รอยเตอร์ – จีนคำรามจะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ ย้ำมีสิทธิ์ประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศ ด้านสื่อแดนมังกรผสมโรงวิจารณ์ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรเป็น "หุ่นเชิด” ของมหาอำนาจนอกภูมิภาค หลังศาลแห่งกรุงเฮกวินิจฉัยว่า ปักกิ่งละเมิดอธิปไตยของฟิลิปปินส์ด้วยการข่มขู่คุกคามเรือ รวมทั้งโครงการประมงและน้ำมันแดนตากาล็อกในทะเลจีนใต้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12)
หนังสือพิมพ์พีเพิลส์ เดลี่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุในบทความหน้าหนึ่งฉบับวันพุธ (13) ว่า จีนจะดำเนินมาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดน สิทธิและผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศ
กรณีการร้องเรียนของฟิลิปปินส์ครั้งนี้ที่ครอบคลุมน่านน้ำที่อุดมด้วยทรัพยากรพลังงานและเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าสำคัญที่สุดของโลก ถือเป็นการทดสอบอำนาจของจีน รวมทั้งการเป็นปฏิปักษ์ทางเศรษฐกิจและกลยุทธ์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน
จีนวิจารณ์ในเอกสารปกขาวที่เผยแพร่เมื่อวันพุธว่า การอ้างอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ของฟิลิปปินส์ “ไร้เหตุผล” และมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ รวมทั้งยืนยันว่า เรือประมงของตนเป็นฝ่ายถูกล่วงละเมิดและโจมตีโดยเรือฟิลิปปินส์รอบหมู่เกาะสแปรตลีย์ที่เป็นข้อพิพาท
หลิว เจิ้นหมิน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของจีนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า จีนมีสิทธิ์ประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศเหนือทะเลจีนใต้ แต่จะประกาศหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับระดับภัยคุกคามที่เผชิญ และเสริมว่า จีนหวังที่จะฟื้นการเจรจากับฟิลิปปินส์
“เราหวังว่า ประเทศอื่นๆ จะไม่ใช้โอกาสนี้คุกคามจีน และหวังว่า ประเทศอื่นๆ สามารถร่วมแก้ไขปัญหากับจีน พบกันครึ่งทาง และรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ รวมทั้งไม่ทำให้น่านน้ำนี้กลายเป็นที่มาของสงคราม”
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แสดงความกังวลว่า จีนอาจตอบโต้คำวินิจฉัยของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรแห่งกรุงเฮก ด้วยการประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนใต้เหมือนที่เคยทำในทะเลจีนตะวันออกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
หลิวยังวิจารณ์คณะผู้พิพากษาของศาลกรุงเฮกว่า ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่เป็นคนเอเชีย ดังนั้น จึงไม่มีทางเข้าใจปัญหานี้ และไม่ยุติธรรมที่ปล่อยให้ผู้พิพากษาเหล่านี้พิจารณาปัญหาที่พวกเขาไม่เข้าใจ
โดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจีน-สหภาพยุโรป (อียู) ที่ปักกิ่งว่า เขาหวังว่า คำวินิจฉัยของศาลกรุงเฮกจะเป็นความเคลื่อนไหวที่ดีที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ค้างคาในทะเลจีนใต้
.
.
ด้านฟิลิปปินส์แสดงปฏิกิริยาอย่างระมัดระวังต่อคำวินิจฉัยที่ออกมาเมื่อวันอังคาร โดยเรียกร้องให้อดกลั้นและมีสติ กระนั้น เออร์เนสโต อาเบลลา โฆษกประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต เผยว่า บรรยากาศการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพุธค่อนข้างแช่มชื่น
เดลฟิน ลอเรนซานา รัฐมนตรีกลาโหม เผยว่า ได้พูดคุยกับแอช คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ก่อนที่ศาลอนุญาโตตุลาการฯ จะอ่านคำวินิจฉัย โดยคาร์เตอร์บอกว่า จีนรับปากกับอเมริกาว่า จะอดกลั้น และอเมริกาก็ให้คำรับรองแบบเดียวกัน รวมทั้งขอคำรับรองนี้จากฟิลิปปินส์
ชาร์ลส์ โฆเซ โฆษกกระทรวงกิจการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า อาจใช้คำวินิจฉัยนี้เป็นพื้นฐานในการเริ่มกระบวนการเจรจาซึ่งหวังว่า จะนำมาซึ่งการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างสันติในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ฟลอริน เทอร์นัล ฮิลเบย์ อดีตรองอธิบดีกรมอัยการและเป็นหนึ่งในทีมกฎหมายของฟิลิปปินส์ในกรณีการฟ้องร้องนี้ ยอมรับว่า วิธีและกำหนดเวลาในการบังคับใช้คำตัดสินของศาลกรุงเฮกเป็นเรื่องที่ซับซ้อน
สแตรตฟอร์ บริษัทข่าวกรองระดับโลก ชี้ว่า ชาวประมงจีนหรือฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเป็นผู้ขัดขวางกระบวนการสันติภาพอันละเอียดอ่อนมากที่สุด
เมื่อวันพุธ หน่วยยามฝั่งญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์เข้าร่วมการจำลองการซ้อมกู้ภัยและรับมือทางการแพทย์นอกอ่าวมะนิลา ซึ่งเป็นบริเวณที่สองประเทศเรียกร้องให้ยกระดับความปลอดภัยทางทะเลและการต่อสู้กับอาชญากรและการปล้นสะดม ทั้งนี้ คาดว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะสร้างความขุ่นเคืองให้กับพญามังกร เนื่องจากญี่ปุ่นเองก็มีกรณีพิพาทด้านอธิปไตยกับจีนในทะเลจีนตะวันออก และปักกิ่งเตือนโตเกียวไม่ให้เข้าไปวุ่นวายกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้ ซุย เทียนไค เอกอัครราชทูตจีนประจำวอชิงตันยังกล่าวหาว่า สถานการณ์ตึงเครียดในภูมิภาคมีสาเหตุมาจากนโยบายปักหมุดเอเชียของอเมริกาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ล่าสุดระหว่างปราศรัยในที่ประชุมสถาบันยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ (CSIS) ในวอชิงตัน ซุยชี้ว่า กรณีการร้องเรียนต่อศาลอนุญาโตตุลาการฯ อาจบ่อนทำลายแรงจูงใจของประเทศต่างๆ ในการร่วมเจรจาและหารือเพื่อแก้ไขข้อพิพาท อันจะทำให้ความขัดแย้งบานปลายและอาจนำไปสู่การเผชิญหน้า
ในที่ประชุมเดียวกัน แดเนียล ไครเทนบริงค์ ที่ปรึกษาระดับสูงด้านนโยบายเอเชียของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่า อเมริกาไม่มีเจตนาจะปลุกปั่นสถานการณ์ในทะเลจีนใต้เพื่อเข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด แต่ต้องการให้มีการแก้ปัญหาอย่างสันติและสอดคล้องกับกฎหมายสากล
ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ได้ประกาศสถานที่ติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ THAAD ของสหรัฐฯ เพื่อรับมือการคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ท่ามกลางความไม่พอใจของปักกิ่ง ขณะที่เปียงยางขู่ตอบโต้ ส่วนประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวินของไต้หวัน ขึ้นเรือฟริเกตมุ่งหน้าสู่ทะเลจีนใต้ ซึ่งผู้นำไทเปกล่าวว่า เป็นการลาดตระเวนปกติเพื่อแสดงความมุ่งมั่นของชาวไต้หวันในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ
ทั้งนี้ นอกจากฟิลิปปินส์แล้ว จีนยังมีข้อพิพาทด้านดินแดนในทะเลจีนใต้กับเวียดนาม มาเลเซีย บรูไน รวมถึงไต้หวัน.
.
.
.