xs
xsm
sm
md
lg

‘ยุโรป’เล่นบทนุ่มนวลกับ‘ปักกิ่ง’หลัง‘ศาลกรุงเฮก’ตัดสินกรณี‘ทะเลจีนใต้’

เผยแพร่:   โดย: เอมานูเอล ชีเมีย

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Europe goes soft with China over South China Sea ruling
By Emanuele Scimia
14/07/2016

ภายหลังศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก ประกาศคำตัดสินให้จีนเป็นฝายแพ้แก่ฟิลิปปินส์ ในกรณีพิพาทช่วงชิงเกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่จำนวนมากในทะเลจีนใต้แล้ว ถึงแม้สหภาพยุโรปออกโรงมาเสนอแนะให้ปักกิ่งยอมรับปฏิบัติตามคำตัดสินนี้ ทว่าก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการแสดงจุดยืนในเชิงหลักการ

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้สังเกตการณ์บางคนคิดเห็นกันว่า สหภาพยุโรป (อียู) ควรจะต้องแสดงจุดยืนอันแข็งขันมีพลังมากกว่าที่เป็นอยู่ ต่อกรณีการวิวาทโต้แย้งกันในเวลานี้เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ทว่าไม่มีอะไรแบบนั้นเกิดขึ้นมาเลย ภายหลังจากการประกาศคำตัดสินซึ่งเป็นไปตามที่คาดหมายกันอย่างมากของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในคดีที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ผืนใหญ่โตของน่านน้ำซึ่งเกิดการพิพาทกัน โดยปรากฏว่าเหล่าผู้นำอียูกลับยังคงสัตย์ซื่อยึดมั่นอยู่กับแนวทางวิธีรับมือกับประเด็นปัญหานี้อย่างระมัดระวังตัว เฉกเช่นที่พวกเขาได้เคยประพฤติปฏิบัติมา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก ได้ตัดสิน คัดค้านไม่เห็นชอบกับการที่จีนเรียกร้องอ้างสิทธิเอาพื้นที่กว้างใหญ่ของทะเลจีนใต้ แต่ยืนยันเห็นด้วยกับฟิลิปปินส์ที่คัดค้านการอ้างเหตุผลความชอบธรรมในทางกฎหมายและในทางประวัติศาสตร์ของปักกิ่ง รัฐบาลฟิลิปปินส์นั้น ได้นำคดีนี้ขึ้นฟ้องร้องศาลแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2013 โดยที่มะนิลาอ้างกรรมสิทธิ์ในน่านน้ำและในแผ่นดินทางธรรมชาติต่างๆ ในอาณาบริเวณนี้ ทับซ้อนกับจีนและชาติเพื่อนบ้านอื่นๆ อีกหลายราย

หลังจากนั้นมาอีกวันหนึ่ง คือ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ณ ช่วงสิ้นสุดของการประชุมซัมมิตอียู-จีนครั้งที่ 18 ในกรุงปักกิ่ง โดนัลด์ ทัสค์ (Donald Tusk) ประธานคณะมนตรียุโรป (European Council President) ได้ส่งเสียงแสดงความคาดหมายของเขาที่ว่า คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการแห่งนี้จะเป็นก้าวเดินในทางบวกก้าวหนึ่งสำหรับการแก้ไขข้อพิพาททางดินแดนต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ทัสค์ไม่ได้เรียกร้องอย่างชัดเจนให้จีนต้องยอมรับปฏิบัติตามคำตัดสินนี้ หากแต่เขาใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลกว่านั้น โดยกล่าวเน้นย้ำว่าอียูมีความมั่นใจอย่างเต็มที่ในผลงานและในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮกแห่งนี้ และอียูให้ความสนับสนุนกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งก็รวมไปถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ทั้งนี้ คำพูดในตอนนี้ของทัสค์ ก็คือ “ระเบียบระหว่างประเทศซึ่งอิงอยู่กับกฎกติกานั้น ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของพวกเรา และทั้งจีนและทั้งอียูจะต้องพิทักษ์ปกป้องระเบียบดังกล่าวนี้”

จุดยืนที่อิงอยู่กับกฎกติกาของอียู

อียูใช้แนวทางวิธีการพึ่งพาอาศัยกฎหมาย มาปฏิบัติต่อประเด็นปัญหาว่าด้วยทะเลจีนใต้ และได้เสนอแนะเหตุผลข้อโต้แย้งว่า หนทางแก้ไขใดๆ ในปัญหานี้ควรต้องอิงอยู่กับกฎกติกาและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ นี่คือกรอบแนวความคิดอันเดียวกันกับที่นำพาบรัสเซลส์ให้ยังคงใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและทางการเงินต่อรัสเซีย สืบเนื่องจากมอสโกเข้าผนวกดินแดนแหลมไครเมียและกำลังหนุนหลังกลุ่มกบฎต่างๆ ในยูเครนตะวันออก ถึงแม้มาตรการต่างๆ ที่ใช้เล่นงานเครมลินนี้ ได้ส่งผลกระทบกระเทือนในทางลบหลายประการต่อพวกรัฐสมาชิกของอียู

วิสัยทัศน์ว่าด้วยระบบความสัมพันธ์ในโลกซึ่งขึ้นอยู่กับกฎกติกานี้ บางทีอาจจะเรียกได้ว่าเป็นแก่นแท้แห่งความฝันของยุโรป ถึงแม้ความฝันดังกล่าวในขณะนี้ได้ถูกแปดเปื้อนมีมลทินไม่ใช่น้อย แต่ก็ยังคงเป็นที่ยอมรับเห็นพ้องกันอยู่โดยบรรดาผู้นำส่วนใหญ่ที่สุดของอียู แม้กระทั่งอังกฤษซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ลงประชามติว่าจะถอนตัวออกจากอียู อย่างที่เรียกขานกันว่า “เบร็กซิต” (Brexit) อีกทั้งความเกี่ยวโยงพัวพันทางเศรษฐกิจกับจีนซึ่งอังกฤษพยายามสร้างขึ้นมาในปีที่แล้ว ก็กำลังขยายตัวเบ่งบานขึ้นเรื่อยๆ แต่อังกฤษก็ยังคงยืนอยู่ในจุดยืนอย่างเดียวกับอียูเสมอมาในเรื่องกรณีพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้ รวมถึงการยืนยันว่าปักกิ่งต้องเคารพปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม การชักชวนแนะนำใดๆ จากอียูเพื่อให้จีนยินยอมโอนอ่อนตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก จะจำกัดอยู่เพียงแค่ภายในอาณาเขตของจุดยืนเชิงหลักการเท่านั้น เป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าทั้งสหภาพยุโรปในฐานะที่เป็นกลุ่ม และทั้งแต่ละรัฐสมาชิกเดี่ยวๆ จะเห็นดีเห็นงามหรือ กับเสียงเรียกร้องเมื่อเร็วๆ นี้จาก “ศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา” (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ที่จะให้ภาคพื้นแอตแลนติก (หมายถึงอเมริกาเหนือบวกยุโรป) ริเริ่มดำเนินการลงโทษจีนในทางเศรษฐกิจและทางการเงิน จากการที่แดนมังกรปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามการตัดสินตามกฎหมายของศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก ถึงแม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้เองคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ได้ออกมาเรียกร้องให้เสริมสร้างเพิ่มพูนความร่วมมือกันระหว่างอียูกับสหรัฐฯ ตลอดจนประสานงานกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

อียูไม่ร่วมออกตรวจการณ์ลาดตระเวนทะเลจีนใต้ ?

ขณะเดียวกัน ก็มีความเป็นไปได้น้อยมากที่บรรดาชาติอียูจะออกตรวจการณ์ลาดตระเวน “เป็นประจำและกระทำอย่างจริงจังให้เห็นประจักษ์” (regular and visible) ในทะเลจีนใต้ เพื่อเป็นการยืนยันถึงเสรีภาพในการเดินเรือและในการเดินอากาศ อย่างที่รัฐมนตรีกลาโหม ฌอง-อีฟส์ เลอ ตริออง (Jean-Yves Le Drian) เสนอแนะเอาไว้ในเวทีการสนทนาแชงกรีลา (Shangri-La Dialogue) ที่สิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

กระนั้น หลังจากไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์เกี่ยวข้องอะไรในเอเชียตะวันออกมาเป็นระยะเวลายาวนาน ยุโรปก็กำลังแสดงให้เห็นความสนใจอย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มมากขึ้นในกิจการต่างๆ ของภูมิภาคแถบนี้ คำพูดของ เลอ ตริออง ในสิงคโปร์ ก็จัดอยู่ในตรรกะดังกล่าวนี้ เช่นเดียวกับการที่เยอรมนี, อิตาลี, และเดนมาร์ก เข้าร่วมในการฝึกซ้อมทางทหารที่โปรโมตโดยสหรัฐฯและใช้ชื่อรหัสว่า “ริมขอบแห่งแปซิฟิก” (Rim of the Pacific หรือ RIMPAC) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน หลังจากที่อีก 4 ชาติยุโรปอันได้แก่ ฝรั่งเศส, อังกฤษ, เนเธอร์แลนด์, และนอร์เวย์ ได้เข้าร่วมเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว

ย้อนหลังกลับไปถึงเมื่อเดือนเมษายน สำนักงานปฏิบัติการภายนอกของอียู (EU External Action Service) ได้แสดงความวิตกที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับบรรยากาศของความไร้เสถียรภาพในทะเลจีนใต้ ขณะที่บรัสเซลส์เน้นย้ำว่าอียูมีนโยบายวางตัวเป็นกลางต่อข้อพิพาทต่างๆ ในภูมิภาคดังกล่าว แต่ก็ยืนยันว่าตนเองมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่การค้าถึงราวครึ่งหนึ่งของโลกต้องผ่านไปมา เหตุผลที่ยุโรปแจกแจงอธิบายก็คือ ในโลกปัจจุบันที่ภูมิภาคต่างๆ เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันไปหมด ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของยุโรปก็โยงใยเชื่อมต่อกับเสถียรภาพในเอเชียตะวันออกและในส่วนอื่นๆ ของพื้นพิภพ

แต่นอกเหนือจากทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ ยังมีข้อเท็จจริงอันสำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง นั่นคือยุโรปปัจจุบันยังคงอยู่ในภาวะยุ่งยากลำบากในทางเศรษฐกิจ และจำเป็นอย่างเหลือเกินที่จะต้องได้เม็ดเงินลงทุนจากจีนเพื่อช่วยให้ยุโรปฟื้นตัว เช่นเดียวกับที่ตลาดการค้าอันใหญ่โตมหึมาของจีนก็ถือเป็นช่องทางอันสดใสสำหรับการส่งออกของยุโรป ในเอกสารแสดงจุดยืนฉบับหนึ่งที่ถูกนำออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้อ้างอิงถึง “การบริหารจัดการความแตกต่างกันที่มีอยู่ (ระหว่างบรัสเซลส์กับปักกิ่ง) ด้วยความสร้างสรรค์” ซึ่งหมายความว่าอียูจะต้องใช้ความระแวดระวังไม่ก่อให้เกิดความจุกจิกวุ่นวายขึ้นมา จากการเข้าไปร่วมในการโต้แย้งต่อสู้กันว่าด้วยทะเลจีนใต้

เอมานูเอล ชีเมีย เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ เขาเขียนเรื่องส่งให้หนังสือพิมพ์ South China Morning Post และ Eurasia Daily ของมูลนิธิเจมส์ทาวน์ (Jamestown Foundation) อยู่เป็นระยะ ในอดีตที่ผ่านมา บทความของเขายังเคยเผยแพร่อยู่ในสื่ออื่นๆ เป็นต้นว่า National Interest, Deutsche Welle, World Politics Review, Jerusalem Post และ EUobserver


กำลังโหลดความคิดเห็น