xs
xsm
sm
md
lg

‘อังกฤษ, อียู, และโลก’ภายหลังฝ่ายต้องการ ‘เบร็กซิต’ เป็นผู้ชนะ

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

Brexit: Leaveniks have it. What next?
By M.K. Bhadrakumar
24/06/2016

“เบร็กซิต” คือพัฒนาการในการเมืองโลกที่อาจส่งผลต่อเนื่องอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่การพังทลายของสหภาพโซเวียตเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นอนาคตต่อจากนี้ไปของสหราชอาณาจักร, ของยุโรป, หรือของระบบระหว่างประเทศและการเมืองโลก

สิ่งที่เคยเห็นกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงคาดคิดเลยกลับบังเกิดขึ้นมาแล้ว จากการที่สหราชอาณาจักรลงคะแนนประชามติให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

น่าจะกล่าวได้ทีเดียวว่า นี่คือพัฒนาการที่เกิดขึ้นในการเมืองโลกซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่การพังทลายของสหภาพโซเวียตเป็นต้นมาทีเดียว (น่าประหลาดที่ความวิบัติหายนะทั้งสองคราวนี้ เกิดขึ้นในแบบ “สมัครใจ” กันทั้งคู่)

สิ่งที่กำลังรออยู่ข้างหน้าคืออะไร? ขอให้ผมสรุปในแบบเป็นภาพวงกลมซึ่งซ้อนกันอยู่ 3 วง โดยที่ต่างมีจุดศูนย์กลางเดียวกัน –ในวงกลมวงแรก แน่นอนทีเดียว คืออนาคตของสหราชอาณาจักรจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนวงกลมถัดไปอีก 2 วงนั้น ได้แก่การปรับตัวเปลี่ยนแปลงใน “พลังแห่งความสัมพันธ์ระหว่างกันต่างๆ” ในระบบระหว่างประเทศและการเมืองโลก

ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย เดวิด คาเมรอน ได้กระทำสิ่งที่ผู้ทรงเกียรติพึงต้องกระทำ และเป็นการขีดเส้นแบ่งอย่างชัดเจนลงบนชีวิตสาธารณะของเขาในเยี่ยงอย่างของรัฐบุรุษผู้หนึ่ง เขาได้คาดคำนวณอย่างผิดพลาดถึงขั้นกลายเป็นความหายนะ จากการทึกทักตั้งสมมุติฐานว่า ประชาชนชาวสหราชอาณาจักรซึ่งมีแนวความคิดอนุรักษนิยม จะไม่มีวันต้องการปล่อยให้ตนเองแอบจ้องมองดูนรกแล้วก็ตกลงสู่โลกันตร์ไปเลย ปรากฏว่าพวกเขากลับกำลังถลำจมลงไปแล้ว และคาเมรอนมองเห็นว่าเขาจำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่ง เรื่องนี้ผมขอเปล่งเสียงเชียร์อย่างชื่นชม 3 ครั้งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยของสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือ ในตัวคำตัดสินจากประชามติชาวสหราชอาณาจักรคราวนี้เอง ช่างเต็มไปด้วยปัจจัยแห่งการสร้างความแตกร้าวและการวิวาทโต้เถียงกัน ซึ่งกลายเป็นการเปิดบาดแผลเก่าแก่โบราณในประวัติศาสตร์อันโชกเลือดของเกรตบริเทน ลัทธิชาตินิยมของชาวสกอตและของชาวไอริชจะต้องชูศีรษะของพวกเขาขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น และยืนหยัดต่อต้านการที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป เมื่อเป็นเช่นนี้ สหราชอาณาจักรในรูปแบบปัจจุบันจะรอดชีวิตไปได้อีกยาวนานแค่ไหน? นี่เป็นคำถามที่กำลังก่อให้เกิดความว้าวุ่นไม่สบายใจเอาเลย

ประการที่สอง เสียงโหวตของชาวสหราชอาณาจักรยังประสานสอดคล้องกับความเห็นของผู้คนจำนวนมากภายในประเทศสมาชิกอียูรายอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, โปแลนด์ ฯลฯ ความเหนื่อยล้าเบื่อหน่ายกำลังแผ่กระจายไปทั่วอียู ซึ่งจะมากจะน้อยก็เป็นความคับข้องใจอย่างเดียวกันกับที่ชาวสหราชอาณาจักรรู้สึกกันอยู่ภายในใจ --ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพ, การสูญเสียอำนาจอธิปไตย, ความกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัย, ความทรุดโทรมในระบบสวัสดิการสังคม, และมาตรการเข้มงวดทางเศรษฐกิจ, ความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

ดังนั้น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าอียูถึงกับล้มคว่ำคะมำหงาย? นี่คือคำถามข้อที่สอง

ถ้าเราย้อนเวลากลับไป และระลึกถึงแรงกระตุ้นซึ่งอยู่เบื้องหลังโครงการสร้างยุโรปที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนี้ขึ้นมา เราก็จะต้องเจอะเจอกับภูตผีปีศาจเก่าแก่โบราณที่ทวีปแห่งนี้ต้องการอย่างเหลือเกินที่จะฝังเอาไว้ให้มิดชิดทว่ามันก็ยังคงโผล่เพ่นพ่านออกมาให้เห็น --โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกอันล้ำลึกของประชาชนในฝรั่งเศสและในเยอรมนีที่ต่างฝ่ายต่างต้องการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนกันใหม่ด้วยความมุ่งหวังที่จะทวงคืนดินแดนซึ่งเห็นว่าเป็นของพวกตนแต่ถูกเชือดเฉือนไปอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ความฝันที่จะทวงดินแดนคืนนี้อาจย้อนหลังไปได้ไกลจนถึงยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16 ทีเดียว เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่โครงการสร้างยุโรปที่เป็นหนึ่งเดียวจะต้องดำรงคงอยู่ต่อไป เพื่อให้บังเกิดความมั่นใจว่าภูติผีปีศาจแห่งประวัติศาสตร์เหล่านี้จะยังคงกลายเป็นเพียงโครงกระดูกในตู้ไปตลอดกาล

กระทั่งว่าอียูไม่ได้ล้มคว่ำคะมำหงายไป แต่การขาดหายของสหราชอาณาจักร ซึ่งมักแสดงบทบาทเป็น “ผู้สร้างความสมดุล” ในอียูอยู่เสมอ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ยุโรปจะต้องรู้สึกว่าได้สูญเสียอะไรบางอย่างไปแล้ว เป็นเรื่องจำเป็นทีเดียวที่ความสมดุลในรูปแบบลักษณะอื่นๆ จะต้องวิวัฒนาการคลี่คลายขึ้นมาแทนที่ ทว่ามันจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายๆ เลย โดยเฉพาะในเมื่อเวลานี้เยอรมนีได้กลายเป็น “ผู้มีความเท่าเทียมยิ่งกว่า” รัฐสมาชิกอื่นๆ ภายในอียูไปเสียแล้ว แถมยังเป็น “ความเท่าเทียมยิ่งกว่า” ชนิดมากมายเหลือล้นอีกด้วย

ดังนั้น “ปัญหาว่าด้วยชาวเยอรมัน” (German Question) ที่เป็นภูตผีปีศาจซึ่งน่าคร้ามเกรงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของยุโรป จะกลับฟื้นขึ้นมาอีกคำรบหนึ่งหรือไม่ ? นี่คือคำถามข้อที่สาม

ในระบบระหว่างประเทศ แน่นอนทีเดียวกำลังจะต้องมีความผันผวนวูบไหวเพิ่มมากขึ้น การที่สหราชอาณาจักรผละออกจากอียูมีความหมายไม่ต่างอะไรกับการตีกระหน่ำใส่ฐานะความเป็นผู้นำในภาคพื้นแอตแลนติกของสหรัฐฯ อเมริกาดูจะไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว นอกจากต้องพับเก็บโครงการจัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแอตแลนติก (Trans-Atlantic Partnership Agreement) ใส่ตู้เอาไว้ก่อน ข้อตกลงฉบับนี้เคยถูกมองว่าจะต้องกลายเป็นข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อันยอดเยี่ยม “เกรดแพลทินัม” ทีเดียว ทั้งนี้ตามถ้อยคำที่ จอห์น เคร์รี (รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ) กล่าวประเมินยกย่องเอาไว้ มาถึงตอนนี้วอชิงตันอาจจำเป็นต้องยอมรับพึงพอใจกับสิ่งที่พอจะสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งบางทีอาจจะไม่มีข้อตกลงเอฟทีเออะไรทั้งสิ้น ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ความได้เปรียบย่อมจะตกไปเป็นของจีนกับรัสเซีย

หากพิจารณากันให้ไกลต่อจากนั้นไปอีก ก็ต้องพูดกันถึงภูมิยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ แน่นอนทีเดียวว่า ถ้าหากในวันนี้มอสโกกำลังบิดมือบิดนิ้วด้วยความตื่นเต้นยินดีแล้ว มันก็มีเหตุผลอันสมควรรองรับทีเดียว ยุโรปที่ทั้งสับสนยุ่งเหยิงทั้งฉงนงุนงงเช่นนี้ย่อมกลายเป็นคู่เจรจาต่อรองที่มีฐานะอ่อนแอสำหรับรัสเซีย เมื่อบวกเข้ากับ “กลุ่มล็อบบี้เพื่อรัสเซีย” อันมีฐานะเข้มแข็งภายในเยอรมนี (และภายในฝรั่งเศส, อิตาลี, และกรีซ ฯลฯ) มันก็กลายเป็นปัญหาหนักทีเดียวสำหรับสหรัฐฯที่จะพยายามประคับประคองมาตรการลงโทษคว่ำบาตรรัสเซียเอาไว้ให้มีผลบังคับต่อไปเรื่อยๆ

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในการปิดล้อมรัสเซียจะยืนยาวไปได้อีกนานแค่ไหน? นี่คือคำถามข้อที่สี่

ต่อจากนั้น ยังมีพวกผลพวงต่อเนื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งหลาย ตัวอย่างเช่น อนาคตอันไม่แน่นอนของสกุลเงินยูโร และสิ่งที่จะต้องเกิดคู่กันซึ่งได้แก่ ความปั่นป่วนวุ่นวายในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน, หรือการเสื่อมทรุดของลอนดอน (เดอะ ซิตี้) ในฐานะเมืองหลวงทางการเงินของโลก, หรือศักยภาพของเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่จะธำรงฐานะความเป็นสกุลเงินตราของโลกเอาไว้, หรือการผงาดขึ้นมาของสกุลเงินหยวน, หรือกระแสการไหลเวียนของการลงทุนโดยทั่วไป ฯลฯ

ระเบียบโลกแบบมีหลายขั้ว (multipolar order) ในช่วงหลังสงครามเย็นนั้น ตั้งอยู่บนเสาหลักสำคัญ 4 ต้น ได้แก่ สหรัฐฯ, จีน, อียู, และรัสเซีย ถ้าเสาหลักต้นหนึ่งเกิดสั่นคลอนโยกเยกขึ้นมา สิ่งก่อสร้างโดยองค์รวมก็ย่อมอ่อนแอลงไปด้วย และจำเป็นต้องดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขและฟื้นฟูบูรณะอย่างจริงจัง ทว่าความเป็นปรปักษ์กันระหว่างมหาอำนาจใหญ่ทั้งหลาย ย่อมไม่เปิดโอกาสให้ทำเช่นนี้ได้ง่ายๆ

เรื่องที่ดีก็คือพัฒนาการอันสำคัญอย่างยิ่งนี้ บังเกิดขึ้นก่อนที่ ฮิลลารี คลินตัน และเหล่าข้าราชบริพาร “อนุรักษนิยมใหม่” ของเธอจะทันได้โยกย้ายเข้าไปในทำเนียบขาวในเดือนมกราคมปีหน้า มันจึงกลายเป็นการทัดทานด้วยความเป็นจริงประการหนึ่ง เพื่อช่วยให้พวกเขามองเห็นถึงข้อจำกัดอันร้ายแรงในอำนาจของสหรัฐฯในการเมืองโลก ทั้งนี้ การทัดทานด้วยสภาพความเป็นจริงนี้ ดูจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขาอย่างเหลือเกินทีเดียว

(จากบล็อก Indian Punchline)

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น