เอเจนซีส์ / MGR online – องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยข้อมูลสุดสลด ระบุ มีผู้อพยพจำนวนมากกว่า 10,000 รายเสียชีวิตระหว่างพยายามเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อมุ่งหน้าสู่ทวีปยุโรปนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา
เอเดรียน เอ็ดเวิร์ดส์ โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เผยเรื่องดังกล่าวในวันอังคาร (7 มิ.ย.) โดยระบุ ตัวเลขผู้เสียชีวิตระหว่างการเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อมุ่งหน้าไปแสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่าในยุโรปยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาหลายเดือนมานี้ ซึ่งนั่นหมายความว่า "สถิติใหม่ที่ไม่น่าพึงประสงค์" พร้อมเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตอันใกล้นี้ และว่าถึงเวลาแล้วที่ประชาคมระหว่างประเทศ จะต้องเพิ่มความพยายามให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในการหาข้อยุติต่อวิกฤตที่เลวร้ายนี้
โฆษกยูเอ็นเอชซีอาร์เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมามีผู้อพยพจำนวนมากกว่า 10,000 ราย เสียชีวิตระหว่างพยายามเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อมุ่งหน้าสู่ทวีปยุโรป
แต่หากนับเฉพาะยอดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในปี 2016 นี้เพียงอย่างเดียว จะพบว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีผู้อพยพเสียชีวิต ระหว่างการเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมุ่งหน้าสู่ยุโรปแล้ว 2,814 ราย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้ทางองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอพยพ (ไอโอเอ็ม) ระบุว่า มีจำนวนสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วราว 1,000 คน
แม้จะมีความพยายามอย่างแข็งขัน ในการสกัดกั้นการไหลบ่าของคลื่นผู้อพยพจากตะวันออกกลางสู่ยุโรปผ่านทางการทำข้อตกลง ระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับรัฐบาลตุรกีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อส่งกลับผู้อพยพจากกรีซ รวมถึงการพร้อมใจกันปิดพรมแดนของประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่าน แต่ทางไอโอเอ็มเผยว่า ตัวเลขผู้อพยพรายใหม่ที่เดินทางถึงทวีปยุโรปในปีนี้ ยังคงมีจำนวนสูงถึงกว่า 206,400 ราย
ก่อนหน้านี้ เพียงวันเดียวมีการเปิดเผยว่า ยอดผู้อพยพลี้ภัยรายใหม่ที่เดินทางถึงเยอรมนีในเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมามีจำนวน 16,281 ราย ถือเป็นตัวเลขที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากเดือนเมษายน ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดของทางการเยอรมนีในวันอังคาร (7 มิ.ย.)
ตัวเลขผู้อพยพลี้ภัยจำนวน 16,281 รายที่เดินทางถึงเยอรมนีในเดือนที่แล้ว มีผู้อพยพจากซีเรียรวมอยู่ด้วยมากที่สุด 2,685 ราย ตามมาด้วยผู้อพยพชาวอัฟกันจำนวน 2,289 ราย และชาวอิรัก 1,355 ราย
ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงอย่างสำคัญของคลื่นการไหลบ่าของเหล่าผู้ อพยพจากตะวันออกกลางเข้าสู่ยุโรปจากที่เคยมีจำนวนสูงถึง 200,000 รายเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และการชะลอตัวที่ว่านี้ ถือเป็นผลพวงโดยตรงจากการที่หลายประเทศในพื้นที่คาบสมุทรบอลข่านพร้อมใจดำเนินนโยบาย “ปิดพรมแดน” ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
นอกเหนือจากการปิดพรมแดนของรัฐแถบบอลข่านเพื่อสกัดกั้นการไหลบ่าของผู้อพยพ แล้ว การทำข้อตกลงระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับรัฐบาลตุรกี ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ยอดผู้อพยพสู่ยุโรปลดจำนวนลงด้วยเช่นกัน
ตามข้อตกลงดังกล่าว รัฐบาลตุรกีเห็นชอบที่จะรับตัวผู้อพยพทางเรือที่เดินทางออกจากชายฝั่งของ ตุรกีไปยังหมู่เกาะต่างๆ ของกรีซ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกลับคืนไป แลกเปลี่ยนกับการรับ “ค่าตอบแทน” จากอียู ซึ่งอยู่ในรูปของเงินช่วยเหลือจำนวนหลายพันล้านยูโร และการเปิดให้พลเมืองตุรกีสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศสมาชิกอียูได้โดย ไม่จำเป็นต้องใช้ “วีซ่า”
ทั้งนี้ ตลอดทั้งปี 2015 เยอรมนีต้องเผชิญกับยอดการไหลเข้าประเทศของเหล่าผู้อพยพที่มีจำนวนสูงถึง 1.1 ล้านคน