รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี สั่งปิดโรงเรียนนายร้อย พร้อมยึดกองทัพเข้าอยู่ใต้อำนาจของกระทรวงกลาโหม ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัฐบาล ในการเข้าควบคุมทหารแบบเบ็ดเสร็จ ภายหลังเกิดการก่อกบฏเมื่อกลางเดือนที่แล้ว
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ที่ประธานาธิบดี แอร์โดอัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันอาทิตย์ (31 ก.ค.) มีขึ้นหลังจากนายทหารกว่า 1,700 นาย หรือราว 40% ของนายทหารตำแหน่งพลเอกและพลเรือเอกถูกปลดและถอดยศในสัปดาห์ที่ผ่านมา ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องในความพยายามทำรัฐประหารแต่ล้มเหลวเมื่อวันที่ 15 - 16 กรกฎาคม
แอร์โดอันที่รอดพ้นจากการถูกจับและการลอบสังหารในคืนที่มีการปฏิวัติ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า กองทัพตุรกีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในนาโต (องค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ) ต้องการ “สายเลือดใหม่”
“กฤษฎีกาที่เรากำลังจัดเตรียมอยู่จะทำให้กองทัพเข้มแข็งขึ้น ผู้บัญชาการเหล่าทัพจะรายงานตรงต่อกระทรวงกลาโหม” แอร์โดอันให้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ (30 ก.ค.) พร้อมเสริมว่า จะตั้งมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ มาแทนโรงเรียนนายร้อยที่จะยุบ
ผู้นำตุรกียังบอกว่า ต้องการให้หน่วยข่าวกรองแห่งชาติ และผู้บัญชาการกองเสนาธิการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารอาวุโสที่สุด รายงานตรงต่อประธานาธิบดี ทว่า เรื่องนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและได้รับความเห็นชอบจากพรรคฝ่ายค้าน
ปัจจุบันทั้งผู้บัญชาการกองเสนาธิการและหน่วยข่าวกรองรายงานตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี การกำหนดให้อยู่ภายใต้การควบคุมของประธานาธิบดีจะสอดคล้องกับการผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ ที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ประธานาธิบดีมากขึ้นของแอร์โดอัน
แอร์โดอัน ยังเผยว่า นับจากเกิดการก่อกบฏ ได้จับกุมผู้เกี่ยวข้องไปทั้งหมด 10,137 คน
ตุรกีนั้นกล่าวหา เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาที่ลี้ภัยอยู่ในอเมริกา ว่า อยู่เบื้องหลังการกบฏ ทว่า เจ้าตัวปฏิเสธพร้อมประณามผู้ก่อกบฏ
กระนั้น อังการาเรียกร้องให้วอชิงตันส่งตัวกูเลนให้ ทว่า ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ยังคงยืนกรานว่า ตุรกีต้องแสดงหลักฐานชัดเจนว่ากูเลนสมรู้ร่วมคิดในการกบฏตามที่ถูกกล่าวหา
นับจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้ถูกควบคุมตัว ปลด หรือพักงานกว่า 60,000 คน ในแวดวงทหาร ตุลาการ ข้าราชการ และการศึกษา เนื่องจากสงสัยว่า พัวพันกับกูเลน
เมื่อวันเสาร์ พนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 56 คนถูกพักงาน โดยสำนักข่าวอนาโดลูของทางการตุรกี รายงานว่า ลูกจ้างรัฐที่ถูกปลดนับจากเหตุก่อกบฏจนถึงปัจจุบันมีจำนวนกว่า 66,000 คน ซึ่งรวมถึง 43,000 คน จากภาคการศึกษา
แอร์โดอัน ชี้ว่า กูเลนควบคุมเครือข่ายการศึกษา มูลนิธิ และธุรกิจทั้งในและนอกตุรกีมานานหลายทศวรรษ เพื่อสร้าง “รัฐขนาน” ในความพยายามเข้าควบคุมประเทศ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลตุรกีกำลังไล่กวาดล้างสถาบันการศึกษาและสถาบันนอกประเทศ นับจากมีความพยายามในการก่อรัฐประหาร ส่วนที่โซมาเลียปิดโรงเรียนสองแห่ง และโรงพยาบาลอีกแห่ง เนื่องจากเชื่อว่า โยงใยกับกูเลน นอกจากนี้ รัฐบาลในอีกหลายประเทศยังได้รับคำร้องขอคล้ายกันจากอังการา แม้ไม่ใช่ทุกประเทศที่ยินดีตอบสนองคำขอก็ตาม
ทางด้านบรรดาพันธมิตรตะวันตกต่างประณามความพยายามในการก่อรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกัน ก็วิจารณ์การกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างมโหฬารของอังการา
แอร์โดอันตอบโต้ด้วยการตำหนิคณะมนตรียุโรปและสหภาพยุโรป (อียู) ที่ไม่เดินทางเยือนตุรกี เพื่อแสดงความเห็นใจและการสนับสนุนหลังการกบฏ มิหนำซ้ำ ตะวันตกยังสนใจชะตากรรมของผู้ก่อกบฏมากกว่ายืนหยัดเคียงข้างรัฐบาลตุรกี
ทั้งนี้ โจเซฟ ดันฟอร์ด ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ มีกำหนดเยือนตุรกีในวันอาทิตย์
ขณะเดียวกัน บรรดาผู้นำยุโรปต่างกังวลว่า การผิดใจกับแอร์โดอัน อาจทำให้อังการายกเลิกข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่ทำไว้เมื่อเดือนมีนาคมในการช่วยสกัดคลื่นผู้อพยพเข้าสู่ยุโรป
ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์คูริเออร์ของออสเตรีย ว่า ความสำเร็จของข้อตกลงดังกล่าวเปราะบางอย่างยิ่ง เนื่องจากแอร์โดอันส่งสัญญาณมาหลายครั้งว่า ต้องการยกเลิกข้อตกลง
อนึ่ง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 ก.ค.) แอร์โดอันได้ประกาศยกเลิกการฟ้องร้องผู้ที่สบประมาทตนที่มีจำนวนถึงกว่า 1,800 คดี นับตั้งแต่เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2014 โดยให้เหตุผลว่า ต้องการสร้างความสามัคคีเพื่อต่อต้านความพยายามในการก่อกบฏ ทว่า ผู้สังเกตการณ์มองว่า อาจเป็นความพยายามเพื่อบรรเทาเสียงวิจารณ์จากตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า แอร์โดอันจะยกฟ้องหรือไม่ในกรณีของ แจน โบห์เมอร์มานน์ นักแสดงตลกเยอรมันที่ร่ายกลอนกล่าวหาผู้นำตุรกีสมสู่กับสัตว์ และชอบดูภาพอนาจารเด็กเมื่อต้นปี จนทำให้แอร์โดอันยื่นฟ้องต่ออัยการเยอรมนี