รอยเตอร์ - รัฐบาลยูเครนและฝ่ายกบฏนิยมรัสเซีย ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเมื่อวันศุกร์(5ก.ย.) ก้าวย่างแรกในการเดินหน้ายุติความขัดแย้งนานหลายเดือนทางภาคตะวันออกของยูเครน ที่นำมาซึ่งการเผชิญหน้าระหว่างมอสโกและตะวันตกครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง
ข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 15.00 จีเอ็มที(ตรงกับเมืองไทย 22.00น.) เป็นต้นไป ได้รับการเห็นพ้อง ณ ที่ประชุมสันติภาพที่มีคณะผู้แทนจากยูเครน รัสเซีย องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE)และเหล่าองค์กรสิทธิมนุษยชน ในกรุงมินสก์ เมืองหลวงของเบลารุส
"สันติภาพที่ยาวนานของโลกทั้งใบ สันติภาพที่ยาวนานของทั่วทั้งยูเครน ในนั้นรวมถึงประชาชนหลายล้านคนของดอนบาสส์(อยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายกบฏ)" เปโตร โปโรเชนโก ประธานาธิบดียูเครนระบุในถ้อยแถลงเป็นลายลักษณ์อักษร
"ชีวิตมนุษย์คือสิ่งที่มีค่าสูงสุด เราจำเป็นต้องทำทุกอย่างและเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อยุติการนองเลือดและยุติความทุกข์ทรมานของประชาชน" เขากล่าว พร้อมบอกว่าได้สั่งการให้กองทัพยูเครนสิ้นสุดการเป็นปกปักษ์ ณ 18.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น(ตรงกับเมืองไทย 22.00น.)
เซอร์เก ตารูตา ผู้ว่าการฝักใฝ่เคียฟของจังหวัดโดเนตสก์ แก่นกลางของฝ่ายกบฏ บอกกับรอยเตอร์ว่าเขาหวังว่าข้อตกลงนี้จะได้รับการยึดมั่น แต่แกนนำระดับอาวุโสของพวกแบ่งแยกดินแดนบอกว่าพวกเขายังคงต้องการแยกตัวออกจากยูเครน
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการเปิดเผยเงื่อนไขของข้อตกลง แต่ทั้งสองฝ่ายบ่งชี้ในสัปดาห์นี้ว่าจะมีการจัดตั้งเขตมนุษยธรรมเพื่อผู้ลี้ภัยและความช่วยเหลือ รรวมถึงแลกเปลี่ยนนักโทษและเริ่มต้นฟื้นฟูในพื้นที่ขัดแย้ง
การผ่าทางตันได้อย่างกะทันหันครั้งนี้ เกิดขึ้นตามหลังการหารือกันทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียและเปโตร โปโรเชนโก ประธานาธิบดียูเครน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องอย่างกว้างๆเกี่ยวกับก้าวย่างต่างๆในการเดินหน้าหาทางออกของความขัดแย้ง โดย ปูติน เสนอแผนสันติภาพ 7 ข้อ เพื่อยุติความขัดแย้งยาวนาน 5 เดือน
เหตุสู้รบเริ่มต้นขึ้นในภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งคนส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซียในช่วงกลางเดือนเมษายน ไม่นานหลังจากรัสเซีย ผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน ตามหลังประธานาธิบดีที่มีความสัมพันธ์อันดีกับมอสโกถูกโค่นอำนาจและรัฐบาลใหม่เคียฟเปลี่ยนนโยบายหันเข้าหาสหภาพยุโรป
ในเดือนมิถุนายน เคยมีการหยุดยิง 10 วัน แต่เจ้าหน้าที่ในกรุงเคียฟ หวังว่าข้อตกลงใหม่นี้จะยืนยาวกว่านั้น เพราะมันได้รับการสนับสนันจากทั้งนายปูตินและโปโรเชนโก
อย่างไรก็ตามเหล่าผู้นำนาโต้ ส่งเสียงเตือนอย่างระมัดระวังต่อการเจรจาหยุดยิงครั้งนี้ โดยเฉพาะการที่มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่นาโต้กำลังเปิดประชุมซัมมิทในเวลส์ ขณะที่เหล่าผู้นำยุโรปก็กำลังพิจารณาคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียเพิ่มเติม ตอบโต้กรณีแทรกแแซงกิจการในยูเครน
ความเคลื่อนไหวในช่วงกลางสัปดาห์ ถือเป็นครั้งแรกที่นายปูติน เอาชื่อเสียงของตนเองเสนอแผนสันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม อันได้แก่แผน 7 ข้อการยุติปฏิบัติการแข็งกร้าว ของทั้งฝ่ายรัฐบาลยูเครนและฝ่ายกบฏ, การส่งทีมสังเกตการนานาชาติเข้ามาตรวจสอบการหยุดยิง การแลกเปลี่ยนนักโทษโดยไม่มีเงื่อนไข และการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้ยังรวมถึงยอมให้ฝ่ายกบฏควบคุมดินแดนที่คิดเป็นราว 1 ใน 10 ของพลเมืองยูเครน หรือแม้แต่ส่วนแบ่งทางอุตสากรรม
แม้ว่าผู้นำเครมลินจะได้สมประสงค์ในทุกเป้าหมาย แต่เขามีเหตุผลที่ต้องยอมตกลงเพราะว่ามาตรการคว่ำบาตรกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เปราะบางของรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ
ตอนนี้เป้าหมายหลักๆของปูติน น่าจะอยู่ที่ต้องการรับประกันว่า ยูเครน ชาติที่มีประชากร 40 ล้านคนและอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียมาอย่างช้านาน จะไม่เข้าร่วมนาโต้ ขณะที่ดินแดนต่างๆทางภาคตะวันออกของยูเครนจะได้สิทธิ์ปกครองตนเองมากขึ้น