เอเจนซีส์ – บริษัทยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์ของโลก “ซัมซุง” ออกมาปฎิเสธในข้อกล่าวหา “ปกปิดข้อมูลสำคัญ” กับพนักงานโรงงานสายการผลิตของบริษัทถึงรายละเอียดสารเคมีอันตรายที่บรรดาลูกจ้างเหล่านี้ต้องสัมผัสในระหว่างการทำงาน หลังจากครอบครัวของกลุ่มลูกจ้างออกมาแฉ มีคนงานซัมซุงเสียชีวิตไปแล้ว 76 คนเพราะสารเคมีร้ายแรงในระหว่างการทำงาน พบบริษัทเคยเสนอเงินก้อนโตถึง 1 พันล้านวอนแลกกับการปิดปากเงียบการเสียชีวิตของฮวาง ยู-มี( Hwang Yu-mi)อดีตลูกจ้างที่ป่วยด้วยโรคลูคีเมียในวัย 22 ปี
บีบีซี สื่ออังกฤษรายงานวันนี้(11 ส.ค)ว่า หลังจากรายงานพิเศษของเอพีออกมาเผยแพร่ในประเด็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ ซัมซุง ปกปิดข้อมูลสำคัญของสารเคมีในสายการผลิตของโรงงาน และทำให้พนักงานที่ได้รับต้องล้มป่วยด้วยโรคร้ายแรง รวมไปถึง โรคมะเร็ง และล่าสุดทำให้ทางซัมซุงออกมาปฎิเสธ
ทั้งนี้อัลญะซีเราะฮ์ สื่อกาตาร์รายงานเพิ่มเติมว่า บรรดาลูกจ้างบริษัทในเกาหลีใต้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ในส่วนของสายการผลิตเซิมิคอนดักเตอร์ และจอแอลซีดี โดยพบว่าโรคต่างๆที่ลูกจ้างโรงงานสายการผลิตเหล่านี้ล้มป่วยรวมไปถึง โรคลูคิเมีย โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคเอสแอลอี หรือที่รู้จักในไทยคือโรคพุ่มพวง และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โดยทางครอบครัวของบรรดาลูกจ้างซัมซุงต่างให้ข้อมูลว่า พบว่ามีกว่าร่วม 200 เคสที่พบว่าพนักงานซัมซุงเหล่านี้ต้องล้มป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ
ด้านปาร์ก มิน-ซุก( Park Min-Sook) อดีตลูกจ้างซัมซุงชาวเกาหลีใต้วัย 43 ปีที่ปัจจุบันรอดตายมาจากโรคร้ายแรง มะเร็งทรวงอก ได้เปิดเผยว่า “ในสถานการณ์ที่ชีวิตผู้คนต่างเป็นตัวประกัน ซัมซุงได้นำคนงานอายุน้อยจากต่างจังหวัดเข้ามา พร้อมกับทำเป็นว่าเงินเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง และใช้งานเด็กเหล่านี้เสมือนกับถ้วยกระดาษใช้แล้วทิ้ง” อัลญะซีเราะฮ์รายงาน
ส่วนฮวาง ซาง-กี( Hwang Sang-Gi) บิดาของฮวาง ยู-มี( Hwang Yu-mi) อดีตลูกจ้างโรงงานบริษัทซัมซุงที่เสียชีวิตด้วยโรคลูคีเมียในวัย 22 ปีได้เปิดเผยกับเอพีว่า ทางบริษัทซัมซุงได้เคยเสนอเงินด้วยตัวเลข 1 พันล้านวอน(914,000 ดอลลาร์) เพื่อแลกกับการทำให้เรื่องเงียบ “เป็นข้อเสนอที่ต้องการปฎิเสธการเสียชีวิตของลูกสาวเนื่องมาจากโรคที่เกิดจากการทำงาน และทำให้ผมไม่มีอำนาจในการลุกขึ้นสู้” ฮวางผู้เป็นพ่อกล่าวเปิดเผย ทั้งนี้ฮวางเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบอิสระโรงงานซัมซุงๆ
และในการปกปิดข้อมูลสำคัญของซัมซุงถูกอ้างอยู่ในรูปกฏหมายความลับทางการค้าเกาหลีใต้ เอพีชี้ในรายงานสอบสวนพิเศษ ซึ่งทางซัมซุงแถลงโต้ว่า "ความปลอดภัยของพนักงานถือเป็นสิ่งสูงสุดที่บริษัทคำนึง"
สื่ออังกฤษรายงานว่า กลุ่มครอบครัวของลูกจ้างบริษัทซัมซุงได้ให้ข้อมูลว่า มีคนงานซัมซุงเสียชีวิตไปแล้วถึง 76 คนเพราะสารเคมีร้ายแรงในระหว่างการทำงาน และเหยื่อผู้เสียหายอดีตลูกจ้างเหล่านี้ทั้งหมดต้องการการเปิดเผยข้อมูลเพื่อทำการเรียกร้องค่าตอบแทน
สื่อกาตาร์ชี้ว่า พบว่าผู้เสียชีวิตเหล่านี้ทั้ง 76 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตอยู่ในช่วงวัย 20 ปีทั้งสิ้น
โดยทางกลุ่มผู้เสียหายได้ชี้แจงต่อว่า บริษัทซัมซุงปกปิดข้อมูลสำคัญจากเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ภายใต้กฎหมายว่าด้วยความลับทางการค้า ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ทางบริษัทซัมซุงปฎิเสธอย่างหนักแน่น
ทั้งนี้สื่อบีบีซีวิเคราะห์ว่า การพิสูจน์ถึงความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่โยงไปถึงโรคที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะทางบริษัททุนข้ามชาติย่อมมีทีมทนายความที่เก่งกาจชี้ไปในประเด็นข้อสงสัยที่ว่าลูกจ้างโรงงานของบริษัทที่ล้มป่วยนั้น เกิดมาได้เช่นไร
และสำหรับในกรณีของซัมซุง ศาลปกครองเกาหลีใต้ได้ตัดสินเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้นว่า ถึงแม้อย่างน้อยลูกจ้างซัมซุง 2 รายที่ล้มป่วยนั้นยังไม่ชัดว่าเกิดขึ้นเพราะสิ่งใด แต่ทว่าสามารถประเมินได้ว่า คนเหล่านี้ได้รับสารเคมีพิษและรังสี และทำให้คำพิพากษาออกมาสั่งให้หน่วยงานสวัสดิการและค่าตอบแทนลูกจ้างเกาหลีใต้ต้องจ่ายค่าทดแทนให้เหยื่อเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตามบีบีซีชี้ว่า ศาลปกครองเกาหลีใต้ยังไม่เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างบริษัทซัมซุงและการล้มป่วยของลูกจ้างโรงงานบริษัท
อัลญะซีเราะฮ์รายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา มีลูกจ้างบริษัทซัมซุง 56 รายได้ยื่นร้องขอรับเงินทดแทนเนื่องมาจากปัญหาความปลอดภัยจากการทำงานจากรัฐบาลเกาหลีใต้ แต่ทว่ามีเพียงแค่ 10 รายเท่านั้นที่ได้รับเงินหลังจากที่ต้องใช้เวลายาวนานต่อสู้ในศาล และครึ่งหนึ่งของอีก 46 รายถูฏปฎิเสธ และอีกครึ่งหนึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
บีบีซีรายงานต่อว่า ภายใต้กฎหมายของเกาหลีใต้ บริษัทต่างๆไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญเพราะเป็นความลับทางการค้า แต่อย่างไรก็ตามทางบริษัทต้องประกาศให้ทราบโดยเปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีสารเคมีอันตรายหรือไม่
ทั้งนี้ซัมซุงกล่าวในแถลงการณ์ว่า "ข้อกล่าวหาที่อ้างว่า ทางบริษัทมีจุดประสงค์เพื่อปิดกั้นบรรดาลูกจ้างจากข้อมูลสำคัญของสารเคมีร้ายแรงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยในสถานประกอบการนั้นล้วนไม่เป็นความจริง”