เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - ผลการนับคะแนนที่ออกมาในวันจันทร์ (11 ก.ค.) ชี้ว่าพรรครัฐบาลญี่ปุ่นชนะการเลือกตั้งวุฒิสภาซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (10) อย่างถล่มทลาย เสริมให้ฐานการเมืองของนายกฯ ชินโซ อาเบะ เข้มแข็งอย่างยิ่ง นอกจากนั้นหากบวกกับพวกพรรคพันธมิตรแล้ว ก็ยึดที่นั่งถึงสองในสาม ซึ่งหมายถึงสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทว่า อาเบะ รีบออกมาแถลงว่าการเปลี่ยนแปลงกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้ยังไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพื่อปลอบใจพวกที่เป็นห่วงว่าเขาจะหันเหความสนใจออกจากการแก้ไขเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอยิ่ง
ขณะนับคะแนนไปจนเกือบเสร็จสิ้น พบว่า พรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (LDP) ของ นายกฯ อะเบะ กวาดชัยชนะได้งดงามในการเลือกตั้งคราวนี้ซึ่งเป็นการชิงชัยที่นั่งครึ่งหนึ่งของสภาสูงที่มีจำนวนทั้งสิ้น 242 ที่นั่ง โดยเมื่อรวมกับที่นั่งในส่วนที่ไม่มีการเลือกตั้งครั้งนี้ ขาดอีกเพียงที่นั่งเดียว พรรค LDP ก็จะครองเกินครึ่งหนึ่งของวุฒิสภาแล้ว
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรค LDP และพรรคพันธมิตรรวม 4 พรรคที่มีแนวคิดต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งเป้ายึดที่นั่งเกินกว่า 2 ใน 3 ของสภา ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้กองทัพญี่ปุ่นมีบทบาททางทหารมากยิ่งขึ้นได้ และผลการเลือกตั้งที่ยังไม่เป็นทางการก็ชี้ว่า พรรค LDP และพรรคพันธมิตรน่าจะได้ที่นั่งตามเป้าหมาย หรือหากจะขาดก็น่าจะเพียงแค่ 1 ที่นั่ง
อย่างไรก็ตาม นายกฯ อาเบะ แถลงหลังทราบผลการเลือกตั้งว่า ผลที่ออกมาเป็นการยืนยันความเชื่อมั่นของประชาชนต่อนโยบายเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” ส่วนการแก้ไข หรือทบทวนรัฐธรรมนูญนั้น อาเบะกล่าวว่านี่คือหน้าที่ของเขาในฐานะที่เป็นประธานพรรค LDP ทว่ามันจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และเขาคิดว่ายังจะต้องมีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างลึกซึ้งต่อไปอีก
พวกผู้เชี่ยวชาญหลายรายก็มีความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้อย่างง่ายดาย เพราะถึงแม้เวลานี้ LDP และพรรคพันธมิตรครองเสียงสองในสามทั้งในสภาล่างและสภาสูงสำเร็จแล้ว ทว่า แต่ละพรรคใช่จะเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่จะทำการแก้ไขในรัฐธรรมนูญ
“มันเป็นครั้งแรกที่ได้เสียงสองในสามในสภาทั้งสองของรัฐสภา แต่คุณก็ไม่สามารถค้นหาประเด็นที่เสียง 2 ใน 3 นี้สามารถเห็นพ้องต้องกันได้อยู่ดี” เจอร์รี เคอร์ติส ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนครนิวยอร์ก กล่าวให้ความเห็น
นอกจากนั้น ภายหลังแก้ไขผ่านรัฐสภาออกมาได้ ก็ยังต้องจัดให้มีการลงประชามติเห็นชอบอีก ซึ่งมองกันว่าผู้ออกเสียงชาวญี่ปุ่นเสียงข้างมากยังต่อต้านเรื่องนี้อยู่
ยังมีบางฝ่ายในตลาดการเงินแสดงความกังวลว่า การมุ่งโฟกัสที่เรื่องรัฐธรรมนูญ จะเป็นการหันเหดึงความสนใจออกมาจากเรื่องเศรษฐกิจ ทว่า อาเบะให้สัญญาว่าจะจัดทำแพกเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ออกมาประกาศใช้ในเร็ววัน
“เขาต้องเพิ่มเสียงสนับสนุนให้สูงกว่านี้อีกในการเดินหน้าแก้ไข (รัฐธรรมนูญ) ดังนั้น บางทีเพื่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย เขาก็จะต้องเสนอแพกเกจเศรษฐกิจขนาดใหญ่ออกมา” ไดจิ อาโอกิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งบริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส ซีเคียวริตีส์ แจแปน ให้ความเห็น
จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใด?
สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า ในหมู่ประชาชนญี่ปุ่นยังคงมีความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของอาเบะ ถึงแม้ LDP และเหล่าพรรคพันธมิตร โดยเฉพาะพรรคโคเมอิ ซึ่งเป็นพรรคที่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมกับ LDP ด้วย จะได้ชัยชนะอย่างสำคัญ หากนับกันที่จำนวนที่นั่ง
การหยั่งเสียงที่กระทำกันหลายๆ ครั้งแสดงให้เห็นว่า ผู้ออกเสียงจำนวนมากมีความกังวลที่จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 9 ซึ่งมีเนื้อหาประณามสงคราม และพวกผู้สนับสนุนมองว่านี่คือต้นแหล่งที่ก่อให้เกิดสันติภาพและประชาธิปไตยในญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่พวกอนุรักษนิยมอย่างพรรค LDP มองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของการที่ญี่ปุ่นต้องเป็นผู้ปราชัยอย่างน่าอับอาย
หากพิจารณากันตามลายลักษณ์อักษรแล้ว มาตรา 9 นี้ ห้ามการมีกองทัพ ทว่า รัฐบาลญี่ปุ่นชุดต่างๆ ที่ผ่านมาได้ตีความเสียใหม่ จนทำให้แดนอาทิตย์อุทัยมีทหารสำหรับการป้องกันตนเองได้ และเรียกชื่อว่าเป็นกองกำลังป้องกันตนเอง ครั้นมาถึงปีที่แล้วรัฐบาลอาเบะยังได้ตีความเพิ่มเติม ซึ่งเปิดทางให้ทหารญี่ปุ่นสามารถเข้าช่วยเหลือบรรดาชาติเพื่อนมิตรที่ถูกโจมตีได้อีกด้วย
แต่การที่จะเกลี้ยกล่อมพรรคโคเมอิซึ่งมีประเพณีที่ไม่สนับสนุนเรื่องการทหาร ให้หันมาเห็นพ้องกับการแก้ไขมาตรา 9 นี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย ดังนั้นฝ่ายที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญจึงอาจเดินกลยุทธ์มุ่งแก้ไขประเด็นอื่นๆ เสียก่อน
ความเป็นไปได้ประการหนึ่งคือ จะให้มีการเพิ่มเติมข้อความซึ่งทำให้รัฐบาลมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นในเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ ทว่ายังมีพวกที่วิพากษ์วิจารณ์คัดค้านว่า นั่นจะเป็นภัยต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเสนอขึ้นมาโดยพรรคโคเมอิ ก็คือให้เพิ่มข้อความเรื่องการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ก้าวเดินเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดการขัดแย้งอะไรนัก แต่หากทำสำเร็จก็จะกลายเป็นการสร้างแบบอย่างขึ้นมาว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้