เอเจนซีส์ - รัสเซีย “จัดเต็ม” ประกาศในวันพฤหัสบดี (7ส.ค.) ห้ามนำเข้าสินค้าอาหารเกือบทั้งหมดจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อตอบโต้มาตรการแซงก์ชันต่อกรณียูเครน คาดสร้างความเสียหายหลายพันล้านต่อเกษตรกรตะวันตก แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจทำให้หลายเมืองในแดนหมีขาวขาดแคลนอาหาร นอกจากนั้น วังเครมลินยังขู่จะปิดไม่ให้สายการบินโลกตะวันตกบินผ่านน่านฟ้าของตนอีกด้วย ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนว่า “ปูติน” ไม่คิดก้มหัวให้ตะวันตกและพร้อมรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการเดินหน้านโยบายต่อยูเครน
อเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) นั้นไม่พอใจรัสเซียที่ผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเมื่อเดือนมีนาคม และกล่าวหาว่ามอสโกยังปลุกปั่นให้เกิดความตึงเครียดในยูเครนตะวันออกด้วยการจัดหาอาวุธและความเชี่ยวชาญให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนิยมรัสเซีย จึงจำเป็นต้อง “สั่งสอน” ด้วยการออกมาตรการลงโทษหลายระลอก โดยเฉพาะหนหลังสุดในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่ง “เล่นแรง” ถึงขั้นพุ่งเป้าไปยังอุตสาหกรรมน้ำมันและอาวุธของรัสเซีย จำกัดรัฐวิสาหิกจแดนหมีขาวในการเข้าถึงตลาดทุนตะวันตก รวมทั้งอาจระงับการซื้อขายหุ้นในตลาดยุโรปและนิวยอร์ก
ปรากฏว่า ในวันพฤหัสบดี (7) นายกรัฐมนตรีดมิทรี เมดเวเดฟ ได้แถลงต่อการประชุมของรัฐบาลซึ่งมีการถ่ายทอดทางทีวีว่า รัสเซียตัดสินใจตอบโต้มาตรการลงโทษดังกล่าว ด้วยการห้ามการนำเข้าเนื้อวัว เนื้อหมู ปลา สัตว์ปีก นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผัก และผลไม้ทั้งหมดจากอเมริกาและอียู รวมถึงออสเตรเลีย แคนาดา และนอร์เวย์ โดยมีผลทันทีและกินระยะเวลา 1 ปี เว้นแต่ประเทศเหล่านี้จะใช้ “แนวทางที่สร้างสรรค์” เกี่ยวกับการแซงก์ชันรัสเซีย
เมดเวเดฟแจงว่า การห้ามนำเข้าครั้งนี้จะไม่ครอบคลุมอาหารทารก และประชาชนยังสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ที่ถูกแบนได้จากต่างประเทศ หากต้องการ แต่เตือนว่า ผู้ที่พยายามค้ากำไรเกินควรจากผลิตภัณฑ์ที่ถูกห้ามนำเข้า จะถูกลงโทษสถานหนัก
ทั้งนี้ ทางการรัสเซียได้แสดงรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ถูกห่ามทั้งหมดไว้บนเว็บไซต์ของรัฐบาล
รัสเซียนั้นพึ่งพิงสินค้าอาหารจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก ประมาณกันว่าต้องนำเข้าถึงราว 35% ของอาหารที่บริโภคทั้งหมดทีเดียว โดยปีที่แล้วนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 43,000 ล้านดอลลาร์
อาหารอิมพอร์ตเหล่านี้จำนวนมากมาจากโลกตะวันตก โดยปีที่ผ่านมา อียูส่งออกสินค้าเกษตรให้รัสเซียคิดเป็นมูลค่า 15,800 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อเมริกาส่งออกสินค้าเกษตรไปยังแดนหมีขาวมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ ในเวลาเดียวกันนั้น ก็ทำให้รัสเซียกลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของผลไม้และผักอียู ตลอดจนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่อันดับ 2 ของเนื้อสัตว์ปีกจากสหรัฐฯ รวมทั้งเป็นผู้บริโภครายใหญ่รายหนึ่งของโลกในด้านเนื้อปลา เนื้อสัตว์ และอาหารนม
รัฐมนตรีเกษตร นิโคไล ฟีโอโดรอฟ ของรัสเซียกล่าวยอมรับว่า มาตรการห้ามนำเข้านี้ ในระยะสั้นจะส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งแรง นั่นคือราคาสินค้าอาหารจะพุ่งพรวด แต่เขาบอกว่าสำหรับระยะกลางและระยะยาวแล้วมองไม่เห็นอันตรายใดๆ เขากล่าวด้วยว่า รัสเซียจะชดเชยสินค้าส่วนที่ขาดหายไป ด้วยการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากซัปพลายเออร์รายอื่นๆ เป็นต้นว่า เนื้อสัตว์จากบราซิล และเนยจากนิวซีแลนด์
ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ได้รีบออกมาแถลงประณามความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัสเซียคราวนี้ และบอกว่าสงวนสิทธิ์ที่จะทำการตอบโต้
ทางด้าน อับโดลเรซา อับบาสเซียน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ให้ความเห็นว่าผู้ที่จะบาดเจ็บล้มตายจากมาตรการห้ามนำเข้าของรัสเซียนี้ ก็คือ ตลาดภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม มันก็จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อพวกเกษตรกรในประเทศผู้ผลิตทางโลกตะวันตกด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เกษตรกรในหลายๆ ภาคส่วนของพวกประเทศผู้ผลิตในโลกตะวันตก น่าที่จะได้รับบาดเจ็บ ทว่าความเจ็บปวดจำนวนมากทีเดียว จะแบกรับโดยชาวรัสเซียเอง ซึ่งจะต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่พุ่งสูง รวมทั้งสินค้าบางอย่างจะขาดแคลน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในแดนหมีขาวก็ทะยานแรงอยู่แล้ว โดยที่ค่าเงินรูเบิลกำลังลดฮวบ และเศรษฐกิจย่ำแย่จากการที่มีเงินทุนจำนวนมากไหลออกไป
พวกชนชั้นกลางรัสเซียตามเมืองใหญ่ๆ อย่างมอสโก ซึ่งเพิ่งกำเนิดขึ้นมายังไม่ทันกี่สิบปี และนิยมซื้อหาชีสอิตาเลียนหรือเนื้อวัวอเมริกันตามซูเปอร์มาร์เก็ต จะถูกกระทบอย่างแรง ทว่าไม่เพียงเท่านั้น ประชาชนคนสามัญที่ซื้อแอปเปิลโปแลนด์ และแตงกวากรีซ ในตลาดข้างถนน ก็จะต้องย่ำแย่ไปด้วย โดยที่ในปี 2011 รัสเซียเป็นผู้ซื้อ 28% ของผลไม้ส่งออกของอียู และ 21.5% ของผักส่งออกของอียู ตลอดจนเป็นผู้ซื้อ 8% ของเนื้อไก่ส่งออกของสหรัฐฯ ในปี 2013
ไม่เพียงแค่มาตรการแบนสินค้าอาหาร ในการแถลงคราวนี้ นายกฯเมดเวเดฟระบุด้วยว่า รัสเซียยังอาจห้ามสายการบินตะวันตกบินเหนือน่านฟ้าของแดนหมีขาว อันจะทำให้สายการบินเหล่านั้นมีต้นทุนเพิ่มและใช้เวลาในการบินนานขึ้น โดยเฉพาะในเส้นทางบินไปมาระหว่างยุโรปกับเอเชีย
นายกรัฐมนตรีรัสเซียเสริมว่า ยังไม่มีการตัดสินใจในเรื่องนี้แต่อย่างใด และไม่ได้ระบุเวลา รวมทั้งเงื่อนไขในการดำเนินมาตรการนี้
อย่างไรก็ตาม เมดเวเดฟประกาศชัดเจนว่า เครมลินหวังว่า การตอบโต้ครั้งนี้จะทำให้ตะวันตกเข้าใจว่า มาตรการแซงก์ชันรังแต่นำไปสู่ทางตันที่ไม่มีฝ่ายใดต้องการ และตัดสินใจทบทวนนโยบายของตนเอง รวมทั้งยุติการพยายามกดดันรัสเซียด้วยมาตรการลงโทษต่างๆ
แต่หากตะวันตกยังขัดขืน เมดเวเดฟสำทับว่ารัสเซียอาจประกาศมาตรการจำกัดการนำเข้าเครื่องบิน เรือ และรถยนต์ โดยรัฐบาลจะประเมินศักยภาพการผลิตภายในประเทศก่อนตัดสินใจใช้มาตรการนี้