เอเอฟพี - นาโต้เปิดศูนย์ฝึกแห่งใหม่ในจอร์เจียเมื่อวันพฤหสบดี(27ส.ค.) ขณะที่ประเทศอดีตสหภาพโซเวียตแห่งนี้มองหาความเป็นหุ้นส่วนแนบชิดยิ่งขึ้นกับพันธมิตรทางทหารตะวันตก ท่ามกลางความตึงเครียดกับรัสเซีย
จอร์เจีย ประสงค์เข้าเป็นสมาชิกของนาโต้อย่างเต็มตัวมาอย่างยาวนานและหวังได้รับเชิญเข้าร่วมแผนปฏิบัติการสถานภาพสมาชิก(MAP)ก้าวย่างอย่างเป็นทางการสำหรับมุ่งสู่การเป็นสมาชิกของพันธมิตรทางทหารตะวันตก ณ ที่ประชุมซัมมิตนาโต้ในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ในปีหน้า
อย่างไรก็ตามเหล่านักวิเคราะห์ตั้งข้อสงสัยว่านาโต้จะอนุมัติแผนเข้าเป็นสมาชิกในปี 2016 ของจอร์เจียหรือไม่ ด้วยความกังวลว่ามันอาจสร้างความคลุ้มคลั่งแก่รัสเซียท่ามกลางความตึงเครียดระดับสูงที่มีอยู่ก่อนแล้วเกี่ยวกับวิกฤตยูเครน ขณะที่สุ้มเสียงของนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการทั่วไปนาโต้เมื่อวันพฤหัสบดี(27ส.ค.)ก็ออกมาในลักษณะกลางๆ
ศูนย์ฝึกและประเมินผลร่วมนาโต้-จอร์เจีย ตั้งอยู่รอบนอกไม่ไกลจากตัวเมืองกรุงทบิลิซิ มีเป้าหมายค้ำจุนประเทศอดีตสหภาพโซเวียตแห่งนี้ที่เคยทำสงคราม 5 วันกับรัสเซียในปี 2008 โดยนายสโตลเทนเบิร์ก ซึ่งเดินทางมาถึงเมืองหลวงของจอร์เจียตั้งแต่วันพุธ(26ส.ค.) บอกว่าทหารของทั้งจอร์เจียและนาโต้จะฝึกที่ศูนย์แห่งนี้
"ศูนย์แห่งนี้จะช่วยให้จอร์เจียมีกองกำลังที่ทันสมัยและมีแสนยานุภาพมากขึ้นสำหรับรับมือกับความท้าทายต่างๆในยุคศตวรรษที่ 21" สโตลเทนเบิร์ก กล่าวในพิธีเปิดศูนย์ฝึก Krtsanisi National Training Center "นอกจากนี้มันจะมีความสำคัญพอๆกันสำหรับการฝึกฝนของทหารพันธมิตรและคู่หู"
นายอิราคลี การิบาชวิลี นายกรัฐมนตรีจอร์เจียย้ำว่าศูนย์ฝึกแห่งนี้จะช่วยเพิ่มเสถียรภาพแก่ภูมิภาคและไม่ได้คุกคามโดยตรงต่อประเทศเพื่อนบ้านไหนๆ
อย่างไรก็ตามเป็นไปดังคาด เมื่อรัสเซียออกมาประณามความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นการยั่วยุ "เรามองก้าวย่างนี้ว่าเป็นหนึ่งในนโยบายยั่วยุอย่างไม่ลดละของพันธมิตรนาโต้ ที่มีเป้าหมายขยายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของพวกเขา" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียบอกกับผู้สื่อข่าว
สโตลเทนเบิร์ก ยกย่องความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นกับจอร์เจีย แต่ปฏิเสธให้คำสัญญาใดๆเมื่อถูกถามว่า จอร์เจีย มีโอกาสเข้าร่วมผนปฏิบัติการสถานภาพสมาชิกของนาโต ณ ที่ประชุมในกรุงวอร์ซอหรือไม่
เขาตอบว่า "ผมไม่สามารถตัดสินผลสรุปล่วงหน้าและการตัดสินใจจะมีขึ้นในที่ประชุมซัมมิตนาโต้ในปีหน้า สิ่งที่ผมพูดได้ก็คือจอร์เจียได้ดำเนินการทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับขั้นตอนการมุ่งสู่ความเป็นสมาชิกภาพแล้ว" นายสโตลเทนเบิร์กบอก "ผมเห็นว่ายังมีหลายอย่างที่ต้องทำ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมพอใจมากและมีหวังจากความคืบหน้าที่เราได้เห็น"
รัสเซียผนวกไครเมียของยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนเมื่อปีที่แล้ว และความรุนแรงสืบเนื่องจากฝีมือกบฏแย่งแยกดินแดนฝักใฝ่มอสโกทางภาคตะวันออกของยูเครน ได้ซ้ำเติมความตึงเครียดในความสัมพันธ์ที่บูดบึ้งอยู่ก่อนแล้วระหว่างเครมลินกับนาโต้ ซึ่งต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่าแทรกแซงกิจการภายในของเหล่าชาติอดีตสหภาพโซเวียต