xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นจัดพิธีรำลึก 71 ปี ระเบิดปรมาณูถล่ม “ฮิโรชิมา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวญี่ปุ่นนับพันคนสวดมนต์รำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ ที่หน้าอนุสรณ์สถานสันติภาพเมืองฮิโรชิมา วันนี้ (6 ส.ค.)
เอเอฟพี - ชาวญี่ปุ่นหลายหมื่นคนเดินทางไปยังอนุสรณ์สันติภาพเมืองฮิโรชิมา วันนี้ (6 ส.ค.) เพื่อร่วมรำลึกเหตุการณ์ที่เมืองแห่งนี้เคยถูกทำลายล้างด้วยระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯ เมื่อ 71 ปีก่อน ขณะที่นายกเทศมนตรีของเมือง ได้กล่าวเรียกร้องให้ประชาคมโลกหยุดใช้อาวุธนิวเคลียร์ประหัตประหารซึ่งกันและกัน

พิธีรำลึกในปีนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือน หลังจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา กลายเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางมายังฮิโรชิมา ขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง เพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อชาวญี่ปุ่นนับแสนที่ตกเป็นเหยื่อนิวเคลียร์

ระเบิดปรมาณู “ลิตเติลบอย” ซึ่งถูกปล่อยจากเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-29 “อีโนลา เกย์” เมื่อเวลา 8.15 น. ของวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองฮิโรชิมา ถูกเผาผลาญด้วยไฟร้อนจัดถึง 4,000 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนพอที่จะหลอมเหล็กให้ละลาย

ผลจากระเบิดปรมาณูลูกแรก ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีและเจ็บป่วยตายในภายหลังรวมกันประมาณ 140,000 คน ซึ่งหลังจากนั้นอีกเพียง 3 วัน เมืองท่านางาซากิของญี่ปุ่น ก็ต้องประสบกับชะตากรรมไม่ต่างกัน และทำให้ญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 ส.ค. ปี 1945

คาซุมิ มัตสุอิ นายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิมา เอ่ยถึงการที่ โอบามา ได้มาเยือนเมืองแห่งนี้เมื่อวันที่ 27 พ.ค. และประกาศเจตนารมณ์สันติภาพระหว่างพิธีรำลึกอันสงบเงียบและขรึมขลัง

“การมาของเขาคือข้อพิสูจน์ว่า ประธานาธิบดี โอบามา ก็รู้สึกไม่ต่างจากชาวฮิโรชิมาทั้งหลาย ซึ่งมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะไม่อดทนกับอาวุธอันสุดแสนชั่วร้ายนี้”

“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อกำจัดอาวุธอันสุดแสนชั่วร้าย สิ่งซึ่งแสดงถึงความไร้มนุษยธรรมอย่างที่สุด ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกัน”

ทุกวันนี้นักวิจารณ์ยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่า การทิ้งระเบิดปรมาณูทั้ง 2 ลูก เป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการยุติสงครามจริงหรือไม่

นักประวัติศาสตร์บางคน ชี้ว่า การสูญเสียที่ฮิโรชิมา และ นางาซากิ ได้ช่วยชีวิตพลเมืองโลกอีกนับล้าน ๆ คน ที่อาจจะต้องตายหากกองทัพญี่ปุ่น สามารถเดินตามแผนรุกรานที่วางไว้ ในขณะที่นักวิจารณ์บางราย กลับมองว่า การยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบิดปรมาณูเข้าช่วย เพราะถึงอย่างไรเสีย กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่จะแพ้แน่นอนอยู่แล้ว

ชาวเมืองปลาดิบส่วนใหญ่ ยังรู้สึกว่า การที่สหรัฐฯ ใช้ระเบิดปรมาณูกับญี่ปุ่น เมื่อ 71 ปีที่แล้ว อาจเข้าข่ายก่อ “อาชญากรรมสงคราม” และเป็นความโหดร้ายป่าเถื่อน เนื่องจากเป้าหมายเป็นพลเรือนตาดำ ๆ อีกทั้งอาวุธมหาประลัยชนิดนี้ก็ไม่เคยถูกนำไปใช้ที่ไหนมาก่อน

อย่างไรก็ดี การถล่มญี่ปุ่นด้วยระเบิดปรมาณู ซึ่งสหรัฐฯ พัฒนาขึ้นแบบลับสุดยอด ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากชาวอเมริกันในยุคนั้นที่เบื่อหน่ายสงคราม และแม้จะผ่านมาแล้วกว่า 70 ปี แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อว่าสหรัฐฯ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง



กำลังโหลดความคิดเห็น