลุ่มพลังอันทรงอำนาจและเป็นแกนกลางอยู่ในตะวันออกกลาง จึงย่อมสามารถที่จะปรับเปลี่ยนพลิกผันพลังอันยิ่งใหญ่ซึ่งอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ และดำเนินการเพื่อให้บังเกิดสิ่งที่เป็นผลดีร่วมกันขึ้นมา ถึงแม้ไมตรีจิตมิตรภาพนี้ยังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นคลี่คลายผลิบาน แต่มันก็สามารถที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดเรื่องราวแห่งความสำเร็จอันพิเศษสุด ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนรูปโฉมของตะวันออกกลาง และก่อให้เกิดผลซึ่งสร้างความหวัง ในการปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์ความมั่นคงในอาณาบริเวณอันไม่มีความสงบนี้ ให้ยกระดับดีขึ้นได้อย่างแท้จริง”

ยังมีบทความที่น่าสนใจมากทีเดียวอีกชิ้นหนึ่งเผยแพร่อยู่ในสำนักข่าวฟารส์ (Fars news agency) ซึ่งใกล้ชิดกับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps) บทความนี้ไม่ยอมเสียเวลาเลยในการคาดเดากะเก็งว่า อิหร่านจะเป็นอีกชาติหนึ่งซึ่งน่าจะถูกรวมเข้าไปในกลไกว่าด้วยซีเรีย ที่รัสเซียกับตุรกีเพิ่งก่อตั้งขึ้นมาหมาดๆ

บทความนี้กล่าวว่า “รัสเซียกับตุรกีได้ตัดสินใจแล้วที่จะ ‘จัดตั้งกลไกร่วมทางทหาร, ข่าวกรอง, และการทูต’ ขึ้นมา ทั้งสองฝ่ายระบุว่า ‘ถ้าจำเป็น’ พวกเขาก็จะให้อิหร่านเข้าร่วมด้วย การให้อิหร่านเข้าร่วมอยู่ในกลไกนี้ พวกเขาก็จะสามารถ ‘รักษาการติดต่ออย่างใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น’ กับเตหะราน และมีคณะผู้แทนพิเศษซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากกองทัพอิหร่าน, ฝ่ายการทูต, และหน่วยงานข่าวกรอง ซึ่งจะพบปะกันเป็นประจำและหารือถึงพัฒนาการต่างๆ ตลอดจนจุดยืนในซีเรียของพวกเขาแต่ละฝ่าย เพื่อให้สามารถบรรลุการประนีประนอมรอมชอมและบรรลุหนทางแก้ไขคลี่คลาย ซึ่งจะเป็นที่ยอมรับได้แก่ทุกๆ ฝ่าย”

แน่นอนทีเดียว การเข้ามาบรรจบร่วมมือกันระหว่างรัสเซีย-ตุรกี-อิหร่าน ไม่ว่าในลักษณะใดก็ตามที ย่อมเป็นการสร้างความเพลี่ยงพล้ำปราชัยในทางภูมิรัฐศาสตร์ ให้แก่เหล่าพันธมิตรในภูมิภาคตะวันออกกลางของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองของฝ่ายซาอุดีอาระเบียแล้ว ถ้าตุรกีถอยหลังยุติการแทรกแซงของตนที่กระทำอยู่ในซีเรีย สงครามนี้ก็ต้องถือว่าพ่ายแพ้ปราชัยโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในทางปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวง –ถึงแม้ว่าหากมองกันในเงื่อนไขทางปฏิบัติแล้ว ซาอุดีอาระเบียยังคงอยู่ในฐานะที่จะใช้เส้นทางผ่านจอร์แดนมาเป็นเส้นทางส่งซัปพลายต่างๆ ให้แก่กลุ่มกบฏที่ซาอุดีอาระเบียหนุนหลังอยู่ในซีเรีย

ผลการประชุมหารือของกลไกร่วมรัสเซีย-ตุรกีในเรื่องว่าด้วยซีเรีย ซึ่งเริ่มต้นการทำงานของพวกตนในกรุงมอสโกตั้งแต่วันพฤหัสบดี (11 ส.ค.) จึงเป็นสิ่งที่ใครๆ กำลังรอคอยกันอย่างใจจดใจจ่อ หนังสือพิมพ์อิซเวสติยา (Izvestiya) ของรัสเซียรายงานเอาไว้ในวันศุกร์ (12 ส.ค.) ว่า จากการที่ฝ่ายรัสเซียร้องขออย่างไม่ลดละในเรื่อง “การปิด” พรมแดนตุรกี-ซีเรีย อังการาก็อาจจะสนองตอบด้วยการดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จำเป็น

สำหรับฝ่ายรัสเซียแล้ว เรื่องนี้กลายเป็นกระดาษลิตมัสสำหรับทดสอบว่าอังการามีความสนใจในการรอมชอมกับมอสโกอย่างจริงจังแค่ไหนทีเดียว

อีกอร์ โมโรซอฟ (Igor Morozov) สมาชิกรัฐสภาคนสำคัญและนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลบอกกับหนังสือพิมพ์อิซเวสติยาว่า “ทางผู้เจรจาฝ่ายตุรกี ทั้งที่เป็นตัวแทนจากฝ่ายการทูตและจากฝ่ายทหาร ... ดูเหมือนกำลังมีความปรารถนาที่จะข้ามให้พ้นประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ทำให้เกิดการโต้เถียงกัน”

แน่นอนทีเดียว การที่ตุรกี “รีเซ็ต” ความสัมพันธ์กับรัสเซียและอิหร่าน จะเป็นการสร้างแรงกดดันให้คณะบริหารโอบามาต้องเร่งแก้ไขผ่อนคลายความบาดหมางที่มีอยู่กับอังการา โจ ไบเดน จะต้องมีความตระหนักอย่างแรงกล้าอยู่แล้วว่า สายตาที่อยากรู้อยากเห็นของมอสโกและเตหะรานกำลังจับจ้องเขม้นมอง สิ่งที่เขากำลังจะกระทำในตุรกี

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

หมายเหตุผู้แปล

ไม่กี่วันภายหลังการพบปะหารือที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กับประธานาธิบดีเรจิป แอร์โดอัน และการไปเยือนกรุงอังการาของรัฐมนตรีต่างประเทศ จาวัด ซารีฟ ของอิหร่าน ก็มีรายงานข่าวว่าอิหร่านยินยอมให้รัสเซียใช้ฐานทัพของตนสำหรับการเข้าถล่มโจมตีพวกกบฏในซีเรีย ซึ่งดูจะเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในเส้นทางแห่งการก่อตัวของแกนพันธมิตรรัสเซีย-อิหร่าน-ตุรกี เอเชียไทมส์ได้รายงานเรื่องนี้โดยใช้ข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ จึงขอเก็บความรายงานชิ้นนี้มาให้อ่านกันในที่นี้:

ครั้งแรก’! รัสเซียใช้ฐานทัพอิหร่าน บินไปโจมตีกบฎซีเรีย
Russia, for first time, uses Iran base to bomb Syrian targets
16/08/2016

รอยเตอร์ - รัสเซียใช้อิหร่านเป็นฐานสำหรับเปิดการโจมตีทางอากาศถล่มใส่พวกนักรบหัวรุนแรงซีเรียเป็นครั้งแรกในวันอังคาร (16 ส.ค.) นับเป็นการขยายการรณรงค์สู้รบทางอากาศในซีเรียของแดนหมีขาวให้กว้างขวางออกไป และในเวลาเดียวกันก็เป็นการเข้าเกี่ยวข้องพัวพันในตะวันออกกลางอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วย

ในความเคลื่อนไหวที่กำลังตอกย้ำให้เห็นว่ามอสโกมีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับเตหะรานมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ ฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลแบบ ตูโปเลฟ-22เอ็ม3 และฝูงเครื่องบินขับไล่/ทิ้งระเบิด ซูคอย-34 ของรัสเซีย ได้ใช้ฐานทัพอากาศฮามาดัน (Hamadan air base) ของอิหร่านเป็นฐาน เพื่อเข้าโจมตีเป้าหมายต่างๆ จำนวนหนึ่งในซีเรีย

นี่เป็นครั้งแรกที่รัสเซียใช้ดินแดนของอีกชาติหนึ่ง --นอกเหนือจากของซีเรียแล้ว-- ในการปฏิบัติการโจมตีเช่นนี้ นับตั้งแต่ที่เครมลินเริ่มเปิดการรณรงค์ทิ้งระเบิดเพื่อช่วยเลือสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว

เข้าใจกันว่านี่ก็เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกันที่อิหร่านอนุญาตให้มหาอำนาจต่างชาติเข้าใช้ดินแดนของตนเพื่อการปฏิบัติการทางทหาร นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอิสลามในประเทศนี้เมื่อปี 1979 เป็นต้นมา

การได้เข้าไปปฏิบัติการจากอิหร่านเช่นนี้ จะช่วยส่งเสริมเชิดชูภาพลักษณ์ของรัสเซียในฐานะที่เป็นผู้เล่นแกนกลางรายหนึ่งในตะวันออกกลาง และก็เปิดทางให้กองทัพอากาศรัสเซียสามารถลดเวลาที่ใช้ในการบิน แต่เพิ่มน้ำหนักระเบิดที่บรรทุกได้มากขึ้น

สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่าน รายงานโดยอ้างคำแถลงของประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติของอิหร่านที่กล่าวว่า เวลานี้เตหะรานกับมอสโกกำลังแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อการต่อสู้ปราบปรามเอาชนะผู้ก่อการร้าย พร้อมกับบรรยายความร่วมมือกันระหว่างประเทศทั้งสองว่า เป็นความร่วมมือในทางยุทธศาสตร์

ประเทศทั้งสองต่างหนุนหลังอัสซาด และรัสเซียหลังจากที่รีรออยู่พักหนึ่ง เวลานี้ก็จัดส่งระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศแบบ เอส-300 ไปให้แก่อิหร่านแล้ว ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงถึงความเป็นหุ้นส่วนที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของทั้งคู่ ที่ได้ช่วยพลิกผันกระแสคลื่นในสงครามกลางเมืองของซีเรีย และก็กำลังกลายเป็นการทดสอบอิทธิพลของสหรัฐฯในตะวันออกกลางไปด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างเตหะรานกับมอสโกได้ทวีความเป็นมิตรกันมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ที่อิหร่านบรรลุข้อตกลงเมื่อปีที่แล้วกับ 6 ชาติมหาอำนาจของโลกในเรื่องการลดทอนโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางการเงินของสหประชาชาติ, สหภาพยุโรป, และสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เดินทางไปเยือนอิหร่านในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และทั้งสองประเทศมีการหารือวางแผนการทางทหารสำหรับซีเรียอยู่เป็นประจำ โดยที่ในซีเรียนั้น อิหร่านได้จัดส่งกำลังทหารภาคพื้นดินเข้าไปซึ่งมีการปฏิบัติการร่วมกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ในท้องถิ่น ขณะที่รัสเซียเป็นผู้ให้ความสนับสนุนด้านแสนยานุภาพทางอากาศ

เป้าหมายคืออะเลปโป

นายกรัฐมนตรีไฮเดอร์ อัล-อาบาดี ของอิรัก แถลงในวันอังคาร (16 ส.ค.) ว่า อิรักซึ่งตั้งอยู่ระหว่างอิหร่านกับซีเรีย ได้อนุญาตให้รัสเซียใช้น่านฟ้าของตนได้ โดยมีเงื่อนไขว่าเครื่องบินต่างๆ ที่จะใช้น่านฟ้านี้ ต้องบินมาตามแนวระเบียงขนานกับแนวชายแดนอิรัก โดยไม่บินผ่านเหนือเมืองใหญ่ต่างๆ ของอิรัก

อาบาดีกล่าวในการประชุมแถลงข่าวด้วยว่า อิรักก็ได้อนุญาตทำนองเดียวกันนี้แก่กำลังทางอากาศของกลุ่มพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯที่มุ่งต่อสู้ปราบปรามพวก “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) โดยเครื่องบินของกลุ่มพันธมิตรนี้ ใช้เส้นทางบินจากคูเวตผ่านอิรักเข้าไปปฏิบัติการในซีเรีย

ทางด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงว่า เมื่อวันอังคาร (16 ส.ค.) ฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิดของตนได้บินขึ้นจากฐานทัพอากาศฮามาดัน ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน

กระทรวงกลาโหมแดนหมีขาวบอกว่า การโจมตีเมื่อวันอังคาร (16 ส.ค.) พุ่งเป้าหมายเล่นงานกลุ่ม “รัฐอิสลาม” ตลอดจนกลุ่มนักรบหัวรุนแรงที่เมื่อก่อนรู้จักกันในชื่อว่าแนวร่วมนุสรา (Nusra Front) ทั้งที่อยู่ในจังหวัดอะเลปโป, อิดลิบ, และเดอีร์ อัล โซอูร์ คำแถลงของกระทรวงระบุด้วยว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดที่ใช้ฐานในอิหร่านเหล่านี้ ได้รับการคุ้มกันโดยฝูงเครื่องบินขับไล่ซึ่งบินขึ้นจากฐานทัพอากาศฮะเมมีม อันเป็นฐานทัพอากาศของซีเรียในจังหวัดลาตาเกีย ซึ่งอนุญาตให้รัสเซียใช้

“ผลจากการโจมตี มีคลังอาวุธขนาดใหญ่ 5 แห่งถูกทำลาย ... oนอกจากนั้น ค่ายฝึกพวกหัวรุนแรง 1 แห่ง ... จุดบังคับการและควบคุม 3 จุด ... และพวกนักรบจำนวนมากพอดูจำนวนหนึ่ง” คำแถลงของกระทรวงแจกแจง

สิ่งปลูกสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ถูกทำลายในคราวนี้ ทั้งหมดได้ถูกใช้เพื่อสนับสนุนพวกหัวรุนแรงในพื้นที่อะเลปโป คำแถลงระบุ ทั้งนี้สงครามสู้รบเพื่อควบคุมนครที่ก่อนสงครามมีประชากรอาศัยอยู่ 2 ล้านคน แต่เวลานี้ถูกแบ่งแยกเป็นเสี่ยงๆ แห่งนี้ ได้เพิ่มความดุเดือดขึ้นมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังๆ มานี้

กลุ่มผู้สังเกตการณ์ชาวซีเรียเพื่อสิทธิมนุษยชน (Syrian Observatory for Human Rights) ซึ่งเป็นกลุ่มเฝ้าติดตามสงครามในซีเรียโดยตั้งฐานอยู่ในอังกฤษ รายงานว่าการโจมตีทางอากาศในวันอังคาร (16 ส.ค.) เป็นไปด้วยความรุนแรง โดยถล่มใส่เป้าหมายจำนวนมากทั้งภายในและรอบๆ เมืองอะเลปโป ตลอดจนตามที่อื่นๆ ในซีเรีย สังหารผู้คนไปหลายสิบคน

การโจมตีในเขตตอริก อัล-บับ และเขต อัล-ซาโคอูร์ ทางตอนเหนือของเมืองอะเลปโป ได้คร่าชีวิตผู้คนไปราว 20 คน ขณะที่การถล่มโจมตีพื้นที่แนวระเบียงซึ่งพวกกบฏเปิดเอาไว้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว โดยเป็นแนวพื้นที่เข้าสู่หลายๆ บริเวณทางด้านตะวันออกของเมืองนี้ซึ่งพวกฝ่ายค้านซีเรียยึดครองอยู่ ได้สังหารผู้คนไปอีก 9 คน กลุ่มผู้สังเกตการณ์ฯระบุ

ทางด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงว่าในการโจมตีทางอากาศของตน ได้พยายามใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากเพื่อหลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้พลเรือนต้องบาดเจ็บล้มตาย

ขณะที่ ซาคาเรีย มาลาฮีฟี เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของกลุ่มฟัสตอคิม (Fastaqim) กลุ่มกบฏซีเรียที่ตั้งฐานอยู่ในเมืองอะเลปโป แถลงว่าเขาไม่สามารถยืนยันได้ว่ารัสเซียได้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดที่เพิ่งประจำการใหม่เพิ่มเติมในการโจมตีช่วงวันหลังๆ นี้หรือไม่ แต่บอกได้ว่าการถล่มทางอากาศในอะเลปโประยะไม่กี่วันที่ผ่านมามีความเข้มข้นดุเดือดเพิ่มขึ้นมาก

“มันหนักหน่วงดุเดือดเพิ่มขึ้นมาก” เขากล่าวกับรอยเตอร์ “ไม่มีอาวุธประเภทไหนที่พวกเขาไม่ทิ้งใส่อะเลปโปเลย –ทั้งระเบิดดาวกระจาย, ระเบิดฟอสฟอรัส และอื่นๆ”

อะเลปโป ซึ่งก่อนสงครามเคยเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในซีเรีย เวลานี้ถูกพวกกบฎและฝ่ายรัฐบาลตัดแบ่งยึดครองเป็นส่วนๆ รัฐบาลนั้นมุ่งหมายที่จะยึดเมืองกลับมาให้ได้ทั้งหมด ซึ่งจะถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สุดในรอบระยะเวลา 5 ปีที่เกิดสงครามกลางเมืองกันมา

เชื่อกันว่ามีพลเรือนหลายแสนคนติดอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งพวกกบฏยึดครองอยู่ และกำลังเผชิญภัยคุกคามจากการถูกปิดล้อมถ้าหากรัฐบาลปิดพื้นที่แนวระเบียงซึ่งเชื่อมโยงเขตเหล่านี้กับโลกภายนอก

สื่อรัสเซียรายงานในวันอังคาร (16 ส.ค.) เช่นกันว่า รัสเซียยังได้ขอและก็ได้รับอนุญาตแล้ว ให้ใช้อิหร่านและอิรักเป็นเส้นทางในการยิงจรวดร่อนจากกองเรือทะเลแคสเปียนของตนเข้าไปสู่เป้าหมายต่างๆ ในซีเรีย เหมือนกับที่ได้เคยทำเช่นนี้มาแล้วในอดีต รัสเซียนั้นกำลังเพิ่มกำลังทางนาวีในด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและในทะเลแคสเปียน โดยระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมทางทหารตามแผนการที่กำหนดไว้

เมื่อช่วงเช้าวันอังคาร (16 ส.ค.) สถานีโทรทัศน์รอสซิยา 24 ที่ได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลรัสเซีย ได้แพร่ภาพออกอากาศภาพซึ่งมิได้มีคำบรรยาย แสดงให้เห็นเครื่องบินทิ้งระเบิดตูโปเลฟ -22เอ็ม3 ของรัสเซียจำนวนอย่างน้อย 3 ลำ และเครื่องบินขนส่งทางทหารของรัสเซียอีกลำหนึ่ง อยู่ภายในดินแดนของอิหร่าน

ทีวีช่องนี้ระบุว่า การเข้าไปใช้ฐานทัพในอิหร่านจะทำให้กองทัพอากาศรัสเซียสามารถตัดลดเวลาในการทำการบินลงได้ราว 60% ทั้งนี้เครื่องบินทิ้งระเบิด ตูโปเลฟ-22เอ็ม3 ซึ่งก่อนหน้าวันอังคาร (16 ส.ค.) ได้ออกปฏิบัติการถล่มโจมตีในซีเรียจากฐานทัพประจำของพวกตนในภาคใต้ของรัสเซียนั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ฐานทัพอากาศภายในซีเรียของรัสเซียเองจะรองรับไหว สื่อมวลชนรัสเซียรายงานเอาไว้เช่นนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น