xs
xsm
sm
md
lg

“แบลร์” รับผิด ยันไร้ “ซัดดัม” โลกดีขึ้น หลังรายงานชี้ผู้ดีผิดมหันต์บุกอิรัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษแถลงข่าวชี้แจงหลังการเผยแพร่รายงานการไต่สวนสงครามอิรัก. -- Reuters/Stefan Rousseau/Pool.</font></b>

เอเจนซีส์ - โทนี แบลร์ แถลงเต็มเหยียด 2 ชั่วโมงเมื่อวันพุธ (6 ก.ค.) ยอมรับความผิดพลาดในการส่งทัพอังกฤษบุกอิรักเมื่อ 13 ปีที่แล้ว แต่ยังยืนยันเช่นเดียวกับจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ว่า โลกปลอดภัยขึ้นเมื่อไม่มีซัดดัม ฮุสเซน หลังรายงานที่ใช้เวลาตรวจสอบถึง 7 ปีระบุว่า สงครามดังกล่าวอิงกับข้อมูลข่าวกรองที่ผิดพลาด ขาดการเตรียมพร้อมสำหรับการรบ อีกทั้งยังไม่มีการวางแผนรองรับสถานการณ์หลังเสร็จศึก ที่สำคัญลอนดอนยังเลือกใช้กำลังทั้งที่ยังมีช่องทางการทูต และอดีตผู้นำแบกแดดในขณะนั้นก็ไม่ได้เป็นภัยคุกคามเร่งด่วนแต่อย่างใด

หลังการรุกรานอิรักของกองทัพอเมริกันและอังกฤษผ่านไป 13 ปี สถานการณ์ของอิรักยังเต็มไปด้วยความวุ่นวายและความรุนแรง รวมทั้งกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะกลุ่มนักรบญิฮาดอย่างเช่นกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่ออกมาอ้างความรับผิดชอบในเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในแบกแดดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 250 คน

สงครามอิรักเกิดขึ้นจากข้อกล่าวอ้างว่า ซัดดัมมีอาวุธทำลายล้างสูง ทว่า จนแล้วจนรอดอเมริกาและอังกฤษก็หาอาวุธที่ว่าไม่พบจนสุดท้ายต้องเลิกล้มสมมติฐานดังกล่าวเอง

แปดเดือนก่อนการบุกอิรักในปี 2003 แบลร์บอกกับบุชว่า “ผมจะอยู่ข้างคุณ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม” คำมั่นดังกล่าวได้รับการพิสูจน์เป็นรูปธรรมด้วยการส่งทหารอังกฤษ 45,000 นายเข้าสู่สงคราม ซึ่งทำให้พลเรือนอิรักต้องสังเวยชีวิตกว่า 150,000 คนหลังจากนั้น 6 ปี

จอห์น ชิลคอต ประธานการสอบสวนและจัดทำรายงานฉบับนี้ ระบุว่า ความผิดพลาดเกิดจากบรรดาหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองว่า แบลร์ไม่ได้แทรกแซงเอกสารข่าวกรองดังกล่าวที่เผยแพร่ออกมาในเดือนกันยายน 2002 อย่างไม่เหมาะสม

“เราได้ข้อสรุปว่า อังกฤษเลือกเข้าร่วมการรุกรานอิรักก่อนที่ตัวเลือกแบบสันติด้วยการปลดอาวุธจะสิ้นสุดลง และปฏิบัติการทางทหารไม่ใช่ทางออกสุดท้าย” ชิลคอตสำทับ

รายงานที่ใช้เวลาสอบสวน 7 ปีและใช้งบประมาณถึง 13 ล้านดอลลาร์ ยังวิจารณ์ว่า แบลร์ประเมินตัวเองสูงเกินจริงว่า จะสามารถโน้มน้าวการตัดสินใจของอเมริกาเกี่ยวกับอิรักได้ อีกทั้งยังตัดสินใจโดยไม่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี

ชิลคอตเสริมว่า อังกฤษไม่มีศักยภาพในการทำศึกในอิรักและอัฟกานิสถานพร้อมกัน และน่าละอายอย่างยิ่งที่ในปี 2007 ทัพแดนผู้ดีต้องทำข้อตกลงกับกลุ่มทหารบ้านที่ต่อมาสามารถเข้าครอบงำเมืองบาสราในอิรัก ซึ่งควรอยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษ

ระหว่างการแถลงหลังการเผยแพร่รายงาน แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษระหว่างปี 1997-2007 ยืนยันว่า ไม่มีการโกหก หรือการให้ข้อมูลผิดๆ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งไม่มีการตกลงอย่างลับๆ เพื่อทำสงคราม ไม่มีการปลอมแปลงข่าวกรอง และการตัดสินใจเป็นไปอย่างสุจริต
.
<br><FONT color=#000033> เซอร์ จอห์น ชิลคอต ผู้นำการไต่สวนสงครามอิรัก ขณะกล่าวเผยแพร่รายงานที่ใช้เวลามากกว่า 7 ปีถึงแล้วเสร็จ ที่ศูนย์ประชุมควีนอลิซาเบธที่ 2 กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 6 ก.ค. -- Reuters/Jeff J Mitchell/Pool.</font></b>
.
นายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงานเพียงคนเดียวที่ชนะการเลือกตั้งถึงสามสมัยและบริหารประเทศนานถึง 10 ปีผู้นี้ ยังบอกอีกว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็จะตัดสินใจแบบเดิม รวมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่า การบุกอิรักไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ลัทธิก่อการร้ายลุกลามในปัจจุบัน แต่โทษว่า กองกำลังจากภายนอกคือตัวการที่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในอิรักยังคงยืดเยื้อ และอาหรับสปริงคือต้นกำเนิดของไอเอส

“ผมเชื่อว่าเราตัดสินใจถูกต้องแล้ว โลกดีขึ้นและปลอดภัยขึ้น” อย่างไรก็ดี แบลร์ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น “การประเมินข้อมูลข่าวกรองในช่วงเวลาก่อนเข้าสู่สงครามกลับกลายเป็นความผิดพลาด สถานการณ์หลังการสู้รบกลับรุนแรงและนองเลือดกว่าที่เราเคยคาดไว้

“ผมแสดงความเสียใจและกล่าวคำขอโทษมากกว่าที่พวกคุณจะคาดคิดได้”

เช่นเดียวกัน เฟรดดี ฟอร์ด โฆษกของบุช ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า แม้ข่าวกรองผิดพลาดและข้อผิดพลาดอื่นๆ ที่บุชยอมรับไปแล้วก่อนหน้านี้ อดีตผู้นำสหรัฐฯ ยังเชื่อว่า โลกโดยรวมดีขึ้นเมื่อปราศจากซัดดัม

อนึ่ง ระหว่างการแถลงรายงาน กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านสงครามเดินขบวนในลอนดอนและตะโกนว่า ”แบลร์โกหกทำให้มีคนล้มตายเป็นพัน” และ “โทนี แบลร์ อาชญากรสงคราม”

ขณะเดียวกัน ครอบครัวทหารอังกฤษ 179 นายที่เสียชีวิตในอิรัก เผยว่า จะทบทวนรายงานชิลคอตเพื่อหาช่องทางฟ้องร้องแบลร์และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น สมาชิกรัฐสภาบางคนยังกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการทางกฎหมายกับแบลร์ ซึ่งรวมถึงการฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานคนปัจจุบันและเป็นพวกต่อต้านสงคราม แถลงต่อรัฐสภาว่า สงครามอิรักเป็นการรุกรานด้วยข้ออ้างจอมปลอมที่ทำให้ลัทธิก่อการร้ายแพร่ระบาดไปทั่วตะวันออกกลางทุกวันนี้ พร้อมกล่าวขอโทษในนามของพรรคสำหรับการตัดสินใจเข้าสู่สงครามในครั้งนั้น

ทางด้านนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน กล่าวว่า อังกฤษคงไม่สามารถย้อนเวลาได้ แต่สามารถรับประกันได้ว่า จะเรียนรู้และนำบทเรียนนี้ไปใช้
.
<br><FONT color=#000033>ผู้สื่อข่าวตรวจดูสำเนารายงานการไต่สวนสงครามอิรัก. -- Reuters/Jeff J Mitchell/Pool.</font></b>
.
<br><FONT color=#000033>รายละเอียดในจดหมายที่เขียนด้วยลายมือของโทนี แบลร์ ถึงจอร์จ บุช อดีตผู้นำสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งในรายงานการไต่สวนสงครามอิรัก. -- Reuters/Jeff J Mitchell/Pool.</font></b>
.
กำลังโหลดความคิดเห็น