เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ในวันอังคาร (12 ก.ค.) เข้าร่วมพิธีไว้อาลัยตำรวจ 5 นายที่ถูกพลซุ่มยิงสังหารในดัลลัส ขณะที่เขาแสวงหาความเป็นอันหนึ่งเดียวกันในประเทศที่แตกแยกจากเรื่องผิวสีและการเมือง
ผู้นำสหรัฐฯ พร้อมกับนางมิเชล โอบามา ภรรยา ออกเดินทางจากวอชิงตันไปร่วมพิธีไว้อาลัยที่มีนายกเทศมนตรีเมืองดัลลัสเป็นผู้กล่าวเปิดพิธี โดยนายโอบามาใช้โอกาสนี้หาทางเยียวยาความแตกแยกภายในประเทศที่ถูกซ้ำเติมจากเหตุตำรวจ 5 นายที่โดนพลซุ่มยิงสังหารในดัลลัสเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (7 ก.ค.) กลายเป็นวันนองเลือดที่สุดของผู้บังคับใช้กฎหมายอเมริกาในรอบเกือบ 15 ปี
ไมคาห์ จอห์นสัน อดีตกำลังพลสำรองของกองทัพสหรัฐฯ วัย 25 ปี ซุ่มยิงปลิดชีพเหล่าเจ้าหน้าที่เมื่อวันพฤหัสบดี หลังขุ่นเคืองต่อกรณีตำรวจสังหารคนดำเมื่อไม่นานที่ผ่านมา ก่อนต่อมานายจอห์นสันจะถูกวิสามัญฆาตกรรมด้วยหุ่นยนต์บรรทุกระเบิดของตำรวจ
นายจอห์นสันลงมือก่อเหตุระหว่างการเดินชุมนุมประท้วงตำรวจ ต่อกรณีที่ยิงชายผิวดำ 2 คนเสียชีวิตในลุยเซียนาและมินนิโซตา ในเหตุเจ้าหน้าที่ยิงคนผิวดำหนล่าสุดที่ซ้ำเติมการโต้เถียงอย่างรุนแรงในประเด็นสีผิวและความยุติธรรมในอเมริกา
จากข้อมูลของตำรวจที่เจรจากับคนร้ายไม่สำเร็จ ระบุว่านายจอห์นสันบอกว่าเขาต้องการ “ฆ่าคนขาว” โดยเฉพาะตำรวจ
แม้เหตุยิงตำรวจสั่นสะเทือนอเมริกาจะผ่านไปแล้วหลายวัน แต่ ไมค์ รอว์ลิงส์ นายกเทศมนตรีเมืองดัลลัส ยอมรับว่าชาวบ้านยังคงสะอึกสะอื้นและเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “วันนี้เราเปิดประตูเทืองอีกครั้ง” เขากล่าว พร้อมแสดงความขอบคุณโอบามาที่เดินทางมาร่วมพิธี
โอบามาใช้เวลาเกือบตลอดทั้งวันจันทร์ (11 ก.ค.) เตรียมการปราศรัยระหว่างร่วมพิธีนี้ ที่มีอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เข้าร่วมด้วย
เหตุความรุนแรงล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงบั้นปลายแห่งวาระการดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาวของโอบามา หลังจากเมื่อ 8 ปีก่อนโวหารอันห้าวหาญของโอบามาได้ส่งให้เขาก้าวเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหรัฐฯ และก่อความหวังว่าเขาจะนำพาประเทศแห่งนี้ก้าวผ่านความแตกแยกทางสังคมไปได้
ในวันนี้ โอบามายืนกรานว่าความแตกแยกเช่นเดียวกับเหตุยิงกันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่สื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนพยายามทำให้ผู้คนเข้าใจแบบนั้น “ผมยังเชื่ออย่างหนักแน่นว่าอเมริกาไม่ได้แตกแยกอย่างที่บางคนคิด” พร้อมระบุว่า ปัจจุบันไม่ใช่วันที่มืดมัวอย่างเช่นช่วงปี 1960 ที่เมืองต่างๆ ของอเมริกาถูกเผา และอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ โดนลอบสังหาร