(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Putin surveys Syrian situation with optimism
By M.K. Bhadrakumar
18/03/2016
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวปราศรัยเมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) แสดงความพอใจมากต่อผลงานต่างๆ ของกองทหารหมีขาวในซีเรียที่กระทำได้ภายในเวลาไม่ถึง 6 เดือน พร้อมกับประกาศให้ความสนับสนุนอย่างไม่มีกั๊กต่อประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย รวมทั้งกล่าวเตือนตุรกีและซาอุดีอาระเบีย อย่าได้คิดว่าการถอนทหารของรัสเซียจะกลายเป็นโอกาสให้พวกเขารุกคืบเข้าไปในซีเรียอีกครั้ง
เมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เลือกท้องพระโรงเซนต์จอร์จ (St George Hall) ในมหาราชวังเครมลิน (Grand Kremlin Palace) ในกรุงมอสโก เป็นที่กล่าวคำปราศรัยต่อประชาชนชาวรัสเซียในหัวข้อสุดฮอตว่าด้วยการถอนทหารออกมาจากซีเรีย การเลือกสรรเช่นนี้มีนัยทางสัญลักษณ์อยู่มากทีเดียว ท้องพระโรงเซนต์จอร์จแห่งนี้เป็นทั้งสถานที่ประกาศเกียรติคุณของกองทัพรัสเซีย, ทั้งมีความหรูหราสง่างาม, และมีบรรยากาศอันขรึมขลังในเวลาเดียวกัน ณ ท้องพระโรงแห่งนี้เอง นามของเหล่าอัศวินแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ดิ ออร์เดอร์ ออฟ เซนต์ จอร์จ” (the Order of St. George) ซึ่งพระจักรพรรดินีแคเธอรีนที่ 2 (Empress Catherine II) ทรงสถาปนาขึ้นในปี 1769 ถูกจารึกไว้ด้วยอักษรสีทองบนแผ่นหินอ่อนที่ประดับอยู่ตามผนังและตามเสา
ปูตินเน้นย้ำว่าช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้มาถึงแล้ว เป็นช่วงเวลาแห่งการส่งสัญญาณว่ารัสเซียในยุคหลังโซเวียต ได้ก้าวผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทหารที่น่าเกรงขามรายหนึ่งบนพื้นพิภพนี้แล้ว น่าสนใจมากทีเดียวที่ในอีก 1 วันต่อมา ปูตินยังเดินทางไปแหลมไครเมีย ใน “การเยือนพร้อมกับการปฏิบัติงาน” เพื่อตรวจเยี่ยมงานก่อสร้างสะพานข้ามทะเลความยาว 19 กิโลเมตร ซึ่งพาดข้ามช่องแคบเคิร์ช (Kerch Strait) ที่เกาะทุซลา (Tuzla Island) ทำให้เชื่อมแหลมแห่งนี้เข้ากับรัสเซีย โดยจะไม่ต้องใช้เส้นทางบกซึ่งต้องผ่านยูเครน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คำปราศรัยของปูตินเมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) ในพิธีประกาศเกียรติยศของเหล่าทหารรัสเซียผู้สร้างชื่อเสียงโดดเด่นให้พวกเขาเองในการปฏิบัติการที่ซีเรียคราวนี้ มุ่งหมายที่จะส่งข้อความไปถึงผู้ฟังรวม 3 กลุ่ม ได้แก่ สาธารณชนชาวรัสเซีย, เหล่าตัวแสดงสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในการสู้รบขัดแย้งที่ซีเรีย, และประชาคมระหว่างประเทศ
ท้องพระโรงเซนต์จอร์จเป็นสถานอันขรึมขลังน่าเลื่อมใสที่กระตุ้นย้ำเตือนความทรงจำในจิตวิญญาณของชาวรัสเซีย และข้อความที่ปูตินส่งออกมาก็ตรงไปตรงมา เมื่อเขากล่าวว่า “การดำรงคงอยู่ของรัสเซียที่เป็นเอกราชและมีอธิปไตย” จักไม่อาจเป็นไปได้เลยหากปราศจากการสร้าง “กองทัพบกและกองทัพเรือสมัยใหม่ที่พร้อมรบและทรงประสิทธิภาพ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การพัฒนาเศรษฐกิจกำลังอยู่ใน “ภาวะเงื่อนไขที่สลับซับซ้อน”
ปูตินยืนยันว่า การปฏิบัติการในซีเรียพิสูจน์ให้เห็นว่า กองทัพรัสเซียนั้น “เข้มแข็ง, ทันสมัย, และประกอบอาวุธชั้นดีครบครัน ขณะที่นักรบของเราก็แน่วแน่มั่นคง, ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีและแข็งแกร่ง, สามารถที่จะประกอบภารกิจขนาดใหญ่อันสลับซับซ้อนที่สุดให้ลุล่วงไปได้” ปูตินบอกอีกว่า การปฏิบัติการในซีเรียนั้น “สาธิตให้เห็นถึงคุณภาพที่เพิ่มสูงขึ้นของกองทัพรัสเซีย” ขณะที่ “อาวุธยุทโธปกรณ์ล่าสุดของรัสเซียก็ผ่านการทดสอบ”
จากจุดนี้สิ่งต่างๆ จึงมีแต่จะต้องดียิ่งขึ้นไป เขากล่าวเสริมด้วยทัศนะมุมมองทางประวัติศาสตร์ว่า “เราควรต้องจดจำบทเรียนต่างๆ ของประวัติศาสตร์ รวมทั้งเหตุการณ์อันน่าเศร้าของช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 และมหาสงครามรักชาติ (Great Patriotic war จากข้อมูลใน Wikipedia คำๆ นี้หมายถึงการสู้รบต่างๆ ในแนวรบด้านตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่สำคัญแล้วเป็นการทำศึกกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับนาซีเยอรมนีและพันธมิตร ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 1941 ถึง 9 พฤษภาคม 1945 –ผู้แปล) ราคาที่เราต้องจ่ายออกไปเนื่องจากความผิดพลาดในการสร้างกองทัพและในการวางแผนตลอดจนการขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างควรต้องกระทำให้เสร็จสิ้นทันเวลา ในขณะที่ความอ่อนแอ, การทอดทิ้งเพิกเฉย, และการละเลย คือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายอยู่เสมอ”
ปูตินยังแสดงให้ผู้ฟังภายในประเทศของเขา มองเห็นความชอบธรรมมีเหตุมีผลของค่าใช้จ่ายทางการเงินในการปฏิบัติการของฝ่ายรัสเซียในซีเรีย และดังนั้นก็ยิ่งผนึกรวมศูนย์มติมหาชน ซึ่งก็ให้ความสนับสนุนอย่างท่วมท้นล้นหลามอยู่แล้วต่อนโยบายการต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคงของเขา ในเวลาเดียวกันนั้น ด้วยสายตาที่จับจ้องมองไปยังความตึงเครียดซึ่งมีอยู่กับฝ่ายตะวันตก เขาก็กำลังดึงความสนใจมายังสมรรถนะอันชวนคร้ามเกรงของกองกำลังทหารตามแบบแผน (นั่นคือไม่ใช่กองกำลังทางนิวเคลียร์) ของรัสเซียในทุกวันนี้
แน่นอนทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐฯแล้ว ทั้งหมดเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามอันน่าอับอายขายหน้าอย่างยิ่งบางประการขึ้นมา สมมุติฐานทั้งหมดทั้งสิ้นของสหรัฐฯนั้นมีอยู่ว่า ปูตินได้กระทำความผิดพลาดอย่างร้ายแรงแล้วในการเข้าไปแทรกแซงในซีเรีย ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นบ่อโคลนดูดอย่างไม่มีอะไรยับยั้งได้ และในที่สุดแล้วจะสูบเลือดสูบเนื้อเศรษฐกิจของรัสเซียไปจนเหือดแห้ง อีกทั้งในทางการเมืองก็จะทำลายฐานสนับสนุนภายในประเทศของเขา แต่มาถึงเวลานี้ สมมุติฐานดังกล่าวช่างดูโง่เขลาสิ้นดี
รัสเซียกลับสามารถแสดงให้เห็นแล้วว่า ด้วยงบประมาณเพียงแค่ราวๆ 460 ล้านดอลลาร์ (ซึ่งดึงเอามาจากงบประมาณในโครงการฝึกอบรมทางทหารหลายๆ โครงการ) พวกเขาก็สามารถประสบความสำเร็จในสิ่งต่างๆ มากมายโดยใช้เวลาไม่ถึง 6 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ตามข้อมูลตัวเลขของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเองนั้น การปฏิบัติการของสหรัฐฯเพื่อต่อสู้ปราบปรามกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) เมื่อคำนวณถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ได้ใช้จ่ายเงินทองของผู้เสียภาษีชาวอเมริกันไปแล้วเป็นจำนวนมหึมาถึง 5,500 ล้านดอลลาร์แล้ว หากคิดเฉลี่ยเป็นรายวันก็จะตกวันละ 11.2 ล้านดอลลาร์ (แถมงบประมาณเหล่านี้ยังไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับโปรแกรมที่สหรัฐฯจัดการฝึกอบรมพวกกบฏในซีเรีย ซึ่งได้รับงบประมาณใช้จ่ายมา 500 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการเพิ่มเติมจาก 42 ล้านดอลลาร์ที่เพนตากอนได้ใช้ไปในการจัดตั้งโปรแกรมนี้ขึ้นมา ลงท้ายแล้วเพนตากอนกำลังใช้จ่ายเงิน 384 ล้านดอลลาร์เพื่อฝึกอบรมนักรบกบฎซีเรียซึ่งมีอยู่เป็นจำนวน 180 คน (เฉลี่ยแล้วเท่ากับใช้เงิน 2.13 ล้านดอลลาร์ต่อนักรบ 1 คน) ให้ต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม ก่อนที่จะยกเลิกโปรแกรมนี้ไป)
ตุรกี-ซาอุดีฯ อย่าคิดว่าจะได้รุกคืบกลับเข้าไปในซีเรียอย่างหวานๆ
ช่วงของคำปราศรัยที่ปูตินประเมินสถานการณ์ทางการเมือง-การทหารในซีเรีย ต้องถือเป็นหัวข้อโดดเด่นที่สุดสำหรับผู้ฟังที่เป็นประชาคมระหว่างประเทศ เขากล่าวยืนยันว่า “เราได้เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่กองทัพของพวกเขา (กองทัพซีเรีย) ซึ่งในเวลานี้พวกเขามีความสามารถไม่เพียงแค่ยันพวกผู้ก่อการร้ายเอาไว้ได้เท่านั้น แต่ยังสามารถดำเนินปฏิบัติการโจมตีพวกเหล่านี้ได้ด้วย กองทัพซีเรียสามารถที่จะมีความริเริ่มในทางยุทธศาสตร์ได้แล้ว”
ปูตินยังออกปากให้ความสนับสนุนอย่างไม่มีกั๊กแก่ระบอบปกครองซีเรีย เขากล่าวว่า เขา “ได้แจ้ง” ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ล่วงหน้าเอาไว้แล้วเกี่ยวกับแผนการถอนทหารออกไป และร่วมมือประสานงานในเรื่องนี้กับอัสซาด รวมทั้งดำเนินการเรื่องนี้โดยได้รับความสนับสนุนจากประธานาธิบดีซีเรียผู้นี้ ปูตินเน้นย้ำว่ารัสเซียจะยังคงให้ความสนับสนุนซีเรียอย่างต่อเนื่อง โดยที่จะเป็นความสนับสนุน “ที่ครอบคลุมรอบด้าน” มีทั้ง “ความช่วยเหลือทางการเงิน, ซัปพลายด้านอาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ, ความช่วยเหลือในด้านการฝึกอบรมและการสร้างกองทัพซีเรีย, ความสนับสนุนในด้านการตรวจการณ์สอดแนม, และความช่วยเหลือแก่กองบัญชาการทหารในด้านการวางแผนปฏิบัติการต่างๆ”
เห็นได้อย่างชัดเจนทีเดียว ตรงนี้คือการส่งข้อความไปถึงตุรกีและซาอุดีอาระเบียว่า พวกเขาควรที่มองเห็นจารึกที่สลักหนักแน่นอยู่บนกำแพง และเกิดความตระหนักมองเห็นความเป็นจริงว่า ความฝันใดๆ ที่จะฉกฉวยความริเริ่มทางการทหารกลับคืนมานั้น จะยังคงเป็นฝันเปียกอยู่เหมือนเดิม ในทางเป็นจริงแล้ว เขาทำนายว่าซีเรียจะเปิดยุทธการทางทหารเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งคาดการณ์ว่าจะสามารถยึดเมืองพัลไมรา (Palmyra) กลับคืนมาจากพวกไอเอสในระยะเวลาอันใกล้มากๆ นี้
น่านฟ้าของซีเรียจะยังคงเป็นอาณาบริเวณที่ตุรกีเข้ามาไม่ได้ และมอสโกมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะรักษาดุลทางทหารชนิดที่ไม่ยอมเปิดทางให้เกิดการแปรเปลี่ยนไปในทางเป็นผลลบต่อกองกำลังของฝ่ายรัฐบาล เขากล่าวเตือนตุรกีว่ามอสโกยังคงสามารถใช้ทางเลือกที่จะเพิ่มทรัพย์สินทางทหารในซีเรียขึ้นมาใหม่ โดย “ภายในเวลาเพียงแค่เป็นชั่วโมง ก็จะมีขนาดซึ่งจำเป็นสำหรับสถานการณ์พิเศษ และก็จะใช้ทางเลือกทุกๆ อย่างที่มีให้เลือกใช้ได้” มอสโกยังคำรามเตือนอังการาแบบกระทบไปถึงฝ่ายอเมริกันว่า “ระบบป้องกันทางอากาศของเราจะถูกใช้เล่นงานเป้าหมายใดๆ ก็ตามที่เราพิจารณาเห็นว่ากำลังคุกคามบุคลากรด้านการป้องกันของรัสเซีย”
มีความสำคัญมากที่จะต้องชี้เอาไว้ว่า ในที่นี้ปูตินได้ทำการแยกแยะด้วยความระมัดระวัง โดยที่ระบุว่า “ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์และเป็นไปในทางบวก” กับสหรัฐอเมริกา คือหนึ่งในความสำเร็จอันสำคัญที่รัสเซียได้รับมาในช่วงหลังๆ นี้ เขากล่าวว่า “เราได้ร่วมกับฝ่ายอเมริกันในการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพสำหรับป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางอากาศขึ้นมา”
แน่นอนทีเดียวว่า วังเครมลินมองด้วยความพอใจในการที่รัสเซียกับอเมริกามีศักยภาพที่จะร่วมมือกันได้ในซีเรีย ในคำปราศรัยคราวนี้ของเขา ไม่มีเลยสักครั้ง แม้กระทั่งในลักษณะอ้อมๆ ที่จะมีนัยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ต่อนโยบายว่าด้วยซีเรียของคณะบริหารโอบามา
ในทำนองเดียวกันและอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ปูตินก็ไม่ได้เอ่ยอ้างพาดพิงถึงกลุ่มฮีซบอลเลาะห์หรืออิหร่าน มอสโกไม่ได้รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณฝ่ายที่สามใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับความสำเร็จของการปฏิบัติการทางทหารในซีเรีย รวมทั้งไม่ได้ถือว่าตนเองกำลังกระทำการในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรระดับภูมิภาคใดๆ ทั้งนั้น ตรงนี้ควรจะเป็นข้อความสำคัญที่สามารถตัดตอนออกจากคำปราศรัยของปูตินครั้งนี้ ซึ่งปรากฏขึ้นไม่นานก่อนที่รัฐมนตรีต่างประเทศจอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ จะเดินทางไปยังรัสเซีย เพื่อเจรจาหารือถึงหนทางในการผลักดันนำพาการเจรจาสันติภาพซีเรียที่นครเจนีวา
เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา
Putin surveys Syrian situation with optimism
By M.K. Bhadrakumar
18/03/2016
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวปราศรัยเมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) แสดงความพอใจมากต่อผลงานต่างๆ ของกองทหารหมีขาวในซีเรียที่กระทำได้ภายในเวลาไม่ถึง 6 เดือน พร้อมกับประกาศให้ความสนับสนุนอย่างไม่มีกั๊กต่อประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย รวมทั้งกล่าวเตือนตุรกีและซาอุดีอาระเบีย อย่าได้คิดว่าการถอนทหารของรัสเซียจะกลายเป็นโอกาสให้พวกเขารุกคืบเข้าไปในซีเรียอีกครั้ง
เมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เลือกท้องพระโรงเซนต์จอร์จ (St George Hall) ในมหาราชวังเครมลิน (Grand Kremlin Palace) ในกรุงมอสโก เป็นที่กล่าวคำปราศรัยต่อประชาชนชาวรัสเซียในหัวข้อสุดฮอตว่าด้วยการถอนทหารออกมาจากซีเรีย การเลือกสรรเช่นนี้มีนัยทางสัญลักษณ์อยู่มากทีเดียว ท้องพระโรงเซนต์จอร์จแห่งนี้เป็นทั้งสถานที่ประกาศเกียรติคุณของกองทัพรัสเซีย, ทั้งมีความหรูหราสง่างาม, และมีบรรยากาศอันขรึมขลังในเวลาเดียวกัน ณ ท้องพระโรงแห่งนี้เอง นามของเหล่าอัศวินแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ดิ ออร์เดอร์ ออฟ เซนต์ จอร์จ” (the Order of St. George) ซึ่งพระจักรพรรดินีแคเธอรีนที่ 2 (Empress Catherine II) ทรงสถาปนาขึ้นในปี 1769 ถูกจารึกไว้ด้วยอักษรสีทองบนแผ่นหินอ่อนที่ประดับอยู่ตามผนังและตามเสา
ปูตินเน้นย้ำว่าช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้มาถึงแล้ว เป็นช่วงเวลาแห่งการส่งสัญญาณว่ารัสเซียในยุคหลังโซเวียต ได้ก้าวผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทหารที่น่าเกรงขามรายหนึ่งบนพื้นพิภพนี้แล้ว น่าสนใจมากทีเดียวที่ในอีก 1 วันต่อมา ปูตินยังเดินทางไปแหลมไครเมีย ใน “การเยือนพร้อมกับการปฏิบัติงาน” เพื่อตรวจเยี่ยมงานก่อสร้างสะพานข้ามทะเลความยาว 19 กิโลเมตร ซึ่งพาดข้ามช่องแคบเคิร์ช (Kerch Strait) ที่เกาะทุซลา (Tuzla Island) ทำให้เชื่อมแหลมแห่งนี้เข้ากับรัสเซีย โดยจะไม่ต้องใช้เส้นทางบกซึ่งต้องผ่านยูเครน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คำปราศรัยของปูตินเมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) ในพิธีประกาศเกียรติยศของเหล่าทหารรัสเซียผู้สร้างชื่อเสียงโดดเด่นให้พวกเขาเองในการปฏิบัติการที่ซีเรียคราวนี้ มุ่งหมายที่จะส่งข้อความไปถึงผู้ฟังรวม 3 กลุ่ม ได้แก่ สาธารณชนชาวรัสเซีย, เหล่าตัวแสดงสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในการสู้รบขัดแย้งที่ซีเรีย, และประชาคมระหว่างประเทศ
ท้องพระโรงเซนต์จอร์จเป็นสถานอันขรึมขลังน่าเลื่อมใสที่กระตุ้นย้ำเตือนความทรงจำในจิตวิญญาณของชาวรัสเซีย และข้อความที่ปูตินส่งออกมาก็ตรงไปตรงมา เมื่อเขากล่าวว่า “การดำรงคงอยู่ของรัสเซียที่เป็นเอกราชและมีอธิปไตย” จักไม่อาจเป็นไปได้เลยหากปราศจากการสร้าง “กองทัพบกและกองทัพเรือสมัยใหม่ที่พร้อมรบและทรงประสิทธิภาพ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การพัฒนาเศรษฐกิจกำลังอยู่ใน “ภาวะเงื่อนไขที่สลับซับซ้อน”
ปูตินยืนยันว่า การปฏิบัติการในซีเรียพิสูจน์ให้เห็นว่า กองทัพรัสเซียนั้น “เข้มแข็ง, ทันสมัย, และประกอบอาวุธชั้นดีครบครัน ขณะที่นักรบของเราก็แน่วแน่มั่นคง, ได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีและแข็งแกร่ง, สามารถที่จะประกอบภารกิจขนาดใหญ่อันสลับซับซ้อนที่สุดให้ลุล่วงไปได้” ปูตินบอกอีกว่า การปฏิบัติการในซีเรียนั้น “สาธิตให้เห็นถึงคุณภาพที่เพิ่มสูงขึ้นของกองทัพรัสเซีย” ขณะที่ “อาวุธยุทโธปกรณ์ล่าสุดของรัสเซียก็ผ่านการทดสอบ”
จากจุดนี้สิ่งต่างๆ จึงมีแต่จะต้องดียิ่งขึ้นไป เขากล่าวเสริมด้วยทัศนะมุมมองทางประวัติศาสตร์ว่า “เราควรต้องจดจำบทเรียนต่างๆ ของประวัติศาสตร์ รวมทั้งเหตุการณ์อันน่าเศร้าของช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 และมหาสงครามรักชาติ (Great Patriotic war จากข้อมูลใน Wikipedia คำๆ นี้หมายถึงการสู้รบต่างๆ ในแนวรบด้านตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่สำคัญแล้วเป็นการทำศึกกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับนาซีเยอรมนีและพันธมิตร ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 1941 ถึง 9 พฤษภาคม 1945 –ผู้แปล) ราคาที่เราต้องจ่ายออกไปเนื่องจากความผิดพลาดในการสร้างกองทัพและในการวางแผนตลอดจนการขาดแคลนอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างควรต้องกระทำให้เสร็จสิ้นทันเวลา ในขณะที่ความอ่อนแอ, การทอดทิ้งเพิกเฉย, และการละเลย คือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายอยู่เสมอ”
ปูตินยังแสดงให้ผู้ฟังภายในประเทศของเขา มองเห็นความชอบธรรมมีเหตุมีผลของค่าใช้จ่ายทางการเงินในการปฏิบัติการของฝ่ายรัสเซียในซีเรีย และดังนั้นก็ยิ่งผนึกรวมศูนย์มติมหาชน ซึ่งก็ให้ความสนับสนุนอย่างท่วมท้นล้นหลามอยู่แล้วต่อนโยบายการต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคงของเขา ในเวลาเดียวกันนั้น ด้วยสายตาที่จับจ้องมองไปยังความตึงเครียดซึ่งมีอยู่กับฝ่ายตะวันตก เขาก็กำลังดึงความสนใจมายังสมรรถนะอันชวนคร้ามเกรงของกองกำลังทหารตามแบบแผน (นั่นคือไม่ใช่กองกำลังทางนิวเคลียร์) ของรัสเซียในทุกวันนี้
แน่นอนทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐฯแล้ว ทั้งหมดเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามอันน่าอับอายขายหน้าอย่างยิ่งบางประการขึ้นมา สมมุติฐานทั้งหมดทั้งสิ้นของสหรัฐฯนั้นมีอยู่ว่า ปูตินได้กระทำความผิดพลาดอย่างร้ายแรงแล้วในการเข้าไปแทรกแซงในซีเรีย ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นบ่อโคลนดูดอย่างไม่มีอะไรยับยั้งได้ และในที่สุดแล้วจะสูบเลือดสูบเนื้อเศรษฐกิจของรัสเซียไปจนเหือดแห้ง อีกทั้งในทางการเมืองก็จะทำลายฐานสนับสนุนภายในประเทศของเขา แต่มาถึงเวลานี้ สมมุติฐานดังกล่าวช่างดูโง่เขลาสิ้นดี
รัสเซียกลับสามารถแสดงให้เห็นแล้วว่า ด้วยงบประมาณเพียงแค่ราวๆ 460 ล้านดอลลาร์ (ซึ่งดึงเอามาจากงบประมาณในโครงการฝึกอบรมทางทหารหลายๆ โครงการ) พวกเขาก็สามารถประสบความสำเร็จในสิ่งต่างๆ มากมายโดยใช้เวลาไม่ถึง 6 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ตามข้อมูลตัวเลขของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเองนั้น การปฏิบัติการของสหรัฐฯเพื่อต่อสู้ปราบปรามกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) เมื่อคำนวณถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ได้ใช้จ่ายเงินทองของผู้เสียภาษีชาวอเมริกันไปแล้วเป็นจำนวนมหึมาถึง 5,500 ล้านดอลลาร์แล้ว หากคิดเฉลี่ยเป็นรายวันก็จะตกวันละ 11.2 ล้านดอลลาร์ (แถมงบประมาณเหล่านี้ยังไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับโปรแกรมที่สหรัฐฯจัดการฝึกอบรมพวกกบฏในซีเรีย ซึ่งได้รับงบประมาณใช้จ่ายมา 500 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการเพิ่มเติมจาก 42 ล้านดอลลาร์ที่เพนตากอนได้ใช้ไปในการจัดตั้งโปรแกรมนี้ขึ้นมา ลงท้ายแล้วเพนตากอนกำลังใช้จ่ายเงิน 384 ล้านดอลลาร์เพื่อฝึกอบรมนักรบกบฎซีเรียซึ่งมีอยู่เป็นจำนวน 180 คน (เฉลี่ยแล้วเท่ากับใช้เงิน 2.13 ล้านดอลลาร์ต่อนักรบ 1 คน) ให้ต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม ก่อนที่จะยกเลิกโปรแกรมนี้ไป)
ตุรกี-ซาอุดีฯ อย่าคิดว่าจะได้รุกคืบกลับเข้าไปในซีเรียอย่างหวานๆ
ช่วงของคำปราศรัยที่ปูตินประเมินสถานการณ์ทางการเมือง-การทหารในซีเรีย ต้องถือเป็นหัวข้อโดดเด่นที่สุดสำหรับผู้ฟังที่เป็นประชาคมระหว่างประเทศ เขากล่าวยืนยันว่า “เราได้เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่กองทัพของพวกเขา (กองทัพซีเรีย) ซึ่งในเวลานี้พวกเขามีความสามารถไม่เพียงแค่ยันพวกผู้ก่อการร้ายเอาไว้ได้เท่านั้น แต่ยังสามารถดำเนินปฏิบัติการโจมตีพวกเหล่านี้ได้ด้วย กองทัพซีเรียสามารถที่จะมีความริเริ่มในทางยุทธศาสตร์ได้แล้ว”
ปูตินยังออกปากให้ความสนับสนุนอย่างไม่มีกั๊กแก่ระบอบปกครองซีเรีย เขากล่าวว่า เขา “ได้แจ้ง” ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ล่วงหน้าเอาไว้แล้วเกี่ยวกับแผนการถอนทหารออกไป และร่วมมือประสานงานในเรื่องนี้กับอัสซาด รวมทั้งดำเนินการเรื่องนี้โดยได้รับความสนับสนุนจากประธานาธิบดีซีเรียผู้นี้ ปูตินเน้นย้ำว่ารัสเซียจะยังคงให้ความสนับสนุนซีเรียอย่างต่อเนื่อง โดยที่จะเป็นความสนับสนุน “ที่ครอบคลุมรอบด้าน” มีทั้ง “ความช่วยเหลือทางการเงิน, ซัปพลายด้านอาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ, ความช่วยเหลือในด้านการฝึกอบรมและการสร้างกองทัพซีเรีย, ความสนับสนุนในด้านการตรวจการณ์สอดแนม, และความช่วยเหลือแก่กองบัญชาการทหารในด้านการวางแผนปฏิบัติการต่างๆ”
เห็นได้อย่างชัดเจนทีเดียว ตรงนี้คือการส่งข้อความไปถึงตุรกีและซาอุดีอาระเบียว่า พวกเขาควรที่มองเห็นจารึกที่สลักหนักแน่นอยู่บนกำแพง และเกิดความตระหนักมองเห็นความเป็นจริงว่า ความฝันใดๆ ที่จะฉกฉวยความริเริ่มทางการทหารกลับคืนมานั้น จะยังคงเป็นฝันเปียกอยู่เหมือนเดิม ในทางเป็นจริงแล้ว เขาทำนายว่าซีเรียจะเปิดยุทธการทางทหารเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งคาดการณ์ว่าจะสามารถยึดเมืองพัลไมรา (Palmyra) กลับคืนมาจากพวกไอเอสในระยะเวลาอันใกล้มากๆ นี้
น่านฟ้าของซีเรียจะยังคงเป็นอาณาบริเวณที่ตุรกีเข้ามาไม่ได้ และมอสโกมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะรักษาดุลทางทหารชนิดที่ไม่ยอมเปิดทางให้เกิดการแปรเปลี่ยนไปในทางเป็นผลลบต่อกองกำลังของฝ่ายรัฐบาล เขากล่าวเตือนตุรกีว่ามอสโกยังคงสามารถใช้ทางเลือกที่จะเพิ่มทรัพย์สินทางทหารในซีเรียขึ้นมาใหม่ โดย “ภายในเวลาเพียงแค่เป็นชั่วโมง ก็จะมีขนาดซึ่งจำเป็นสำหรับสถานการณ์พิเศษ และก็จะใช้ทางเลือกทุกๆ อย่างที่มีให้เลือกใช้ได้” มอสโกยังคำรามเตือนอังการาแบบกระทบไปถึงฝ่ายอเมริกันว่า “ระบบป้องกันทางอากาศของเราจะถูกใช้เล่นงานเป้าหมายใดๆ ก็ตามที่เราพิจารณาเห็นว่ากำลังคุกคามบุคลากรด้านการป้องกันของรัสเซีย”
มีความสำคัญมากที่จะต้องชี้เอาไว้ว่า ในที่นี้ปูตินได้ทำการแยกแยะด้วยความระมัดระวัง โดยที่ระบุว่า “ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์และเป็นไปในทางบวก” กับสหรัฐอเมริกา คือหนึ่งในความสำเร็จอันสำคัญที่รัสเซียได้รับมาในช่วงหลังๆ นี้ เขากล่าวว่า “เราได้ร่วมกับฝ่ายอเมริกันในการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพสำหรับป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางอากาศขึ้นมา”
แน่นอนทีเดียวว่า วังเครมลินมองด้วยความพอใจในการที่รัสเซียกับอเมริกามีศักยภาพที่จะร่วมมือกันได้ในซีเรีย ในคำปราศรัยคราวนี้ของเขา ไม่มีเลยสักครั้ง แม้กระทั่งในลักษณะอ้อมๆ ที่จะมีนัยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ต่อนโยบายว่าด้วยซีเรียของคณะบริหารโอบามา
ในทำนองเดียวกันและอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ปูตินก็ไม่ได้เอ่ยอ้างพาดพิงถึงกลุ่มฮีซบอลเลาะห์หรืออิหร่าน มอสโกไม่ได้รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณฝ่ายที่สามใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับความสำเร็จของการปฏิบัติการทางทหารในซีเรีย รวมทั้งไม่ได้ถือว่าตนเองกำลังกระทำการในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรระดับภูมิภาคใดๆ ทั้งนั้น ตรงนี้ควรจะเป็นข้อความสำคัญที่สามารถตัดตอนออกจากคำปราศรัยของปูตินครั้งนี้ ซึ่งปรากฏขึ้นไม่นานก่อนที่รัฐมนตรีต่างประเทศจอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ จะเดินทางไปยังรัสเซีย เพื่อเจรจาหารือถึงหนทางในการผลักดันนำพาการเจรจาสันติภาพซีเรียที่นครเจนีวา
เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา