xs
xsm
sm
md
lg

‘จุดจบ’ของ‘นิตยสารการเมืองจีน’ชั้นนำอีกฉบับที่วิจารณ์ ‘พรรค’

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Editors announce ‘end’ of top Chinese political magazine after staff reshuffle
By AT Editor

18/07/2016

ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาและกองบรรณาธิการของ “เหยียนหวง ชุนชิว” นิตยสารด้านการเมืองจีนระดับแนวหน้าฉบับหนึ่ง ออกคำแถลงระบุว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดทำนิตยสารนี้แล้ว หลังสถาบันศิลปะแห่งชาติของจีน ซึ่งเป็นต้นสังกัดสั่งปลดพนักงานระดับสูง และส่งคนเข้ามากำกับตรวจสอบคณะบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการของนิตยสารด้านการเมืองจีนระดับแนวหน้าฉบับหนึ่งออกคำแถลงระบุว่า พวกเขาไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการจัดทำนิตยสารนี้อีกต่อไปแล้ว ภายหลังจากพนักงานระดับสูงจำนวนหนึ่งถูกปลด และมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะบรรณาธิการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ตู้ เต้าเจิง (Du Daozheng) ผู้ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้พิมพ์ผู้โฆษณา (publisher) ของ “เหยียนหวง ชุนชิว” (Yanhuang Chunqiu) โดยองค์การที่เป็นต้นสังกัดของนิตยสารฉบับนี้ กล่าวในคำแถลงซึ่งเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อวันอาทิตย์ (17 ก.ค.) ที่ผ่านมาว่า นิตยสารการเมืองจีนระดับแนวหน้าเล่มนี้เป็นอันยุติการผลิตนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

“ใครก็ตามที่ตีพิมพ์เผยแพร่นิตยสารที่ยังคงใช้ชื่อว่า เหยียนหวง ชุนชิว หลังจากนี้ไป คือผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับกองบรรณาธิการชุดเดิม” ตู้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 90 ปีเศษๆ เขียนเอาไว้เช่นนี้

คำแถลงฉบับนี้ระบุว่า ทางกองบรรณาธิการตัดสินใจเรื่องนี้หลังจาก ตู้ ถูกปลดออกจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยสถาบันศิลปะแห่งชาติของจีน (Chinese National Academy of Arts) องค์การซึ่งสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม และเป็นสปอนเซอร์ของเหยียนหวง ชุนชิว

สมาชิกผู้หนึ่งในทีมงานบรรณาธิการ ซึ่งขอไม่ให้ระบุชื่อ เล่าว่าเวลานี้ทางสถาบันได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของตนเข้ามาจับตาควบคุมการจัดทำนิตยสารฉบับนี้ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามักตีพิมพ์เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นท้าทายทัศนะอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์

“ไม่มีใครที่กองบรรณาธิการนี่ยอมรับการกระทำของสถาบันศิลปะแห่งชาติ” สมาชิกในกองบรรณาธิการผู้นี้กล่าว “แน่นอนล่ะ พวกเราทำอะไรเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไม่ได้เลย เพราะพวกเขาจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงแล้ว และพวกเขายังเข้ามานั่งอยู่ในกองบรรณาธิการด้วย”

“คุณตู้เวลานี้เข้าโรงพยาบาล เพราะเกิดอาการช็อกจากคำสั่งปลด คุณตู้เขาเป็นความดันเลือดสูงอยู่แล้ว” สมาชิกกองบรรณาธิการผู้นี้เล่าต่อ “ยังไม่ชัดเจนหรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แต่สำหรับคนจำนวนมากแล้วคิดว่า น่าจะมีการสั่งปิดไปเลย”

นักวิชาการซึ่งพำนักอยู่ในปักกิ่งผู้หนึ่ง และพูดโดยขอให้สงวนนามเช่นกัน แสดงความเห็นพ้องว่านิตยสารฉบับนี้คงมาถึงจุดจบแล้ว หลังจากที่ได้ทำหน้าที่สนับสนุนพวกนักปฏิรูประดับสูงที่อยู่ภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนมานาน

“ตอนนี้พวกเขากำจัดคนเก่าๆ ในกองบรรณาธิการไปหมดแล้ว และกำลังนำเอาคนใหม่ๆ เข้ามา อย่างเช่น เจีย เล่ยเล่ย (Jia Leilei) ซึ่งเคยเป็นรองประธานของสถาบันศิลปะแห่งชาติ บรรณาธิการคนใหม่ก็มาจากสถาบันแห่งนี้เช่นกัน” นักวิชาการผู้นี้กล่าวต่อ

เตรียมฟ้องฐานผิดสัญญา

ม่อ เซ่าผิง (Mo Shaoping) ทนายความด้านสิทธิซึ่งตั้งฐานอยู่ในปักกิ่งเปิดเผยว่า ตู้ มีแผนจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทางสถาบันศิลปะแห่งชาติ เนื่องจากทำผิดสัญญาที่ลงนามกันไว้

“คุณตู้บอกกับผมว่า เขายอมรับเรื่องนี้ไม่ได้เลยโดยสิ้นเชิง” ม่อ กล่าว “สำหรับกระบวนการที่จะเดินหน้ากันต่อไปนั้น ... ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายของพวกเขาแล้ว จากนี้ผมจะศึกษาดูสัญญาที่ทำกันไว้ระหว่างทางสถาบันศิลปะกับเจ้าหน้าที่ของเหยียนหวง ชุนชิว”

“ในตัวสัญญามีเนื้อหาหลายตอนที่ระบุชัดเจนมากในเรื่องการทำงานของกองบรรณาธิการและการควบคุมทางการเงิน ตลอดจนเรื่องเกี่ยวกับงานบุคคล” เขากล่าว “เหยียนหวง ชุนชิว ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจอิสระเต็มที่”

การปลด ตู้ คราวนี้บังเกิดขึ้นหลังจากหน่วยงานกำกับตรวจสอบสื่อมวลชนของทางการจีน ซึ่งก็คือ สำนักงานบริหารแห่งรัฐด้านสำนักพิมพ์, สิ่งตีพิมพ์, วิทยุ, ภาพยนตร์, และโทรทัศน์ (State Administration of Press, Publication, Radio, Film and Television ใช้อักษรย่อว่า SAPPRFT) แจ้งต่อคณะบรรณาธิการของนิตยสารฉบับนี้ในเดือนเมษายนว่า มีบทความรวม 37 บทความซึ่งตีพิมพ์ในช่วงตั้งแต่เริ่มต้นปีนี้ เข้าข่ายละเมิดแนวทางชี้นำทางการเมือง

เหยียนหวง ชุนชิว ซึ่งก่อตั้งโดย ตู้ ในปี 1991 เพื่อผลิตบทความเชิงวิชาการว่าด้วยประวัติศาสตร์และการเมืองที่เสนอความคิดแนวทางปฏิรูป ดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งตีพิมพ์เล่มล่าสุดซึ่งชนปะทะกับการรณรงค์ทางอุดมการณ์ที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งต้องการให้สำนักพิมพ์และองค์การสื่อมวลชนทุกแห่งต้องกระทำตามแนวทางของพรรค

ตู้ถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยอาศัยกฎระเบียบที่น้อยครั้งจะถูกนำมาบังคับใช้ กฎระเบียบดังกล่าวระบุห้ามสมาชิกพรรคที่อยู่ในวัยอาวุโสเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ภายหลังอายุ 70 ปี ในกรณีของ ตู้ นั้น เขาหวนกลับมาทำงานภายหลังจากการเกษียณอายุไปแล้ว เพื่อเข้ากุมบังเหียนของ เหยียนหวง ชุนชิว ดังนั้นจึงทำให้เขาขาดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่ง สถาบันศิลปะแห่งชาติของจีนระบุ

“การแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง” ทางอุดมการณ์

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล่าสุดดูเหมือนจะทำให้นิตยสารฉบับนี้ในรูปแบบดั้งเดิม เป็นอันล้มหายตายจากไป ถึงแม้ก่อนหน้านี้มีสื่อชั้นนำไม่ใช่น้อยที่ยังคงตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไปโดยใช้ชื่อเดิม หลังจากมี “การแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง” ในทางอุดมการณ์แล้ว ทว่ามันก็เป็นเพียงเงาของตัวตนดั้งเดิมเท่านั้น

เป่า ถง (Bao Tong) อดีตผู้ช่วยของเจ้า จื่อหยาง ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ถูกขับพ้นตำแหน่งเนื่องจากใช้แนวทางเสรีนิยมมากเกินไปในการจัดการกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยนักศึกษาในปี 1989 ได้ออกมาท้าทายให้รัฐบาลอธิบายเหตุผลที่ทำการโจมตีเล่นงานเหยียนฮวง ชุนชิว

“ในความเห็นของผมแล้ว นิตยสารเล่มนี้ซึ่งสามารถตีพิมพ์ต่อเนื่องเรื่อยมาได้ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา โดยไม่ต้องใช้จ่ายเงินทองของผู้เสียภาษีแม้แต่สตางค์แดงเดียว กำลังถูกสถาบันวิจัยที่เป็นต้นสังกัด กำจัดกวาดล้างไป ซึ่งก็รวมทั้งเสรีภาพในการพิมพ์การโฆษณาของนิตยสารฉบับนี้ด้วย” เป่า เขียนเอาไว้ในบทวิจารณ์ซึ่งส่งให้แก่วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาจีนกลาง

“ทำไมต้องทำแบบนี้ด้วย? การที่ใช้มาตรการเชิงบังคับเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าสถาบันแห่งนี้และเหยียนหวง ชุนชิว ต้องมีอะไรบางอย่างผิดพลาดอย่างแน่อน” เขากล่าว

“แต่การไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคไม่ควรถูกใช้เป็นเหตุผลสำหรับพฤติการณ์ประเภทนี้” เขาเขียนในอีกตอนหนึ่ง “นิตยาสารฉบับนี้ตีพิมพ์ออกมาก็เพื่อรับใช้ผู้อ่านของตน และความเห็นของผู้อ่านนั่นแหละที่ทรงความสำคัญสำหรับนิตยสาร แนวทางที่องค์การต้นสังกัดต้องการนั้นไม่ได้อยู่ในข่ายนี้เลย”

ตลอดช่วง 25 ปีที่ตีพิมพ์เผยแพร่ เหยียนหวง ชินชิว จัดทำออกมาเป็นจำนวนมากกว่า 200 ฉบับ และมีความคุ้นเคยอยู่มากกับการถูกทางการวิพากษ์ตำหนิ

นิตยสารนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากการตีพิมพ์เผยแพร่บทความซึ่งพูดถึง หู เย่าปัง และ เจ้า จื่อหยาง ที่ต่างเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ถูกขับออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเขียนเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจด้านต่างๆ ออกจากกัน อันเป็นสิ่งที่ เติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำสูงสุดห้ามปรามไว้ เรื่องที่ เหยียนหวง ชุนชิว ถูกตำหนิมากอีกเรื่อง คือจากการตีพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวชีวิตวัยต้นๆ ของเหมา เจ๋อตง ซึ่งเขียนโดย หลี่ รุ่ย อดีตเลขานุการของเขา

เมื่อปี 2011 หน่วยงานเซนเซอร์ของจีนได้สั่งปิดเว็บไซต์ของนิตยสารฉบับนี้ ภายหลังเว็บไซต์แห่งนี้เรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูประบบการเมืองของจีน

ข่าวนี้รายงานโดย เฉียว หลง (Qiao Long) ให้วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาจีนกลาง (RFA’s Mandarin Service) แปลและเขียนเป็นภาษาอังกฤษโดย ลุยเซตตา มูดี (Luisetta Mudie)

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต


กำลังโหลดความคิดเห็น