xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมฝรั่งเศสจึงเกิดเหตุก่อการร้ายที่พัวพันกับ ‘ไอเอส’ ครั้งแล้วครั้งเล่า

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

France s brush with ISIS holds lessons for India
By M.K. Bhadrakumar
15/07/2016

ดูจะมีเหตุผลอยู่ 3 ประการที่ทำให้ฝรั่งเศสตกเป็นเป้าหมายเล็งโจมตีของกลุ่มอิสลามิสต์สุดโต่งกลุ่มต่างๆ ได้แก่ การแบ่งแยกกีดกันชุมชนชาวมุสลิมอย่างลับๆ ไม่เปิดเผย, การที่ฝรั่งเศสเริงร่าเร่งรีบเข้าร่วมในสงครามปราบปรามไอเอส, และสภาพที่ฝรั่งเศสกำลังเอียงไปทางชาตินิยมปีกขวาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เพียงเมื่อไม่นานมานี้เอง พวกผู้เชี่ยวชาญตะวันตกยังมีความคิดเห็นกันว่า อินเดียคือประเทศที่ควรถือเป็นแบบอย่างประเทศหนึ่ง ในขณะที่พวกเขามาถึงข้อสรุปที่ว่า พวกไอซิส (ISIS ชื่อย่ออีกชื่อหนึ่งที่ยังมีผู้นิยมใช้กันของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” หรือ ไอเอส –ผู้แปล) ไม่สามารถที่จะยึดหัวหาดวางรากฐานอะไรได้มากนักในหมู่ชาวมุสลิมในอินเดีย (เป็นต้นว่ารายงานชิ้นหนึ่งในเว็บไซต์ข่าว “ฮัฟฟิงตันโพสต์” ดูรายละเอียดที่ http://www.huffingtonpost.in/abhinav-pandya/why-isis-cant-make-much-h_b_8824410.html) อันที่จริงแล้ว จวบจนกระทั่งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วนี้เอง วิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America) ที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังประโคมตอกย้ำการประเมินผลดังกล่าวนี้ (ดูรายละเอียดที่ http://www.voanews.com/content/indian-muslims-islamic-state/3091255.html) แต่แล้วทำไมสถานการณ์นี้จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเสียแล้วในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา?

แน่นอนทีเดียว ไอซิสมีฐานะเป็นอุดมการณ์ที่สามารถระเบิดกระจายตัวออกไปได้อย่างรวดเร็ว เฉกเช่นเดียวกับที่เป็นเครือข่ายผู้ก่อการร้าย และในทางปฏิบัติแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิงที่จะแยกเอาความคิดจิตใจของมนุษย์ให้ออกห่างขาดจากไอเดียแนวความคิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดจิตใจของคนรุ่นเยาว์ในวัยที่สามารถบังเกิดความประทับใจต่อสิ่งต่างๆ ได้ง่ายจนกลายเป็นจุดอ่อนเปราะต่อแนวความคิดอันเย้ายวนล่อใจทั้งหลาย สิ่งที่รัฐสามารถกระทำได้เพื่อเป็นการเปิดฉากรุกโจมตีไปก่อนเลย ก็คือการทำความสะอาดชำระสะสางสภาพแวดล้อมซึ่งรายรอบบรรดาเยาวชน ทั้งสภาพแวดล้อมทางการเมือง และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคม

หากพิจารณาภายในบริบทเช่นนี้แล้ว เราก็จะสามารถที่จะหาข้อสรุปอันเป็นประโยชน์บางประการ จากการโจมตีอย่างเหี้ยมโหดของผู้ก่อการร้ายในเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันพฤหัสบดี (14 ก.ค.) ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ฝรั่งเศสตกอยู่ในเป้าเล็งเล่นงานของกลุ่มอิสลามิสต์สุดโต่งกลุ่มต่างๆ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เราอาจจะอธิบายได้ด้วยเหตุผล 3 ประการ

เหตุผลประการแรกและเป็นเหตุผลข้อที่นำหน้าที่สุด ก็คือ ในช่วงเวลาภายหลังจากการโจมตีนครนิวยอร์กและกรุงวอชิงตันในเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 รวมทั้ง “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ที่ติดตามมา พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในฝรั่งเศสได้เริ่มต้นทำการแบ่งแยกกีดกันชุมชนชาวมุสลิมด้วยวิธีลับๆ ไม่เปิดเผยมากมาย ขณะเดียวกับที่ยังคงประกาศอ้างตัวเองเป็นประเทศที่แยกศาสนาออกจากรัฐ อีกทั้งเป็นสังคมหลากหลายวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

บางทีฝรั่งเศสอาจจะไม่ใช่ชาติเดียวในโลกตะวันตกหรอก ที่กำลังก้าวเดินไปบนเส้นทางอันน่าเคลือบแคลงซึ่งมีต้นกำเนิดจากความคิดหวาดระแวงศาสนาอิสลาม (Islamophobia) เช่นนี้ แต่แน่นอนทีเดียวว่า ฝรั่งเศสเป็นผู้ที่ทำเรื่องเช่นนี้ในระดับที่สุดโต่ง –กระทั่งถึงขนาดห้ามการใช้ผ้าคลุมศีรษะของหญิงมุสลิม (ฮิญาบ) ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย หากในความคิดจิตใจของชาวมุสลิมจะมีอะไรบางอย่างคอยปั่นคอยป่วนในลักษณะเป็นปฏิกิริยาต่อสภาวการณ์เช่นนี้ ศาสนาคือพื้นที่อันศักดิสิทธิในโลกภายในของคนเรา และเขาต้องรู้สึกถูกดูหมิ่นหยามหยันเมื่อรัฐและสังคมล่วงละเมิดหรือทำความเสื่อมเสียต่อศาสนา

เหตุผลประการที่สอง ฝรั่งเศสรีบร้อนเหลือเกินในการเข้าสู่แนวหน้าของสงครามอันมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ซึ่งมุ่งต่อต้านทำลายล้างพวกไอซิส โดยที่ฝรั่งเศสกระทำเช่นนี้อย่างเต็มไปด้วยความรู้สึกเพลิดเพลินหลงใหล ซึ่งถ้าพูดกันอย่างง่ายๆ ก็ต้องบอกว่า เป็นความรู้สึกเพลิดเพลินหลงใหลชนิดยากที่จะเข้าใจ --เว้นแต่ว่าจะมองกันจากแง่มุมเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และสำหรับฝรั่งเศส ซึ่งก็เฉกเช่นเดียวกับพวกประเทศอื่นๆ ทั้งหลายที่กำลังรบราทำสงครามตัวแทนกันอยู่ในซีเรียและอิรักทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ, รัสเซีย, ตุรกี, ซาอุดีอาระเบีย, ฯลฯ แทบไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลยว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับปฏิกิริยาตอบโต้กลับเข้าจนได้เมื่อถึงบางช่วงบางจุด ทำนองเดียวกับที่กลางคืนต้องติดตามมาหลังจากกลางวัน รัฐที่เข้าร่วมสงครามเหล่านี้บางรายก็กำลังเจอกับประสบการณ์เช่นนี้เรียบร้อยแล้ว –เป็นต้นว่า ตุรกี และซาอุดีอาระเบีย ขณะที่ชาติอื่นๆ จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่เจอะเจอ แต่อย่าได้หลงสำคัญผิดไปทีเดียว สงครามตัวแทนคราวนี้กำลังจะตามหลอกหลอนรัฐที่เข้าร่วมทำศึกเหล่านี้ทุกๆ รายไปอีกเนิ่นนาน

ในฐานะที่เป็นสังคมหลากหลายวัฒนธรรม ฝรั่งเศสสมควรที่จะขบคิดตรึกตรองให้มากขึ้นเป็นสองเท่า ก่อนที่จะประกาศทำสงครามกวาดล้างพวกไอซิส –ภายหลังเกิดเหตุผู้ก่อการร้ายโจมตีในกรุงปารีสหลายต่อหลายระลอก บางที ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ อาจจะเลือกเส้นทางนี้โดยถือว่าเป็นเรื่องของความสะดวกทางการเมืองที่จะอยู่รอดต่อไปในเวลาที่ผู้ออกเสียงชาวฝรั่งเศสมีความนิยมชื่นชอบในตัวเขาลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบ และเป็นความพยายามดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อขึ้นขี่กระแสคลื่นลัทธิชาตินิยมซึ่งกำลังสาดซัดพัดกวาดไปทั่วประเทศของเขา ทว่ามันเป็นการกระทำซึ่งสิ่งแสดงถึงความขาดไร้สายตายาวไกลแบบรัฐบุรุษ จากประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าในแอลจีเรีย (หมายเหตุผู้แปล - ฝรั่งเศสยึดครองแอลจีเรียเป็นอาณานิคมอยู่กว่าร้อยปี และภายหลังแอลจีเรียต่อสู้ทำสงครามเรียกร้องเอกราชอย่างนองเลือดอยู่หลายปี ประมาณกันว่ามีผู้เสียชีวิตไปหลายแสนคน แอลจีเรียจึงได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 1962 : ข้อมูลจาก Wikipedia) และจากประสบการณ์อันน่าละอายในลิเบียเมื่อเร็วๆ นี้ (ฝรั่งเศสเป็นผู้นำการแทรกแซงขององค์การนาโต้เข้าไปในประเทศนั้น ซึ่งผลลัพธ์ในที่สุดที่ออกมาคือลิเบียตกอยู่ในสภาพปั่นป่วนวุ่นวายจวบจนถึงขณะนี้) ออลลองด์ควรต้องรอบคอบระมัดระวังให้มากๆ ในการมอบอักษรสาส์นตราตั้งให้ฝรั่งเศสเข้าทำสงครามอีกสงครามหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลางของชาวมุสลิมเช่นนี้

เหตุผลประการสุดท้าย ประเทศฝรั่งเศสเองก็กำลังก้าวเดินอย่างโซซัดโซเซเฉียดใกล้ลัทธิชาตินิยมปีกขวาอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในอดีตที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้ทีเดียวว่า มารีน เลอ เปน (Marine Le Pen) ผู้นำชาตินิยมซึ่งโดดเด่นอาจจะผงาดขึ้นมาเป็นตัวเก็งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ถึงวาระจะจัดขึ้นในปีหน้า การรณรงค์ทางการเมืองแบบเจ็บแสบเผ็ดร้อนของเธอที่มุ่งต่อต้านสิ่งที่เธอเรียกว่า “กระบวนการเปลี่ยนแปลงให้ฝรั่งเศสกลายเป็นอิสลาม” (Islamification) และการที่เธอโจมตีผู้อพยพจากโลกมุสลิม – เธอเรียกร้องว่า “ฐานะการเป็นพลเมืองของฝรั่งเศสควรต้องได้มาด้วยการสืบทอดมรดก หรือไม่ก็ด้วยการประกอบคุณงามความดีเท่านั้น”-- หรือการไต่สวนพิจารณาคดีของเธอเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วในเมืองลีออง ซึ่งกลายเป็นข่าวโด่งดังเกรียวกราว โดยเธอถูกตั้งข้อหาว่ายั่วยุให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติ (หลังจากเธอกล่าวเปรียบเทียบการทำละหมาดในท้องถนนของชาวมุสลิม กับการยึดครองของพวกนาซี) เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความทรงจำอันเจ็บปวดสำหรับชาวมุสลิมในฝรั่งเศส (ดูรายละเอียดได้จาก http://www.bbc.com/news/world-europe-12202197)

กล่าวโดยองค์รวมแล้ว ในหมู่ชาวมุสลิมในฝรั่งเศสนั้นได้เกิดความรู้สึกแปลกแยกอย่างลึกซึ้ง และไอซิสก็สามารถดึงดูดสาวกผู้ติดตามได้ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้

อินเดียในทุกวันนี้ ในยุคของนายกรัฐมนตรีโมดี มีสิ่งต่างๆมากมายที่ควรต้องเรียนรู้ศึกษาบทเรียนจากฝรั่งเศส ความรู้สึกแปลกแยกกำลังปรากฏขึ้นในภูมิภาคต่างๆ มากมายของอินเดียในรูปแบบต่างๆ หลายหลาก เรื่องที่เศร้าที่กำลังเกิดขึ้นในแคว้นชัมมูและแคชเมียร์ ควรที่จะเป็นตัวอย่างทำให้ตาต้องเปิดกว้างมองให้เห็นสภาพความเป็นจริง เมื่อประชาชนก่อการลุกฮือคัดค้านการใช้อำนาจบังคับของรัฐ นั่นหมายถึงการบรรลุถึงจุดตกต่ำที่สุดแล้ว การขาดไร้ขันติธรรมความอดทนอดกลั้นต่อชุมชนคนกลุ่มน้อยทั้งหลาย หรือความพยายามที่จะหยามหมิ่นพวกเขา หรือการปฏิเสธไม่ยอมเดินไปให้ไกลเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างสังคมที่ทุกๆ คนทุกๆ ฝ่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วม –เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ปรากฏให้เห็นอยู่ในสังคมของอินเดียทุกวันนี้ สิ่งเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวกำลังปรากฏให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนกลางวันแสกๆ ด้วยซ้ำไป

ถ้าหากสามารถที่จะทำความเข้าใจและเก็บรับบทเรียนจากโศกนาฏกรรมซึ่งกำลังคลี่คลายปรากฏให้เห็นอยู่ในฝรั่งเศสเวลานี้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะต้องลืมตาค้างไม่กล้านอนหลับในตอนกลางคืน เนื่องจากกลัวเกรงหวั่นระแวง “หน่ออ่อน” ของไอเอส และ “สมาชิกที่ฝังตัวอยู่เงียบๆ” ของไอเอส ในย่านที่อยู่อาศัยของเรา อีกทั้งพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบก็สามารถที่จะดำเนินการได้อย่างหนักแน่นมั่นคงและด้วยความโปร่งใส กับร่องรอยทั้งหลายของไอเอสในอินเดีย เมื่อใดก็ตามหรือที่ไหนก็ตามที่พวกเขาปรากฏให้เห็น ในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์แปลกประหลาดสำหรับสังคมของอินเดีย

(เก็บความจากข้อเขียนในบล็อก Indian Punchline)

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น