เอเอฟพี - ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี ออกมากล่าวหาสหภาพยุโรป (อียู) ว่าไม่จ่ายเงินช่วยเหลือตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงบรรเทาวิกฤตผู้ลี้ภัยระหว่างยุโรปกับตุรกี
อังการาและบรัสเซลส์ได้บรรลุข้อตกลงเมื่อเดือน มี.ค. โดยฝ่ายตุรกียอมที่จะให้ประเทศของตนเป็นที่รองรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่ล่องเรือไปถึงเกาะของกรีซ เพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านการเงิน และสิทธิพิเศษเดินทางเข้ายุโรปเสรีสำหรับพลเมืองตุรกี
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างยุโรปกับตุรกีเริ่มจะสั่นคลอน เมื่อรัฐบาลแอร์โดอันหันมาใช้มาตรการกวาดล้างและลงโทษสถานหนักต่อกลุ่มที่เขาเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา
แอร์โดอันระบุวานนี้ (25 ก.ค.) ว่า อียูสัญญาจะมอบความช่วยเหลือแก่ตุรกีเป็นมูลค่าถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จนถึงบัดนี้อังการาเพิ่งจะได้รับเงินมาแค่ 1-2 ล้านดอลลาร์
“รัฐบาล (ยุโรป) เหล่านั้นไม่มีสัจจะ” แอร์โดอันกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ ARD ของเยอรมนี
“เวลานี้มีผู้อพยพจากอิรักและซีเรีย 3 ล้านคนอยู่ในตุรกี... แต่อียูกลับไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับเราในเรื่องนี้”
แอร์โดอันประเมินว่า การเปิดประตูรับผู้ลี้ภัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรที่หนีภัยสงครามมาจากซีเรีย ทำให้ตุรกีต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสูงถึง 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สหภาพยุโรปตัดสินใจทำข้อตกลงกับตุรกีเพื่อยับยั้งคลื่นมนุษย์ที่หลั่งไหลเข้าไปตั้งหลักปักฐานในประเทศแถบยุโรปกว่า 1 ล้านคนในช่วงปีที่ผ่านมา
ปลายเดือนที่แล้ว บรัสเซลส์ประกาศว่ากระบวนการเจรจารับตุรกีเข้าเป็นสมาชิกอียูซึ่งชะงักงันมาระยะหนึ่งนั้นเริ่มมีความคืบหน้าไปอีกขั้น แต่แล้วทุกอย่างก็ต้องมาสะดุดเมื่อเกิดรัฐประหารที่ล้มเหลวขึ้นในตุรกี และ แอร์โดอัน ได้ตอบโต้ด้วยการสั่งกวาดล้างจับกุมพลเมืองมากกว่า 13,000 คน
ผู้นำตุรกีเรียกร้องให้ “ประหารชีวิต” พวกที่วางแผนก่อรัฐประหาร โดยอ้างว่า “ชาวตุรกีต้องการให้นำโทษประหารกลับมาใช้ใหม่” แม้ประเด็นนี้อาจทำให้อังการาต้องบาดหมางกับอียูก็ตาม
“ในฐานะรัฐบาล เราจำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน” แอร์โดอัน กล่าวเสริม
ตุรกีได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปตั้งแต่ปี 2004 เพื่อสร้างเงื่อนไขไปสู่การเป็นสมาชิกอียู