xs
xsm
sm
md
lg

‘ยูเครน’ ได้แค่คำปลอบใจจาก ‘ซัมมิตนาโต้’ แถมโลกตะวันตกทำท่าอยากกลับไปญาติดี ‘รัสเซีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ของยูเครน (ซ้าย) และเลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก จับมือกันภายหลังการแถลงข่าวร่วมกัน ซึ่งจัดขึ้นหลังจากวาระหารือเรื่องยูเครน ในการประชุมซัมมิตของนาโต้ ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันเสาร์ (9 ก.ค.) </i>
รอยเตอร์ - ยูเครนได้รับคำมั่นสัญญาว่าจะได้ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากที่ประชุมซัมมิตขององค์การนาโต้เมื่อวันเสาร์ (9 ก.ค.) ทว่าลู่ทางโอกาสที่เคียฟจะได้กลายเป็นสมาชิกขององค์การพันธมิตรทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ แห่งนี้ในท้ายที่สุดยังคงดูห่างไกลเช่นเคย โดยที่พวกชาติตะวันตกเวลานี้มุ่งความสนใจไปที่การหาหนทางรอมชอมกับรัสเซีย

องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เห็นพ้องกันระหว่างการประชุมระดับผู้นำเป็นเวลา 2 วันที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ว่าจะเพิ่มกำลังทหารป้องกันปีกด้านตะวันออกของตน เพื่อเป็นการตอบโต้ที่รัสเซียบุกยึดแหลมไครเมียจากยูเครนแล้วประกาศผนวกเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนเมื่อปี 2014 อีกทั้งมอสโกยังให้การหนุนหลังพวกกบฏในยูเครนตะวันออกทำการสู้รบเรื่อยมากับกองทหารเคียฟ

ทว่า หลังจากที่โลกตะวันตกตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรรัสเซียมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว เวลานี้ก็มีบางชาติในนาโต้และในสหภาพยุโรปกำลังผลักดันให้ใช้จุดยืนที่นุ่มนวลมากขึ้นต่อมอสโก รวมทั้งยังกำลังหมดความอดทนมากขึ้นเรื่อยๆ กับสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นการที่ยูเครนชะงักงันไม่ค่อยคืบหน้าในการปรับปรุงเศรษฐกิจของตนให้ทันสมัยและต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

ระหว่างร่วมแถลงข่าวกับประธานาธิบดี เปโตร โปโรเชนโก ของยูเครน ในวันเสาร์ (9) เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการของนาโต้ กล่าวว่า รัสเซียจักต้องหยุดยั้ง “การให้ความสนับสนุนทั้งทางการเมือง, การทหาร และทางการเงินแก่พวกแบ่งแยกดินแดน” ในยูเครนตะวันออก

“ชาติพันธมิตร (นาโต้) มีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันในการให้ความสนับสนุนของพวกเขาแก่อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน” เขากล่าว “เราไม่ได้รับรองและเราก็จะไม่รับรองการที่รัสเซียเข้าผนวกไครเมียอย่างผิดกฎหมายและอย่างไม่ชอบธรรม รวมทั้งเราขอประณามการที่รัสเซียจงใจก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพในยูเครนตะวันออก”

เขากล่าวย้ำถึงการที่นาโต้ให้ความสนับสนุนทางการเมืองแก่ยูเครน และบอกว่าเหล่ารัฐพันธมิตรนาโต้จะช่วยเหลือเคียฟในการรับมือกับความเสี่ยงอันเกิดขึ้นจากพวกระเบิดแสวงเครื่อง โดยถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกสุดเหนือความช่วยเหลืออย่างอื่นๆ ซึ่งมุ่งหมายที่จะปรับปรุงยกระดับสมรรถนะของกองทัพยูเครนตามที่ได้เคยตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้
<i>ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ของยูเครน ชูกระดาษแผ่นหนึ่ง ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับ เลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก ในการประชุมซัมมิตของนาโต้ ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันเสาร์ (9 ก.ค.) </i>
ทางด้านโปโรเชนโกก็แถลงแสดงความชื่นชมว่า การตัดสินใจเหล่านี้สาธิตให้เห็นถึงจุดยืนอันมั่นคงที่นาโต้มีต่อยูเครน และบอกว่า “ตอนนี้เราจะต้องดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ที่จำเป็น”

“การปฏิรูปเหล่านี้จะนำเราให้เข้าใกล้หลักเกณฑ์ (ในการเป็นสมาชิกของนาโต้) และจากนั้นประชาชนชาวยูเครนจะตัดสินใจว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป” เขากล่าวเมื่อถูกถามเกี่ยวกับลู่ทางโอกาสที่ยูเครนจะได้เข้าสู่นาโต้ในที่สุด โดยที่เรื่องนี้นาโต้ได้เคยให้คำมั่นกับเคียฟเอาไว้ตั้งแต่ปี 2008 ทว่าในเวลานี้กลับไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระหารือกัน

สันติภาพและการปฏิรูป

ขณะที่บรรยากาศเต็มไปด้วยถ้อยคำรื่นหูแสดงความเป็นมิตร แต่ในทางเป็นจริงแล้ว เคียฟกำลังถูกกดดันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากฝ่ายตะวันตกในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ต้องทำการกระจายอำนาจและจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นในยูเครนตะวันออก ซึ่งข้อตกลงหยุดยิงระหว่างเคียฟกับฝ่ายกบฏยังถูกละเมิดอยู่บ่อยครั้ง

แผนการสันติภาพขั้นต่อไปในดินแดนยูเครนตะวันออกที่เรียกกันว่า “ดอนบาสส์” (Donbass) ซึ่งเกิดขึ้นจากการเจรจาตกลงกันในกรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส ระหว่างยูเครนกับรัสเซีย และมีเยอรมนีกับฝรั่งเศสเข้าร่วมด้วยนั้น อยู่ในภาวะชะงักงันมานานเดือนแล้ว และเวลานี้ปารีสกับเบอร์ลินกำลังเพิ่มความพยายามอีกครั้งเพื่อให้มีการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่

นี่หมายความว่าเคียฟควรต้องยอมรับให้ดอนบาสส์มีฐานะเป็นเขตพิเศษในทางกฎหมาย และดำเนินการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศโดยผ่านการปฏิรูปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกับที่มอสโกก็มีพันธะผูกพันที่จะต้องช่วยเคียฟให้สามารถกลับเข้าควบคุมพรมแดนด้านตะวันออกของยูเครนได้อีกครั้ง ตลอดจนทั้งสองฝ่ายจะต้องถอนกำลังอาวุธหนักทั้งหลายออกไปเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการหยุดยิงอย่างทรงประสิทธิภาพในยูเครนตะวันออก
<i> (จากซ้ายไปขวา) นายกรัฐมนตรีมัตเตโอ เรนซี ของอิตาลี, นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ, ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ของยูเครน, ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี, และประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส ยืนเข้าแถวเพื่อถ่ายภาพร่วมกัน ภายหลังการพบปะหารือของพวกเขาเมื่อวันเสาร์ (9 ก.ค.) ซึ่งเป็นการประชุมข้างเคียงระหว่างที่พวกเขาเข้าร่วมซัมมิตนาโต้ ในกรุงวอร์ซอ </i>
ทางฝ่ายสหรัฐฯ นั้นมีความพยายามที่จะวาดภาพออกมาในแง่ดี โดยที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวผู้หนึ่งกล่าวว่า เหล่าผู้นำของสหรัฐฯ, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ และอิตาลี ได้พบปะหารือกับโปโรเชนโก ในการประชุมข้างเคียงของซัมมิตนาโต้คราวนี้ เพื่อแสดงความสนับสนุนยูเครน

“ผู้นำเหล่านี้เห็นพ้องกันว่ายูเครนได้ดำเนินการคืบหน้าไปมากในด้านการปฏิรูปทางการเมือง, ทางเศรษฐกิจ และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทว่าก็ยังจะต้องทำงานต่อไปอีกมาก” เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวต่อ

ขณะที่ทั้งโปโรเชนโก และประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส ต่างแถลงว่าเหล่าผู้นำเหล่านี้ได้พูดคุยทำงานกันเกี่ยวกับ “โรดแมป” ขั้นตอนทางด้านความมั่นคงต่างๆ ที่จำเป็นในดอนบาสส์ เพื่อเปิดทางให้จัดการเลือกตั้งขึ้นที่นั่นได้ในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้

ยิ่งในเยอรมนีด้วยแล้ว รองนายกรัฐมนตรี ซิกมาร์ กาเบรียล หัวหน้าพรรคโซเชียลเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล พูดจาให้ความเห็นอย่างโต้งๆ ว่า มาถึงเวลานี้ฝ่ายตะวันตกสมควรทำการเจรจากับรัสเซียอีกครั้ง และเขา “มีความสงสัยข้องใจอย่างแรงกล้า” ว่าซัมมิตวอร์ซอคราวนี้ ซึ่งทำให้นาโต้เพิ่มการปรากฏตัวทางทหารมากขึ้นในยุโรปตะวันออกจะช่วยเหลือเรื่องนี้ได้

สัญญาอีกประการหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่ายุโรปกำลังค่อยๆ คืนดีอย่างระมัดระวังกับมอสโก ได้แก่การที่ผู้แทนของนาโต้และรัสเซียมีกำหนดพบปะกันในวันพุธ (13) ซึ่งจะเป็นการหารือกันครั้งที่ 2 นับตั้งแต่เกิดกรณีผนวกแหลมไครเมีย โดยเรื่องที่จะเจรจากันก็มีเรื่องยูเครนรวมอยู่ด้วย

ทางด้าน อีวานนา คลิมปุช-ซินซัดเซ รองนายกรัฐมนตรียูเครน ได้ออกมาแถลงปกป้องผลงานด้านการปฏิรูปของเคียฟ และแสดงความหงุดหงิดผิดหวังต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายตะวันตก

“การขาดไร้ลู่ทางอนาคตที่ยูเครนจะได้เข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ ถือเป็นผลกระทบด้านลบต่อสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในภูมิภาคแถบนี้” เธอกล่าว “ฝ่ายตะวันตกจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจเลือกในเชิงยุทธศาสตร์และคำนึงถึงระยะยาวเป็นอย่างยิ่ง โดยไม่เอาแต่เที่ยวมองหาข้อแก้ตัวใดๆ ในเวลานี้เพื่อหันเหออกไปจากยูเครน”

กำลังโหลดความคิดเห็น