เอเอฟพี - กรมศุลกากรจีนเผย (8 มี.ค.) ตัวเลขการส่งออกเดือนก.พ. ลดลงร้อยละ 25.4 ไปอยู่ที่ 126.1 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบปีต่อปี เนื่องจากถูกฉุดรั้งโดยภาคการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ที่กำลังซบเซาอย่างหนัก
ตัวเลขดังกล่าวถือว่าย่ำแย่กว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ โดยการประเมินก่อนหน้านี้ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก นิวส์ ทำนายว่าการส่งออกของจีนในเดือนก่อนจะลดลงร้อยละ 14.5 เท่านั้น
ด้านการนำเข้าก็ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 16 ด้วยตัวเลขร้อยละ 13.8 ไปอยู่ที่ 93.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าการคาดการณ์ ที่บลูมเบิร์กทำการสำรวจไว้ที่ร้อยละ 12
ขณะที่สัดส่วนดุลการค้าระหว่างประเทศของจีน ได้เกินดุลเป็นมูลค่า 32.6 พันล้านดอลลาร์ แต่นับว่าลดลงร้อยละ 46.2 เมื่อเทียบปีต่อปี
“หุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ๆ ที่มีการนำเข้าและการส่งออกกับจีน ต่างเผชิญภาวะตกต่ำในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้” แถลงการณ์ของกรมศุลกากรจีนระบุ โดยก่อนหน้านี้กรมฯ เผยข้อมูลเดียวกันในภาคสกุลเงินหยวน ซึ่งชี้ว่าการส่งออกลดลงร้อยละ 20.6 และการนำเข้าลดลงร้อยละ 8
ทั้งนี้ เหล่าบริษัทจีนต้องรับมือกับยอดสั่งซื้อสินค้าที่หดตัวลงเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโลกระส่ำระส่าย อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) คู่ค้าอันดับหนึ่งของจีน ที่จีนส่งออกลดลงกว่าร้อยละ 10.7 หรือสหรัฐฯ คู่ค้าอันดับสอง ก็ลดลงร้อยละ 10.9 ในภาคสกุลเงินหยวน
ปัจจุบันบรรดาผู้นำจีนกำลังหารือกันในที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนจีน (เอ็นพีซี) ซึ่งจะสิ้นสุดลงช่วงกลางเดือนมี.ค. โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ประกาศเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี พ.ศ.2559 ไว้ที่ร้อยละ 6.5-7
ทางการจีนให้คำมั่นว่าจะดำเนินมาตรการส่งเสริมทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐที่ชะลอตัว โดยนักวางแผนนโยบายทางเศรษฐกิจระดับสูงของจีน กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ (6 มี.ค.) ว่า “จีนจะไม่เจอกับการชะลอตัวอย่างรุนแรงฉับพลัน (hard landing) อย่างแน่นอน”