xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.หน่วยสายลับเยอรมนี เผย ภัยคุกคามนักรบอิสลามิสต์-ก่อการร้าย สุดน่ากลัว ชี้ อาจเกิดเหตุโจมตีในเมืองเบียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากรอยเตอร์ ฮันส์-ยอร์ก มาสเซน    ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานข่าวกรองภายในประเทศของเยอรมนี (เบเอฟเฟา)
รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online - ผู้นำหน่วยสืบราชการลับเยอรมนี ยอมรับการโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ คือ ภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่ใหญ่หลวงที่สุดของประเทศ และว่า เหตุกราดยิง รวมถึงเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ ที่นครอิสตันบูลของตุรกี อาจเกิดขึ้นได้บนแผ่นดินเยอรมนี

ในวันเสาร์ (2 ก.ค.) ฮันส์-ยอร์ก มาสเซน ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานข่าวกรองภายในประเทศของเยอรมนี (เบเอฟเฟา) ออกมาเปิดเผยผ่านหนังสือพิมพ์ชื่อดัง “ฟรังก์ฟัวร์เทอร์ อัลล์เกไมเนอ ไซตุง” โดยยอมรับเป็นครั้งแรก ว่า เยอรมนีไม่อาจตัดทิ้งความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการโจมตีเช่นที่นครอิสตันบูล ของตุรกี ในแผ่นดินของตน

ผู้อำนวยการใหญ่ของหน่วยสืบราชการลับเบเอฟเฟา ยังระบุว่า การโจมตีของพวกนักรบญิฮัดในยุโรปได้กลายเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญยิ่ง สำหรับกลุ่มสุดโต่งอย่างกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในการโฆษณาชวนเชื่อ และปลุกระดมผู้สนับสนุนของตนให้ออกมาก่อความรุนแรงต่อเนื่อง และว่า การโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ คือ ภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่ใหญ่หลวงที่สุดของเยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเวลานี้

ท่าทีล่าสุดของบอสใหญ่หน่วยข่าวกรองเยอรมนี มีขึ้นภายหลังจากที่เกิดเหตุมือระเบิดฆ่าตัวตาย ที่คาดว่า เป็นสมาชิกกลุ่มรัฐอิสลามจำนวน 3 ราย ก่อเหตุโจมตีภายในสนามบินหลักของนครอิสตันบูล ในตุรกี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 44 รายเมื่อวันอังคาร (28 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเหตุโจมตีนองเลือดที่ใหญ่สุดที่เกิดขึ้นในตุรกีในปี 2016 นี้

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน ทางการเยอรมนีเปิดเผยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับยอดผู้อพยพลี้ภัยรายใหม่ที่เดินทางถึงประเทศของตนในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า มีจำนวน 16,281 ราย ถือเป็นตัวเลขที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากเดือนเมษายน

ตัวเลขผู้อพยพลี้ภัยจำนวน 16,281 ราย ที่เดินทางถึงเยอรมนี ในเดือน พ.ค. มีผู้อพยพจากซีเรียรวมอยู่ด้วยมากที่สุด 2,685 ราย ตามมาด้วยผู้อพยพชาวอัฟกัน จำนวน 2,289 ราย และชาวอิรัก 1,355 ราย


ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงอย่างสำคัญของคลื่นการไหลบ่าของเหล่าผู้อพยพจากตะวันออกกลาง เข้าสู่ยุโรป จากที่เคยมีจำนวนสูงถึง 200,000 ราย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา และการชะลอตัวที่ว่านี้ ถือเป็นผลพวงโดยตรงจากการที่หลายประเทศในพื้นที่คาบสมุทรบอลข่าน พร้อมใจดำเนินนโยบาย “ปิดพรมแดน” ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ภาพจากรอยเตอร์
ภาพจากรอยเตอร์
นอกเหนือจากการปิดพรมแดนของรัฐแถบบอลข่าน เพื่อสกัดกั้นการไหลบ่าของผู้อพยพแล้ว การทำข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับ รัฐบาลตุรกี ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ยอดผู้อพยพสู่ยุโรปลดจำนวนลงด้วยเช่นกัน


ตามข้อตกลงดังกล่าว รัฐบาลตุรกีเห็นชอบที่จะรับตัวผู้อพยพทางเรือที่เดินทางออกจากชายฝั่งของตุรกี ไปยังหมู่เกาะต่าง ๆ ของกรีซ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกลับคืนไป แลกเปลี่ยนกับการรับ “ค่าตอบแทน” จากอียู ซึ่งอยู่ในรูปของเงินช่วยเหลือจำนวนหลายพันล้านยูโร และการเปิดให้พลเมืองตุรกีสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศสมาชิกอียูได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ “วีซ่า”


ทั้งนี้ ตลอดทั้งปี 2015 เยอรมนีต้องเผชิญกับยอดการไหลเข้าประเทศของเหล่าผู้อพยพที่มีจำนวนสูงถึง 1.1 ล้านคน ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่าย ว่า อาจมีสมาชิกกลุ่มอิสลามิสต์สุดโต่งจำนวนไม่น้อย ซึ่งรวมถึงกลุ่มไอเอส แฝงตัวเข้าสู่เยอรมนี และพื้นที่ส่วนต่างของยุโรป และเป็นต้นตอของเหตุก่อการร้ายดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรุงปารีส ของฝรั่งเศส และ ที่กรุงบรัสเซลส์ ของเบลเยียม ในช่วงที่ผ่านมา
ภาพจากรอยเตอร์

กำลังโหลดความคิดเห็น