เอเอฟพี – กระแสเงินทุนเป็นหมื่นล้านแสนล้านดอลลาร์ไหลทะลักออกจากจีน ได้ชะลอตัวลงอย่างฮวบฮาบในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ตามข้อมูลตัวเลขของทางการที่เผยแพร่ออกมาในวันนี้ (21 ก.ค.) ถึงแม้เงินหยวนยังคงอยู่ในอาการอ่อนคงลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีเสน่ห์น้อยลงที่จะเข้าถือครองไว้ >
“แรงกดดันเงินทุนไหลออกข้ามพรมแดน ได้ผ่อนคลายลงแล้วอย่างช้าๆ” หวัง ชุนอิง ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้แก่สำนักงานบริหารแห่งรัฐด้านเงินตราต่างประเทศ (State Administration of Foreign Exchange หรือ SAFE) กล่าวในการแถลงสรุป
จากข้อมูลตัวเลขการซื้อขายเงินตราต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า ในไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) บรรดาแบงก์จีนได้ขายเงินตราต่างประเทศมากกว่าที่พวกเขารับซื้อเป็นจำนวน 49,000 ล้านดอลลาร์
หวังชี้ว่า ตัวเลขนี้ “ลดลงมาอย่างฮวบฮาบ” จากจำนวน 124,800 ล้านดอลลาร์ซึ่งเกิดขึ้นในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.)
เธอแจกแจงต่อไปว่า ยิ่งถ้านำเอาตัวเลขของแต่ละเดือนมาเปรียบเทียบกัน ก็จะยิ่งมองเห็นการดำดิ่งลงมานี้ชัดเจนขึ้นอีก กล่าวคือในเดือนมิถุนายน มีเงินทุนไหลออกไป 12,800 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ในเดือนมกราคมอยู่ที่ 54,400 ล้านดอลลาร์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสเงินทุนได้ไหลออกไปจากจีนอย่างต่อเนื่อง จากการที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแดนมังกรชะลอลง และเรื่องนี้ก็กลายเป็นแรงกดดันขาลงต่อค่าเงินของจีน ทำให้สินทรัพย์สกุลเงินหยวนที่เสน่ห์สำหรับการถือครองน้อยลงไปอีก จึงกลายเป็น “วงจรอุบาทว์” ขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
ทางการผู้รับผิดชอบของแดนมังกร ได้ประกาศใช้มาตรการเข้มงวดมุ่งจำกัดการไหลออกของเงินข้ามพรมแดนหลายประการ เป็นต้นว่า จำกัดการใช้บัตรของธนาคารในประเทศไปถอนเงินสดในต่างประเทศได้ไม่เกินปีละ 100,000 หยวนตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคมเป็นต้นมา รวมทั้งกำหนดให้แบงก์ทั้งหลายต้องนำเงินวางเอาไว้ 20% สำหรับสัญญาขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ทั้งนี้ด้วยจุดประสงค์ที่จะลดทอนการเก็งกำไร
อย่างไรก็ตาม หวังยืนยันว่าเงินทุนที่กำลังไหลออกไปนั้น ที่สำคัญแล้วเป็นเพราะการที่พวกบริษัทจีนไปขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เนื่องจากเงินทุนต่างประเทศกำลังถอนตัวออกไปจากประเทศจีน
ก่อนหน้านี้ทางการจีนได้เผยแพร่ข้อมูลตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศล่าสุด ซึ่งปรากฏว่าในเดือนมิถุนายน เพิ่มสูงขึ้นมาอย่างไม่คาดหมายเป็นจำนวน 13,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ยอดรวมอยู่ที่ 3.21 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากที่ได้ลดต่ำลงมาอยู่หลายเดือน แม้ว่าจีนยังคงรักษาตำแหน่งมีเงินทุนสำรองต่างประเทศสูงที่สุดในโลกเอาไว้ได้ก็ตาม กระนั้น ยอดรวมที่กระเตื้องขึ้นไปในเดือนมิถุนายนนี้ ก็ยังคงต่ำลงมาราว 20% จากจุดสูงสุดที่จีนเคยไต่ขึ้นไปถึงในปี 2014 โดยในตอนนั้นมีทุนสำรองเป็นปริมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์