xs
xsm
sm
md
lg

อียูสั่งลงโทษ “คว่ำบาตรสเปน-โปรตุเกส” หลังฝ่าฝืนตัวเลขงบขาดดุลทางการคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – ที่ประชุมรัฐมนตรีการคลังของสหภาพยุโรปได้มีมติในวันนี้(12 ก.ค)สั่งเริ่มต้นกระบวนการคว่ำบาตรอย่างเป็นทางการต่อสเปนและโปรตุเกส โดยอ้างว่าทั้งสองชาติไม่ใช้วินัยทางการคลังใหม่มากพอเพื่อลดตัวเลขการขาดดุลเหลือแค่ 3.0% ตามข้อกำหนด

เอเอฟพีรายงานวันนี้(12 ก.ค)ว่า แถลงการณ์ของสหภาพยุโรปล่าสุดชี้ว่า “ที่ประชุมรัฐมนตรีการคลังของชาติสมาชิกยุโรปพบว่า ทั้งโปรตุเกสและสเปนไม่ยอมทำคำแนะนำที่ได้รับในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลทางการคลังที่เกินกว่ากำหนดของทั้งสองชาติ”

และในแถลงการณ์ยังกล่าวต่อว่า “ดังนั้นในที่ประชุมจึงมีมติให้เริ่มต้นกระบวนการคว่ำบาตรเพื่อลงโทษ”

ซึ่งเอเอฟพีชี้ว่า ทั้งสเปนและโปรตุเกสนี้เวลา 10 วันในการล็อบบี้สหภาพยุโรปไม่ให้ดำเนินการลงโทษ และฝ่ายคณะกรรมาธิการยุโรปมีเวลา 20 วันในการพิจารณาข้อโต้แย้ง และเริ่มต้นกระบวนการคว่ำบาตร

ทั้งนี้ภายใต้ข้อกำหนดของอียู คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)ที่เป็นองค์กรบริหาร สามารถที่จะสั่งปรับได้มากถึง 0.2 %ของตัวเลข GDP ของชาติสมาชิกในเขตเศรษฐกิจยูโรโซน ที่มีปัญหาไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ข้อจำกัดการขาดดุลทางการคลังของอียู แต่มาถึงทุกวันนี้ ทางเอเอฟพีชี้ว่า อียูยังไม่กล้าใช้อำนาจเต็มที่มีในการสั่งลงโทษ

เอเอฟพีรายงานต่อว่า ที่ประชุมระดับมนตรีการคลังได้ลงมติออกมาทั้งๆที่มีการเกรงกันว่า หากทางบรัสเซลส์ใช้มาตรการที่แข็งกร้าวมากเกินไปจะยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับสหภาพยุโรปที่เกิดความสั่นคลอนหลังจากผลการลงประชามติ BREXIT ออกมาแล้ว

ด้านมิเชล ซาแปง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังฝรั่งเศสได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินเข้าห้องประชุมว่า “กฎก็คือกฎ” แต่อย่างไรก็ตามซาแปงชี้ว่า ควรต้องใช้ความชาญฉลาดในการบังคับใช้ และรัฐมนตรีการคลังแดนน้ำหอมได้ขอให้ที่ประชุมพิจารณาถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของแต่ละประเทศเพื่อพิจารณา

ทั้งนี้เป็นที่รู้กันว่า ปัญหาการขาดดุลเป็นสิ่งที่อ่อนไหวมากสำหรับฝรั่งเศสในเวลานี้ ซึ่งปารีสกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตที่อาจต้องถึงขั้นละเมิดกฎจำกัดตัวเลขขาดดุลทางการคลังของอียูในปีหน้า แต่ทว่าการใช้มาตรการคว่ำบาตรลงโทษต่อชาติสมาชิกที่แหกกฎนั้นเป็นความหวังมาตลอดของทางฝั่งเยอรมันที่ได้เพิ่มอำนาจใหม่ให้กับบรัสเซลส์ในการกวาดล้างประเทศในยูโรโซนที่ละเมิดกฎ

เอเอฟพรายงานต่อว่า ทั้งโปรตุเกสและสเปนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน และทำให้ทั้งสองชาติต้องตกอยู่ในสถานการณ์ทำงบประมาณแบบขาดดุลจำนวนมหาศาลนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา

โปรตุเกสที่ได้รับการช่วยเหลือด้านการเงิน ประสบความสำเร็จสามรถลดตัวเลขการขาดดุลงบประมาณจากที่เคยเข้าใกล้ 10% ของตัวเลข GDP ในปี 2010 มาอยู่ที่ 4.4% ในปีที่ผ่านมา แต่กระนั้นยังคงสูงกว่าอัตราข้อกำหนดของยูโรโซนที่อนุญาตให้มีการขาดดุลอยู่ที่ 3.0% เท่านั้น

ส่วนสเปนที่ปัดความช่วยเหลือด้านการเงินจากอียู ต้องประสบปัญหามาตลอดช่วง 6 ปีของเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างหนัก โดยพบว่าในปี 2015 สเปนรายงานตัวเลขการขาดดุลทางการคลังอยู่ที่ 5.1% ของGDP ซึ่งยังคงห่างจากเป้าหมายที่ 4.2% ตั้งโดยคณะกรรมาธิการยุโรป และอัตราที่กำหนดไว้ของสหภาพยุโรป

แต่อย่างไรก็ตามเกรกอรี เคลส (Gregory Claeys) นักเศรษฐศาสตร์ประจำสถาบัน Bruege ในกรุงบรัสเซลส์ได้ให้ความเห็นว่า “ตราบใดก็ตามที่เรายังไม่มีกฎเกณฑ์ที่สมบูรณ์ เราควรต้องใช้อย่างยืดหยุ่น” และยังกล่าวต่อว่า “ไม่เช่นนั้นรัฐบาลชาติสมาชิกต่างๆจะชี้นิ้วไปยังบรัสเซลส์ และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับอียูจะพากันวิพากษ์ว่า ทุกสิ่งที่ผิดพลาดล้วนเกิดจากอียูทั้งสิ้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น