xs
xsm
sm
md
lg

‘โอบามา’ โว ‘สหรัฐฯ’ เคียงข้างพันธมิตรนาโตเสมอไป ขณะ ‘ยุโรป’ เน้นต้องทั้งป้องปรามทั้งสนทนากับ ‘รัสเซีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ แถลงข่าวภายหลังเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของนาโต้ ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันเสาร์ (9 ก.ค.) โอบามาซึ่งกำลังจะพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันต้นปีหน้า ยืนยันว่าสหรัฐฯจะยังยืนเคียงข้างยุโรปเสมอไป </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ประกาศในการประชุมซัมมิตนาโตครั้งสุดท้ายของเขา เมื่อวันเสาร์ (9 ก.ค.) ว่า สหรัฐฯจะยืนอยู่เคียงข้างยุโรปเสมอไป ขณะที่เหล่าพันธมิตรองค์การความร่วมมือทางทหารภาคพื้นแอตแลนติกแห่งนี้ แถลงว่า ให้การสนับสนุนนโยบายที่จะทั้งป้องปรามทั้งพูดจาสนทนากับรัสเซีย

“ในยามสุขและในยามทุกข์ ยุโรปสามารถที่จะพึ่งพาไว้วางใจสหรัฐฯได้เสมอ” โอบามา กล่าวภายหลังที่การประชุมระดับผู้นำขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในกรุงวอร์ซอ, โปแลนด์ มีมติรับรองการปรับปรุงยกเครื่ององค์การแห่งนี้ในทางทหารครั้งใหญ่โตที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะตอบโต้การที่รัสเซียเข้าไปแทรกแซงในยูเครน

โอบามา บอกว่า นาโตกำลังอยู่ใน “ชั่วขณะอันสำคัญอย่างยิ่ง” ในการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามต่าง ๆ ทั้งจากกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส), วิกฤตการณ์ในยูเครน, การไหลทะลักของผู้อพยพเข้าสู่ยุโรปอย่างมากมายที่สุดนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และท้ายสุดก็คือ การที่อังกฤษลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งเติมเชื้อให้เกิดความหวาดหวั่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับอนาคตของยุโรป

“ในชั่วขณะอันท้าทายเช่นนี้ ผมขอถือโอกาสนี้กล่าวย้ำอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ พันธะความผูกพันอันไม่มีทางคลอนแคลนหวั่นไหวของสหรัฐฯที่มีต่อความมั่นคงและการป้องกันของยุโรป” เขาประกาศ

ในเวลาเดียวกัน โอบามา ซึ่งเข้าร่วมซัมมิตนาโตคราวนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ก่อนที่เขาจะพ้นตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในต้นปีหน้า ก็กล่าวเตือนเหล่าพันธมิตรยุโรป ว่า จักต้องกระทำหน้าที่ในส่วนของพวกเขาด้วยเช่นกัน และทำให้ได้ตามพันธะผูกพันที่จะนำเอาผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปีของประเทศอย่างน้อย 2% มาใช้จ่ายในด้านกลาโหม

“ชาติพันธมิตรส่วนข้างมากเลยยังคงไม่ได้บรรลุหลักหมาย 2% ... ดังนั้น เราจึงต้องมีการสนทนากันอย่างตรงไปตรงมายิ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้” เขาบอก
<i>นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ (กลางซ้าย) สวมกอดนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี (กลางขวา) ภายหลังการถ่ายภาพหมู่ร่วมกับพวกผู้นำองค์การนาโต้คนอื่นๆ  ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ วันเสาร์ (9 ก.ค.) ที่ผ่านมา </i>
“ความสามมัคคีเป็นหนึ่งเดียว” ในนาโต

ก่อนหน้านี้ เลขาธิการนาโต เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก ออกมากล่าวว่า เหล่าผู้นำ 28 ชาติพันธมิตร ซึ่งมาประชุมซัมมิตกันคราวนี้ ไม่ได้มีความเห็นแตกต่างกันเลยในเรื่องวิธีการตอบโต้รับมือกับรัสเซียที่กำลังก้าวผงาดโดดเด่นอีกครั้งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

“พันธมิตรนี้สามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน พวกเรายืนอยู่ด้วยกัน ... ข้อความที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวซึ่งส่งออกไปก็คือ การป้องกันและการสนทนากันคือพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์ของพวกเรา”

อย่างไรก็ตาม มีพันธมิตรบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสและเยอรมนี ได้ออกมาเรียกร้องนาโตให้หลีกเลี่ยงอย่าได้เผชิญหน้ากับรัสเซียในสไตล์ของยุคสงครามเย็น

กระนั้น ความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ คำที่ถูกกล่าวออกมาบ่อยครั้งระหว่างซัมมิต 2 วันคราวนี้ ซึ่งจัดขึ้นไม่นานหลังจากประชามติ “เบร็กซิต” ทำให้เหล่ารัฐพันธมิตรพากันช็อก และก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของอังกฤษในฐานะที่เป็นมหาอำนาจระดับโลกที่มีอาวุธนิวเคลียร์

นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ซึ่งก็กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่ง บอกว่า เขาได้กล่าวย้ำกับพวกเพื่อนผู้นำชาติพันธมิตรของเขาว่า อังกฤษจะยังคงยึดมั่นในพันธะผูกพันที่มีต่อพวกเขาและต่อนาโต รวมทั้งประกาศว่ารัฐสภาอังกฤษมีกำหนดลงมติออกเสียงในวันที่ 18 กรกรกฎาคมนี้ ในเรื่องการปรับปรุงยกเครื่องคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ “ไทรเดนต์” ของตน ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนคำมั่นสัญญานี้

เขากล่าวระหว่างการแถลงข่าวภายหลังการประชุมซัมมิตว่า อังกฤษหนุนหลังอย่างเต็มต่อมาตรการต่าง ๆ ที่รับรองโดยนาโต้ ในการตอบโต้ต่อวิกฤตการณ์ยูเครน กระนั้นเขาก็บอกด้วยว่า “แต่เราก็ยังต้องมีปฏิสัมพันธ์ในการสนทนาอย่างมุ่งมั่นยืนกรานกับรัสเซียอีกด้วย”
<i>ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ของยูเครน (ซ้าย) กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าว ขณะที่ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต้ยืนมองอยู่ ณ ที่ประชุมซัมมิตนาโต้ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันเสาร์ (9 ก.ค.) รายงานข่าวบอกว่าแม้พวกผู้นำนาโต้จะปลอบขวัญให้กำลังใจโปโรเชนโก แต่ในซัมมิตคราวนี้ ยูเครนไม่อาจผลักดันขยับใกล้การเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ได้  เนื่องจากหลายชาติยุโรปเวลานี้ต้องการรอมชอมกับรัสเซียมากกว่า </i>
เจ้าภาพโปแลนด์และรัฐบอลติก อันได้แก่ ลิธัวเนีย, เอสโตเนีย, ลัตเวีย ซึ่งเคยอยู่ใต้อิทธิพล หรือกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตมาก่อน ต่างพยายามกดดันอย่างหนักให้นาโตมีปฏิบัติการตอบโต้มอสโกอย่างแข็งกร้าวยิ่งขึ้นกว่านี้อีก ทว่า มาตรการปรับปรุงยกเครื่องต่าง ๆ ของนาโตครั้งนี้ลงท้ายก็ดูทำให้พวกเขาบังเกิดความมั่นใจมากขึ้น ประธานาธิบดี ดาลิอา กรีเบาส์ไกเต ของลิธัวเนีย หนึ่งในผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียอย่างรุนแรงที่สุด แถลงว่า เธอ “กำลังอ่อนโยนลง” ในประเด็นเรื่องความจำเป็นที่จะต้องสนทนากับมอสโก

ทั้งนี้ ปูตินเองก็แสดงท่าทีต่อค้านคัดค้านอย่างขมขื่น ต่อสิ่งที่เขามองเห็นว่าเป็นการที่นาโตรุกล้ำเข้ามาจนถึงพรมแดนของรัสเซีย

นาโตกับรัสเซียมีกำหนดนัดหมายเปิดการเจรจากันอย่างเป็นทางการในวันพุธ (13) นี้ที่กรุงบรัสเซลส์ และเชื่อได้ว่า จะเป็นการหารือที่ยากลำบากยากเย็น หลังจากที่ประชุมซัมมิตนาโต้คราวนี้ลงมติรับรองให้จัดส่งทหารนาโตจำนวน 4 กองพัน (ประมาณ 3,000 - 4,000 คน) เข้าประจำการในโปแลนด์และรัฐบอลติกทั้ง 3 ชาติละ 1 กองพัน เพื่อทำหน้าที่เป็นเสมือนสายลวดเตือนภัยที่ขึงดักศัตรูซึ่งกำลังจะรุกรานเข้ามา

รัสเซียยิ่งส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงกว่านี้ด้วยซ้ำต่อระบบการป้องกันขีปนาวุธนำวิถี (Ballistic Missile Defence system) ซึ่งสหรัฐฯกำลังสร้างขึ้นมาในยุโรปด้วยข้ออ้างว่าเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามทางขีปนาวุธจากอิหร่านหรือจากตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ในซัมมิตคราวนี้ นาโตมีมติรับรองที่จะเข้าเป็นผู้บังคับบัญชาระบบดังกล่าวนี้ และเริ่มต้นใช้งานเชิงปฏิบัติการได้ ในวันศุกร์ (8) ที่ผ่านมา

ที่ประชุมซัมมิตนาโตยังรับรองในทางหลักการสำหรับการใช้เครื่องบินตรวจการณ์ติดตั้งระบบ “เอแวคส์” (AWACS) อันล้ำสมัยไฮเทค เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติการในซีเรียและอิรักของกลุ่มพันธมิตรต่อต้านไอเอสที่นำโดยสหรัฐฯ
<i>ระหว่างซัมมิตนาโต้ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ คราวนี้  มีกลุ่มผู้ประท้วงจัดการชุมนุมต่อต้านเช่นกัน โดยระบุว่านาโต้เป็นองค์การเพื่อการทำสงครามซึ่งควรยุบเลิกได้แล้ว ดังที่เห็นในภาพซึ่งถ่ายเมื่อวันเสาร์ (9 ก.ค.) นี้ อันเป็นการชุมนุมประท้วงที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม Stop the War Initiative Poland </i>
ขณะเดียวกัน เหล่าผู้นำนาโตลงมติยืนยันคำมั่นที่จะให้เงินทุนสนับสนุนกองกำลังความมั่นคงของอัฟกานิสถานไปจนกระทั่งถึงปี 2020 เพื่อสู้รบกับกองกำลังตอลิบานที่กำลังกดดันบีบคั้นรัฐบาลอัฟกานิสถานในกรุงคาบูลอย่างหนักหน่วง

สโตลเตนเบิร์ก แถลงว่า นาโตจะคงทหารเอาไว้ในอัฟกานิสถานไปจนถึงปี 2017 เพื่อฝึกอบรมและให้คำแนะนำแก่กองทหารอัฟกัน แต่เขาไม่ได้ระบุว่าการเข้ามีส่วนร่วมพัวพันทางทหารครั้งยาวนานที่สุดของพันธมิตรนาโต้คราวนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

นอกจากนั้น นาโตยังจะขยายการฝึกอบรมทหารอิรักซึ่งเวลานี้กระทำกันอยู่ในจอร์แดน ให้ไปจัดกันในอิรักโดยตรง อีกทั้งยังกำลังมองหาทางที่จะช่วยเหลือลิเบีย หากรัฐบาลที่หนุนหลังโดยยูเอ็นในประเทศนั้นเรียกร้องขอความช่วยเหลือมา

กำลังโหลดความคิดเห็น