เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา กล่าวในวันนี้ (25 เม.ย.) ว่าสหรัฐฯ จะจัดส่งบุคลากรทางทหารอีก 250 นาย ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งกำลังหน่วยรบพิเศษ เพิ่มเข้าไปในซีเรีย เพื่อช่วยเหลือพวกกบฏในการสู้รบกับกลุ่มนักรบญิฮัด “รัฐอิสลาม” (ไอเอส)
โอบามานั้นกำลังอยู่ในเยอรมนีเพื่อทำการเจรจากับนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล และในช่วงต่อไปของวันนี้เช่นกันก็จะมีผู้นำของชาติสำคัญในยุโรปอีก 3 ราย คือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส และอิตาลี เข้ามาร่วมด้วย โดยเป็นที่คาดหมายกันว่าการประชุมหารือเหล่านี้จะโฟกัสไปที่การสู้รบปราบปรามพวกไอเอสซึ่งยึดครองพื้นที่ผืนใหญ่อยู่ทั้งในซีเรียและอิรัก อีกทั้งประกาศตัวเป็นผู้จัดส่งพวกผู้ก่อการร้ายเข้าโจมตีก่อเหตุในเมืองใหญ่ๆ ของยุโรป อย่างกรุงปารีสในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และกรุงบรัสเซลส์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
สำหรับคำกล่าวเรื่องการเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯ ในซีเรียปรากฏอยู่ในคำปราศรัยของโอบามาในเมืองฮันโนเวอร์, เยอรมนี ว่าด้วยความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างสองฟากฝั่งแอตแลนติก ซึ่งก็คือสหรัฐฯ กับยุโรป ที่ถือเป็นคำปราศรัยสำคัญในการเยือนยุโรปของประมุขทำเนียบขาวเที่ยวนี้
ทั้งนี้ โอบามาได้กล่าวยกย่องความคืบหน้าของบรรดาพันธมิตรองค์การนาโต้ ซึ่งชาติสมาชิกสำคัญได้แก่สหรัฐฯ กับประเทศยุโรปตะวันตก ในการผลักดันพวกไอเอสให้ถอยหลังกลับ โดยที่เขาได้เรียกไอเอสว่า เป็น “ภัยคุกคามเร่งด่วนที่สุดต่อประเทศชาติของพวกเรา”
“สมาชิกจำนวนน้อยของกองทหารรบพิเศษของอเมริกันเวลานี้ได้เข้าไปอยู่ในภาคพื้นดินของซีเรียอยู่แล้ว และความเชี่ยวชาญของพวกเขามีความสำคัญยิ่งยวดในขณะที่กองกำลังท้องถิ่นพยายามผลักดันพวกไอซิลให้ถอยออกไปจากพื้นที่สำคัญๆ” เขากล่าว ทั้งนี้ ไอซิล (ISIL) ตลอดจนไอซิส (ISIS) ต่างเป็นอักษรย่อชื่อของกลุ่มไอเอส
“ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความสำเร็จดังกล่าว ผมจึงได้อนุมัติให้ส่งบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ เพิ่มเติมในจำนวนไม่เกิน 250 นายเข้าไปประจำในซีเรีย ในจำนวนนี้จะมีทหารรบพิเศษด้วย เพื่อรักษาโมเมนตัมนี้เอาไว้” โอบามาบอก
“พวกเขาไม่ได้กำลังจะเป็นผู้นำในการสู้รบทางภาคพื้นดิน แต่พวกเขาจะแสดงบทบาทสำคัญมากในการจัดการฝึกอบรมในการช่วยเหลือกองกำลังท้องถิ่น ขณะที่กองกำลังท้องถิ่นเหล่านี้ดำเนินการผลักดันพวกไอซิลให้ถอยกลับต่อไปอีก
“พวกผู้ก่อการร้ายเหล่านี้จะต้องได้รับบทเรียนอย่างเดียวกับคนอื่นๆ ก่อนหน้าพวกเขา ซึ่งก็คือ : ความเกลียดชังของพวกคุณไม่มีทางเอาชนะประเทศชาติของพวกเรา ซึ่งสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการพิทักษ์ปกป้องวิถีชีวิตของพวกเรา”
ประมาณกันว่า ด้วยจำนวนทหารที่เพิ่มเติมขึ้นนี้จะทำให้สหรัฐฯ มีกำลังอยู่ในซีเรียรวมราวๆ 300 นาย และการตัดสินใจเช่นนี้ของโอบามาดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มมากขึ้นในความสามารถของ “กองกำลังท้องถิ่นต่างๆ” ซึ่งสหรัฐฯ หนุนหลังอยู่ในการสู้รบกับพวกไอเอส
ท่ามกลางผู้ฟังการปราศรัยของเขาซึ่งมีนายกรัฐมนตรีแมร์เคิลของเยอรมนีรวมอยู่ด้วย โอบามายังกล่าวเรียกร้องยุโรปและบรรดาพันธมิตรนาโต้ให้แสดงบทบาทมากขึ้นอีกในการสู้รบกับพวกไอเอส
“ถึงแม้บรรดาประเทศยุโรปจะได้สร้างคุณูปการอันสำคัญในการต่อสู้ปราบปรามพวกไอซิล แต่ยุโรป และนาโต้ก็ยังคงสามารถทำอะไรได้มากขึ้นอีก”
“ในซีเรียและอิรัก เรายังจำเป็นต้องได้ชาติต่างๆ มากกว่านี้ที่จะสร้างคุณูปการให้แก่การรณรงค์ต่อสู้ของพวกเขา เรายังจำเป็นต้องได้ชาติต่างๆ มากกว่านี้ที่จะสร้างคุณูปการในเรื่องผู้ฝึกสอน เพื่อช่วยกันสร้างกองกำลังท้องถิ่นในอิรัก เรายังจำเป็นต้องได้ชาติต่างๆ มากกว่านี้เพื่อสร้างคุณูปการในด้านการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่อิรัก เพื่อให้อิรักสามารถทำให้พื้นที่ซึ่งได้รับการปลดปล่อยแล้วกลับมีเสถียรภาพ และทำลายวงจรแห่งลัทธิสุดโต่งอันเต็มไปด้วยความรุนแรง เพื่อทำให้พวกไอซิลไม่สามารถกลับคืนมาได้อีก” เขาบอก
ก่อนหน้าโอบามาประกาศเพิ่มทหารในซีเรียคราวนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ก็เพิ่งแถลงเพิ่มทหารขึ้นอีกราว 200 นายเข้าไปในอิรัก โดยทหารเหล่านี้จะมีหน้าที่หลักในการให้คำปรึกษาแก่กองทหารอิรักเกี่ยวกับการสู้รบกับพวกไอเอส
กลับคืนสู่การตกลงหยุดยิง
เมื่อวันอาทิตย์ (24) โอบามายังได้กล่าวเรียกร้องให้ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบขัดแย้งในซีเรีย ซึ่งไม่ใช่พวกนักรบญิฮัดสุดโต่ง แต่ครอบคลุมถึงระบอบปกครองของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้เป็นพันธมิตรของรัสเซีย ให้หวนกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา และ “กลับคืนสู่” ข้อตกลงหยุดยิงที่มีนานาชาติเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย
“ผมได้พูดจากับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน เมื่อต้นอาทิตย์ที่แล้ว เพื่อพยายามทำให้แน่ใจว่าเราจะสามารถกลับคืนสู่การยุติความเป็นปรปักษ์กัน” โอบามาบอก
คำพูดของโอบามาคราวนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณอันชัดเจนที่สุดในเวลานี้ว่าทำเนียบขาวเชื่อว่าข้อตกลงหยุดยิงได้พังครืนลงเสียแล้ว ในเมื่อทั้งระบอบปกครองซีเรียและกลุ่มกบฏต่างทำการสู้รบกันใหม่ ซึ่งมีรายงานว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 26 รายในวันอาทิตย์ (24)
ภายหลังการประกาศสงบศึกระหว่างรัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาด กับพวกกบฏซีเรียฝ่ายที่ไม่ใช่นักรบญิฮัด ผ่านพ้นไปได้ 8 สัปดาห์ ความรุนแรงก็กลับไต่ระดับสูงขึ้นอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรอบๆ เมืองอะเลปโป ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตไปหลายสิบคนจากการโจมตีทิ้งระเบิดทางอากาศของฝ่ายรัฐบาลและจากจรวดของฝ่ายกบฏ
การสู้รบที่กลับรุนแรงขึ้นมาใหม่ รวมทั้งการเจรจาสันติภาพในเจนีวาซึ่งอยู่ในอาการชะงักงัน กลายเป็นการบั่นทอนความหวังที่ว่าจะสามารถทำความตกลงได้อย่างรวดเร็วเพื่อยุติการขัดแย้งสู้รบในซีเรียที่ดำเนินมา 5 ปีแล้ว ซึ่งได้สร้างความหายนะหนักหน่วงให้แก่ประเทศนี้ รวมทั้งยังก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้และในยุโรป
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ ของรัสเซีย ได้ออกมากล่าวว่า เรื่องที่การหยุดยิงและการเจรจาสันติภาพซีเรียไม่มีความก้าวหน้านั้น ส่วนหนึ่งเป็นความผิดของฝ่ายสหรัฐฯ
“เราได้ทำความตกลงกับฝ่ายอเมริกันเอาไว้ว่าพวกเขาจะใช้อิทธิพลของพวกเขาต่อกลุ่ม “ฝ่ายค้านที่ดี” เหล่านี้ และให้กลุ่มเหล่านี้ถอนตัวออกไป เพื่อที่จะได้ไม่มีใครคอยขวางกั้นการทำลายกลุ่มผู้ก่อการร้าย” ลาฟรอฟบอก
“แต่ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีการทำอะไรเลยในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา”
โอบามายังยืนยันไม่ส่งทหารภาคพื้นดินเข้าซีเรีย
ความขัดแย้งในซีเรียซึ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนมีนาคม 2011 โดยเกิดการประท้วงต่อต้านระบอบปกครองอัสซาดอย่างกว้างขวางขึ้นในซีเรียนั้น นับแต่นั้นได้บานปลายออกไปกลายเป็นสงครามที่มีแนวรบหลายด้านและการสู้รบระหว่างหลายๆ ฝ่ายอย่างสลับซับซ้อน โดยประมาณการกันว่าได้สังหารคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 270,000 รายแล้ว และดึงเอามหาอำนาจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพัน
ในสหรัฐฯ นั้นมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้โอบามาเพิ่มบทบาทการแทรกแซงของสหรัฐฯ เพื่อยุติการนองเลือดเช่นนี้ แรงกดดันนี้มีทั้งที่เนื่องมาจากการรณรงค์หาเสียงอย่างเผ็ดร้อนเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสหรัฐฯ เอง และจากพวกชาติพันธมิตรสหรัฐฯ ในยุโรป ซึ่งต้องการยุติวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยไหลบ่าเข้าไปยังทวีปของพวกเขา
พวกที่วิพากษ์วิจารณ์โอบามาหลายต่อหลายคนเรียกร้องให้สหรัฐฯ สร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมาในซีเรีย ทว่าโอบามายืนกรานปฏิเสธ โดยบอกว่าหากจะทำเช่นนั้นให้สำเร็จ ในทางปฏิบัติแล้วสหรัฐฯ ก็จะต้องส่งทหารเข้าไปยึดครองพื้นที่ขนาดใหญ่ในซีเรียเอาไว้นั่นเอง
โอบามาซึ่งขึ้นสู่อำนาจโดยประกาศถอนกำลังทหารอเมริกันออกจากอิรักและอัฟกานิสถานนั้น ยังคงมีจุดยืนอันหนักแน่นที่คัดค้านไม่ให้สหรัฐฯ ติดหล่มจมลงสู่สงครามภาคพื้นดินในโลกมุสลิมอีกสมรภูมิหนึ่ง
ระหว่างการให้สัมภาษณ์วิทยุโทรทัศน์บีบีซี ที่นำออกอากาศเผยแพร่ในวันอาทิตย์ (24) โอบามากล่าวย้ำว่า “มันจะเป็นความผิดพลาดสำหรับสหรัฐฯ หรือสำหรับสหราชอาณาจักร หรือสำหรับรัฐต่างๆ ของฝ่ายตะวันตก ที่จะรวมตัวกันส่งกำลังทหารภาคพื้นดินเข้าไป และโค่นล้มระบอบปกครองอัสซาด”
เขายืนยันว่าการใช้กำลังทหารเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งในซีเรียได้ พร้อมกันนั้นเขาก็เรียกร้องให้ทุกๆ ฝ่าย “นั่งลงที่โต๊ะเจรจา” และพยายามต่อรองกันเพื่อให้สามารถตกลงกันในเรื่องการเปลี่ยนผ่านอำนาจในซีเรีย