(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
China vows ‘decisive response’ to sea provocations
By AT Editor
14/07/2016
โกลบอลไทมส์ หนังสือพิมพ์แทบล็อยด์แนวทางชาตินิยม ในเครือของเหรินหมินรึเป้า ออกบทบรรณาธิการเปรียบเปรยสหรัฐฯกับญี่ปุ่นว่าเป็นเสือกระดาษ, เป็นขันทีพลอยพยักที่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนก็ประกาศว่า หากใครคิดอาศัยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮก มาปฏิบัติการยั่วยุเพื่อเล่นงานผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของปักกิ่งแล้ว ก็จะเจอการตอบโต้ด้วยความเด็ดขาดอย่างแน่นอน
เมื่อวันพฤหัสบดี (14 ก.ค.) จีนได้ออกมาข่มขู่ว่า จะ “ตอบโต้ด้วยความเด็ดขาด” ต่อการยั่วยุใดๆ ก็ตามในทะเลจีนใต้ ภายหลังจากศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้ประกาศคำตัดสินซึ่งคัดง้างการอ้างกรรมสิทธิ์อย่างมโหฬารของจีนในพื้นที่พิพาท
“หากใครก็ตามต้องการกระทำการยั่วยุใดๆ ซึ่งเป็นการต่อต้านคัดค้านผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีน โดยอิงอาศัยคำวินิจฉัยตัดสินนี้แล้ว จีนก็จะทำการตอบโต้ด้วยความเด็ดขาด” หลู่ คัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแดนมังกรแถลงในวันพฤหัสบดี (14 ม.ค.)
ในวันเดียวกันนั้นเอง ทางด้าน โกลบอลไทมส์ หนังสือพิมพ์แทบล็อยด์ขายดี ซึ่งเป็นกิจการในเครือของเหรินหมินรึเป้า ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ได้แสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นเสมือนเสียงก้องสะท้อนคำแถลงของ หลู่ โดยบอกว่ากองทัพจีนควรต้องเตรียมพร้อมสำหรับ “การโจมตีตอบโต้” ถ้าพวกเรือรบอเมริกันจัดการซ้อมรบขึ้นใกล้ๆ กับเกาะต่างๆ ที่ปักกิ่งประกาศอ้างกรรมสิทธิ์
โกลบอลไทมส์ ซึ่งมักแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำโวหารแบบชาตินิยม ได้กล่าวตราหน้าสหรัฐฯกับญี่ปุ่นว่าเป็น “เสือกระดาษ” และ “ขันทีพลอยพยัก” และระบุว่าสหรัฐฯคือผู้ที่ส่งเสียงสนับสนุนอย่างแข็งขันที่สุดต่อคำวินิจฉัยตัดสินต่อต้านคัดค้านจีนซึ่งศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ในกรุงเฮกประกาศออกมาเมื่อวันอังคาร (12 ก.ค.)
ในบทบรรณาธิการที่ใช้ชื่อหัวเรื่องว่า “ขู่คำรามข่มขวัญสหรัฐฯผู้เป็นเสือกระดาษในทะเลจีนใต้” (Blustering US a paper tiger in S China Sea) หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กล่าวว่า “นักการเมืองและสมาชิกรัฐสภาจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาของสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก ก็ได้แสดงความคิดเห็นอย่างดุร้ายยิ่งกว่านั้นเสียอีก รวมทั้งเรียกร้องให้ดำเนินการท้าทายเป็นประจำต่อการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลอย่างเกินเลยของประเทศจีน ด้วยการจัดการตรวจการณ์ลาดตระเวนทางเรือและทางอากาศอย่างต่อเนื่อง สำหรับญี่ปุ่นก็ปรากฏว่ามีจุดยืนอย่างเดียวกันเปี๊ยบกับของสหรัฐฯ ราวกับว่าพวกเขาเพิ่งปรึกษาหารือกันมาเกี่ยวกับแนวทางของพวกเขา”
ในทางตรงกันข้าม ท่าทีของฟิลิปปินส์ ประเทศที่เป็นผู้ยื่นฟ้องร้องจีนต่อศาลอนุญาโตตุลาการแห่งนั้น กลับอยู่ในลักษณะค่อนข้างนุ่มนวล โดยออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ
“คำพังเพยเก่าของคนจีนมีอยู่บทหนึ่งกล่าวว่า ‘พระจักรพรรดิยังไม่ทันเดือดเนื้อร้อนใจเลย แต่ขันทีของพระองค์กลับกังวลเป็นทุกข์เสียแล้ว’ ซึ่งหมายความว่าคนดูอยู่ข้างนอกมีความกระวนกระวายใจมากกว่าตัวผู้เล่นเสียอีก ในกรณีนี้ วอชิงตันและโตเกียวซึ่งกำลังแสดงตัวเป็นขันทีผู้เดือดเนื้อร้อนใจ” บทบรรณาธิการนี้กล่าวเปรียบเปรย
“เราไม่ได้มีความปรารถนาให้เกิดการเผชิญหน้ากันหรือการเสียดสีกันโดยตรงระหว่างเหล่ามหาอำนาจทางทหาร ... แต่ถ้าวอชิงตันยืนกรานที่จะทำเช่นนี้ต่อไป เราก็จะไม่หดหัวถอยหนีอย่างแน่นอน”
โกลบอลไทมส์กล่าวว่า นักวิชาการชาวจีนจำนวนมากเชื่อว่าหลังจากมีการวินิจฉัยตัดสินในขั้นสุดท้ายไปแล้ว ประเด็นปัญหานี้ก็จะค่อยๆ เย็นตัวลงมา หากไม่มีความเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ใดๆ จากมะนิลา, วอชิงตัน, และโตเกียว คำตัดสินในคดีนี้ “พูดกันจริงๆ แล้ว ก็จะค่อยๆ กลายเป็นเพียงกระดาษที่ไร้ความหมายชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง”
บทบรรณาธิการซึ่งใช้ถ้อยคำแรงๆ ชิ้นนี้ ปรากฏออกมาในขณะที่จีนยืนกรานอย่างแข็งกร้าวว่า ไม่ยอมรับและไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการกรุงเฮก ซึ่งลบล้างข้อกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่หลายส่วนในทะเลจีนใต้ของปักกิ่ง ที่อิงอาศัยเหตุผลที่ว่าแดนมังกรมีสิทธิตามประวัติศาสตร์
(รวบรวมเรียบเรียงจากรายงานของสำนักข่าวต่างๆ)