xs
xsm
sm
md
lg

ความสัมพันธ์ “ทรัมป์-นักข่าว” ตกต่ำหนัก ลั่นไม่ไปงานดินเนอร์สื่อทำเนียบขาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - “ทรัมป์” ปิดฉากสัปดาห์อันน่ากระอักกระอ่วนกับสื่อ ด้วยการประกาศเมื่อวันเสาร์ (25) ว่าจะไม่ไปร่วมดินเนอร์ผู้สื่อข่าวทำเนียบขาวประจำปี ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 29 เมษายนนี้ แถมเขียนข้อความทางทวิตเตอร์ด่าซ้ำ “นิวยอร์ก ไทมส์-ซีเอ็นเอ็น” ว่าเป็นพวกกุข่าว

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศการตัดสินใจนี้ผ่านทวิตเตอร์ ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างคณะบริหารกับสื่อมวลชนที่ทรัมป์เรียกว่า “ศัตรูของชาวอเมริกัน” ตกต่ำสุดขีดอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันศุกร์ (24) สื่อชั้นนำหลายราย เช่น นิวยอร์ก ไทมส์, ซีเอ็นเอ็น, การ์เดียน ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมฟังการบรรยายสรุปของ ฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว มีเฉพาะสื่อสายอนุรักษนิยมและเป็นมิตรกับทำเนียบขาวเท่านั้นที่ได้รับเชิญ

วันเดียวกันนั้น ทรัมป์ทวีตโจมตีซ้ำว่า “พวกชอบกุข่าวจงใจไม่พูดความจริง อันตรายใหญ่หลวงสำหรับประเทศชาติของเรา” พร้อมใส่ชื่อนิวยอร์ก ไทมส์ และซีเอ็นเอ็นเอาไว้

เหล่าบรรณาธิการองค์กรสื่อที่ถูกกีดกันต่างแสดงความไม่พอใจ ถึงแม้ว่า เจฟฟ์ เมสัน จากรอยเตอร์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว (WHCA) พยายามคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ว่า สมาคมรับรู้เรื่องที่ทรัมป์ประกาศแล้ว แต่งานเลี้ยงประจำปีของสมาคมจะจัดต่อไปตามกำหนด เพื่อเฉลิมฉลองบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1 ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งฉลองบทบาทสำคัญของสื่ออิสระ

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์หัวเสียอย่างหนักกับรายงานที่ตามกันออกมาเป็นระลอกโดยอ้างแหล่งข่าวลึกลับในทำเนียบขาว หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานข่าวกรอง เกี่ยวกับความโกลาหลของคณะบริหาร การติดต่อระหว่างทีมหาเสียงของตัวเขาเองกับเจ้าหน้าที่รัสเซีย และความพยายามของทำเนียบขาวในการหักล้างรายงานเหล่านั้น

การระหองระแหงใส่กันระหว่างสื่อกับทรัมป์ ซึ่งมีที่ปรึกษาอาวุโส “สตีฟ แบรนนอน” ผู้ที่มักเรียกสื่อจนติดปากว่า “พรรคฝ่ายค้าน” นำไปสู่การถอนตัวจากงานเลี้ยงอาหารค่ำสมาคมผู้สื่อข่าวทำเนียบขาวของบลูมเบิร์ก, วานิตี้ แฟร์, การ์เดียน รวมถึงนิวยอร์ก ไทมส์ ที่ไม่ไปร่วมงานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2008 ขณะที่มีข่าวว่า ซีเอ็นเอ็น สื่ออีกสำนักที่เป็นเป้าหมายการโจมตีของทรัมป์ กำลังพิจารณาถอนตัวเช่นเดียวกัน

ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากเชื่อมโยงการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ กับงานดินเนอร์สมาคมผู้สื่อข่าวเมื่อปี 2011 ที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เยาะเย้ยทรัมป์ที่ไปร่วมงานด้วย และเป็นผู้สนับสนุนขบวนการ “birther” ซึ่งหมายถึงผู้ที่สงสัยความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามา เนื่องจากเชื่อในทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดว่าโอบามาไม่ได้เป็นพลเมืองที่เกิดในอเมริกา

ที่ผ่านมา งานเลี้ยงดังกล่าวเป็นธรรมเนียมรื่นเริงที่มีทั้งเหล่าคนดังและผู้สื่อข่าว รวมทั้งมีนักแสดงตลกขึ้นเวที “เผา” ประธานาธิบดี แบบเดียวกับที่ สตีเฟน คอลเบิร์ต เคยทำกับ “จอร์จ ดับเบิลยู. บุช” ในการปราศรัยที่น่าอับอายปี 2006 และยังเป็นเวทีให้ประธานาธิบดีได้พูดกับสื่อด้วยเช่นกัน

ดินเนอร์ครั้งแรกจัดขึ้นในปี 1921 และคัลวิน คูลลิดจ์ เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไปร่วมงานในปี 1924 นับตั้งแต่นั้นมาประธานาธิบดีทุกคนจะไปร่วมสังสรรค์ในงานนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง

สำหรับทรัมป์นั้น เมื่อเดือนที่ผ่านมาเพิ่งถอนตัวจากดินเนอร์ของ “อัลฟาฟา คลับ” ซึ่งมีสมาชิกราว 200 คน และล้วนเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและธุรกิจ อันเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญในปฏิทินทางสังคมของรัฐบาล

ร็อบ มาโฮนีย์ รองผู้อำนวยการบริหาร “คอมมิตตี ทู โพรเทกต์ เจอร์นัลลิสต์” ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร บอกกับหนังสือพิมพ์การ์เดียนเมื่อวันเสาร์ว่า ทรัมป์ควรทำตัวเป็นผู้สนับสนุนเสรีภาพสื่อทั่วโลกแทนที่จะโจมตีสื่อแบบนี้ ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณถึงประเทศอื่นๆ ว่าการล่วงละเมิดผู้สื่อข่าวด้วยคำพูดและการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อเป็นสิ่งที่ทำได้

ลี เกรนดินนิง บรรณาธิการประจำสหรัฐฯ ของการ์เดียนยังออกแถลงการณ์ระบุว่า การกีดกันสื่อบางสำนักจากการฟังบรรยายสรุปของทำเนียบขาวเป็นการสร้างปัญหาและความแตกแยกอย่างลึกซึ้ง การรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย และเป็นเหตุผลที่การ์เดียนจะยังคงเดินหน้าทำข่าวเช่นเดิมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น