xs
xsm
sm
md
lg

“ปูติน” สั่งร่างแผนตอบโต้แซงก์ชันตะวันตก เล็งห้ามยุโรปบินผ่านไซบีเรียสู่เอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - “ปูติน” สั่งรัฐบาลรัสเซียร่างแผนตอบโต้มาตรการแซงก์ชันตะวันตก สื่อท้องถิ่นเผยมอสโกอาจเอาคืนด้วยการห้ามสายการบินยุโรปบินผ่านไซบีเรียในเส้นทางสู่เอเชีย ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ขบคิดร่วมมือกับอียูออกมาตรการแซงก์ชันลงโทษแดนหมีขาว ปรากฏว่ารัสเซียเริ่มตอบโต้เอาคืนอย่างอ้อมๆ ด้วยการประกาศห้ามนำเข้าสินค้าอาหารจากฝ่ายตะวันตกแทบไม่เว้นแต่ละวัน โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค

ตามรายงานของสื่อท้องถิ่นในรัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศเมื่อวันอังคาร (5 ส.ค.) ว่า การใช้เครื่องมือทางการเมืองเพื่อสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจอย่างที่ฝ่ายตะวันตกกำลังทำกับรัสเซียนั้น เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และขัดต่อบรรทัดฐานและกฎระเบียบทั้งหลายทั้งปวง

ประมุขวังเครมลินกล่าวต่อไปว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน แดนหมีขาวสมควรที่จะต้องพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การแซงก์ชันของบางประเทศ แต่จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ผลิตชาวรัสเซีย พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนอาหารสำคัญที่นำเข้าจากตะวันตก

ทั้งนี้ มาตรการลงโทษระลอกล่าสุดและถือว่ารุนแรงที่สุดของสหรัฐฯและสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งประกาศออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น พุ่งเป้าที่อุตสาหกรรมน้ำมันและอาวุธของรัสเซีย นอกจากนั้น รัฐวิสาหกิจแดนหมีขาวยังถูกจำกัดการเข้าถึงตลาดทุนตะวันตก รวมทั้งอาจถูกระงับการซื้อขายหุ้นในตลาดยุโรป และนิวยอร์ก

“โดโบรเล็ต” สายการบินต้นทุนต่ำในเครือของ “แอโรฟลอต” สายการบินแห่งชาติของรัสเซีย ยังถูกบีบให้ต้องประกาศระงับการให้บริการทั้งหมดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากมาตรการแซงก์ชันของอียูส่งผลต่อการเช่าซื้อเครื่องบินจากโบอิ้ง

นอกจากปูตินแล้ว ทางด้านนายกรัฐมนตรีดมิทรี เมดเวเดฟ ก็ได้ออกมากล่าวกับรัฐมนตรีคมนาคมและรองประธานบริหารของแอโรฟลอตว่า รัสเซียควรพิจารณาหาหนทางตอบโต้เช่นกัน ทั้งนี้ตามรายงานของ หนังสือพิมพ์เวโดมอสติ ของกรุงมอสโกเมื่อวันอังคาร

เวโดมอสติยังรายงานต่อไปว่า มอสโกอาจตอบโต้อียูด้วยการจำกัดหรือห้ามพวกสายการบินยุโรปที่มุ่งหน้าสู่เอเชีย บินผ่านดินแดนไซบีเรีย อันจะส่งผลทำให้เที่ยวบินของสายการบินยุโรปเหล่านี้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงคมนาคมของแดนหมีขาวกำลังพิจารณาหารือเรื่องนี้กันอยู่

การดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลทำให้สายการบินเอเชียได้เปรียบผู้เล่นยุโรป แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้รัสเซียสูญค่าธรรมเนียมจากการบินผ่านน่านฟ้า ทั้งนี้ แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ประมาณการว่า แดนหมีขาวได้รับเงินค่าธรรมเนียมนี้ประมาณ 250-300 ล้านดอลลาร์ต่อปี

เวโดมอสติรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวรายหนึ่งว่า ถ้ารัสเซียห้ามพวกยุโรปบินผ่านน่านฟ้าจริงๆ อาจทำให้สายการบิน อย่างเช่น ลุฟท์ฮันซ่า, บริติช แอร์เวย์ส และแอร์ฟรานซ์ มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านยูโร (1,300 ล้านดอลลาร์) ในระยะเวลา 3 เดือน อย่างไรก็ดี พวกผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมค้านว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจสูงเกินความเป็นจริง

ขณะที่ บอริส ไรยาบ็อก ที่ปรึกษาด้านการบินของรัสเซียคาดว่า การหลีกเลี่ยงน่านฟ้ารัสเซียอาจทำให้สายการบินยุโรปต้องมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้น่านฟ้าให้รัสเซียในราว 25-50% หรือเท่ากับว่าต้องจ่ายแพงขึ้น 10-200 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ในยุคสงครามเย็นเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา พวกสายการบินตะวันตกส่วนใหญ่ก็ถูกห้ามบินผ่านรัสเซีย จึงต้องเปลี่ยนไปบินผ่านอ่าวเปอร์เซียเพื่อไปยังเอเชีย หรือใช้สนามบินแองเคอเรจในมลรัฐอะแลสกา ของสหรัฐฯ ในเส้นทางบินผ่านแถบขั้วโลกเหนือ

นอกจากด้านสายการบินแล้ว รัสเซียยังดูเหมือนกำลังตอบโต้เอาคืนการใช้มาตรการลงโทษของโลกตะวันตก ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดหรือกระทั่งห้ามนำเข้าสินค้าอาหารของตะวันตก โดยอ้างเหตุผลในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค

ทั้งนี้ รอสเซลคอสนาดเซอร์ หน่วยงานกำกับตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารของรัสเซีย ออกมาประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ผลิตภัณฑ์นม ชีส และหอมใหญ่จากยูเครน รวมทั้งลูกพีชกรีซ ลูกพรุนเซอร์เบีย แอปเปิลและกะหล่ำปีโปแลนด์ และเนื้อวัวสเปน ปนเปื้อนแบคทีเรียอันตรายหรือละเมิดกฎข้อบังคับอื่นๆ

ช่วงหลายสัปดาห์มานี้ระหว่างที่บรัสเซลส์กับวอชิงตันหารือเรื่องมาตรการลงโทษรอบใหม่ รอสเซลคอสนาดเซอร์ ได้ทยอยออกประกาศพวกอาหารต่างชาติซึ่งเป็นภัยต่อผู้บริโภครัสเซีย และสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากอียูหรืออเมริกาแทบทุกวัน ล่าสุดคือผลไม้และผักจากโปแลนด์

นอกจากนั้น รอสเซลคอสนาดเซอร์ยังขู่แบนนมผงจากลัตเวีย ไก่และเหล้าเบอร์เบินของอเมริกา และผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมดของยูเครน

ถึงแม้แดนหมีขาวยืนยันว่ามาตรการทั้งหมดนี้ทำเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่โลกตะวันตกก็วิพากษ์วิจารณ์กันมานานแล้วว่า รัสเซียมักใช้การค้าเป็นอาวุธ โดยอ้างเหตุผลด้านสุขภาพในการห้ามนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อกดดันชาติเพื่อนบ้านมาตลอด เป็นต้นว่า การห้ามนำเข้าไวน์จากจอร์เจียในปี 2006 หลังจากประเทศที่เคยเป็นสาธารณรัฐในอดีตสหภาพโซเวียตแห่งนี้ดำเนินนโยบายเอนเอียงไปทางฝ่ายตะวันตกมากขึ้น

แม้สามารถนำเข้าสินค้าบางอย่างจากประเทศอื่นๆ แต่ถึงอย่างไรในเรื่องสินค้าอาหาร รัสเซียก็ยังพึ่งพิงผลิตภัณฑ์นำเข้าถึง 1 ใน 3 ของปริมาณที่บริโภคทั้งหมด รวมทั้งต้องพึ่งพิงเมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง และอุปกรณ์การเกษตรนำเข้าอีกด้วย

กระนั้น คอนสแตนติน คาลาเชฟ นักวิเคราะห์การเมืองรัสเซียชี้ว่า มาตรการตอบโต้ของแดนหมีขาวเหล่านี้ นอกเหนือจากผลลัพธ์ในทางเศรษฐกิจแล้ว ยังให้ส่งผลที่ชัดเจนมากกว่าด้วยซ้ำในเรื่องของการโฆษณาปลุกใจประชาชนชาวรัสเซีย แถมยังได้รับการสนับสนุนจากชาวรัสเซียส่วนใหญ่ ซึ่งยังไม่รู้สึกว่าได้รับความกระทบกระเทือนอะไรอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น