xs
xsm
sm
md
lg

มังกรแอบซุ่มเสริมโรงเก็บเครื่องบินบนเกาะเทียม คาดใช้เป็นฐานโจมตีในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - กลุ่มคลังสมองในวอชิงตัน ระบุ ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดแสดงให้เห็นว่า จีนซุ่มเสริมความเข้มแข็ง ด้วยการเพิ่มโรงเก็บเครื่องบินบนเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ เชื่อเตรียมไว้สำหรับเครื่องบินทหารเพื่อเป็นฐานการโจมตี ขณะที่กระทรวงกลาโหมแดนมังกร ยืนยันคำเดิม สิ่งปลูกสร้างบนเกาะเทียมส่วนใหญ่มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านพลเรือนเป็นหลัก เว้นแต่มีความจำเป็นในการป้องกันทางทหาร

ศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (CSIS) ระบุว่า ภาพที่ถ่ายไว้เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมเผยให้เห็นโรงเก็บเครื่องบินที่สร้างบนแนวปะการังเฟียรี ครอสส์, ซูบี และ มิสชีฟ รีฟส์ ซึ่งอยู่บริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ และมีการจัดเตรียมไว้สำหรับเครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศจีน

รายงานของ CSIS ยังระบุว่า นอกจากการแวะลงจอดช่วงสั้น ๆ ที่ เฟียรี ครอสส์ ของเครื่องบินขนส่งทางทหารเมื่อต้นปีแล้ว ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ปักกิ่งนำเครื่องบินทางทหารไปประจำการณ์บนด่านหน้าเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม การเสริมความเข้มแข็งด้วยการเร่งก่อสร้างโรงเก็บสนามบินเพิ่มเติม บนเกาะเทียมทั้งสามเกาะ บ่งบอกถึงแนวโน้มที่ว่า สถานการณ์นี้กำลังจะเปลี่ยนแปลง

จีนนั้นอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้ามูลค่าปีละ 5 ล้านล้านดอลลาร์เกือบทั้งหมด ทำให้มีข้อพิพาทในการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนในบางส่วนกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย ไต้หวัน และ บรูไน

ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุด เผยแพร่ออกมาในเวลาเกือบหนึ่งเดือน หลังจากศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮก วินิจฉัยคัดค้านการอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือทะเลจีนใต้ แต่ทางปักกิ่งยืนกรานไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว

ด้านสหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนและประเทศอื่น ๆ ที่อ้างสิทธิ์ งดการสั่งสมกำลังในทะเลจีนใต้

จีนยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และวิจารณ์กลับว่า การเข้ามาลาดตระเวนและซ้อมรบของอเมริกาในภูมิภาคนี้ต่างหากที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น

ในวันอังคาร (9) กระทรวงกลาโหมแดนมังกร ตอบข้อซักถามผ่านทางโทรสาร ว่า จีนมีสิทธิอธิปไตยโดยปราศจากข้อโต้เถียงเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ และน่านน้ำใกล้เคียง

“จีนย้ำมาหลายครั้งว่า การก่อสร้างบนหมู่เกาะสแปรตลีย์ และแนวปะการังต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์หลากหลาย และตอบสนองความจำเป็นด้านพลเรือนทุกรูปแบบเป็นหลัก ยกเว้นแต่มีข้อกำหนดในการป้องกันทางทหารที่จำเป็น”

ความสัมพันธ์ในภูมิภาคนี้ ตึงเครียดขึ้นอีกครั้งนับจากการประกาศคำวินิจฉัยของศาลกรุงเฮกเป็นต้นมา

สื่อของทางการปักกิ่งรายงานเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (6) ว่า จีนส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินขับไล่ลาดตระเวนใกล้หมู่เกาะที่เป็นกรณีพิพาทแย่งชิงสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ขณะที่ญี่ปุ่นร้องเรียนว่า เรือจีนรุกล้ำน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนตะวันออกหลายครั้ง

เกรเกอรี โพลลิง ผู้อำนวยการแผนการริเริ่มด้านความโปร่งใสทางทะเลแห่งเอเชียของ CSIS บอกกับหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทมส์ ซึ่งเป็นสื่อรายแรกที่นำภาพถ่ายดาวเทียมนี้ออกเผยแพร่ ว่า มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นของสิ่งปลูกสร้างลักษณะโรงเก็บเครื่องบิน อยู่ในระดับที่เกินกว่าจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านพลเรือน

“โรงเก็บเครื่องบินเหล่านั้นจะเสริมความเข้มแข็งในการใช้เป็นฐานโจมตี” โพลลิง ฟันธง

รายงานของ CSIS ทิ้งท้ายว่า สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงหอคอยและสิ่งปลูกสร้างรูปหกเหลี่ยม ที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ถูกสร้างขึ้นบนเกาะเล็กเกาะน้อยเหล่านั้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น