การจัดลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่นำไปสู่การก้าวเข้าสู่กระบวนการ “ถอนตัว” ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร หรือ “Brexit referendum” กลายเป็นข่าวที่ช็อกแวดวงเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลกตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา และดูเหมือน ข่าวเด่นประเด็นร้อนในเรื่องนี้ ยังคงนำมาซึ่งคำถามอีกมากมายที่ยังรอคำตอบอันคลุมเครือ
สรุปคร่าวๆ ก็คือ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงประชามติส่วนใหญ่ในอังกฤษและแคว้นเวลส์ โหวตหนุนการก้าวออกจากการเป็นสมาชิกอียู ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนในแคว้นสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ตลอดจน ยิบรอลตาร์ หนุนให้สหราชอาณาจักร (United Kingdom) ยังคงอยู่ร่วมชายคาของสหภาพยุโรปต่อไป
อย่างไรก็ดี เมื่อนำคะแนนเสียงทั้งหมดมานับรวมกันแล้ว ปรากฏว่า คะแนนเสียงของฝ่ายที่เทคะแนนสนับสนุนการออกจากอียู เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะที่ร้อยละ 51.9 ต่อร้อยละ 48.1
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหราชอาณาจักรจัดการลงประชามติเกี่ยวกับสถานะสมาชิกอียูของตน เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการจัดลงประชามติในประเด็นเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อปี 1975 ซึ่งในเวลานั้นผลปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 67) เลือกการคงสถานะสมาชิกต่อไป
ผลการลงประชามติที่ออกมาล่าสุด มิได้หมายความว่า สหราชอาณาจักรจะหลุดพ้นจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปได้ในทันทีทันใด เนื่องจากในความเป็นจริงแล้วกระบวนการที่จะนำไปสู่การถอนตัวเต็มรูปแบบนั้น อาจต้องใช้ระยะเวลาอีก 2 ปีเป็นอย่างน้อย และต้องอาศัยกระบวนการเจรจาเพื่อ “ปลดเปลื้องพันธนาการ” ระหว่างกันในด้านต่างๆ ตามข้อกำหนดใน “Article 50” ของสนธิสัญญาสหภาพยุโรป
แม้การก้าวออกจากอียูของสหราชอาณาจักร จะไม่ได้มีผลทันทีในทางปฏิบัติแต่ในทางจิตวิทยาแล้ว ประเด็นร้อนฉ่านี้ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ต่อแวดวงเศรษฐกิจและตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลกอย่างฉับพลัน เห็นได้จากภาวะดิ่งเหวกราวรูดของหลายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก รวมถึงการที่ค่าเงินสกุลปอนด์สเตอร์ลิงของเมืองผู้ดีทำสถิติร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 เป็นต้นมาเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ
ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (อียู ซัมมิต) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ บรรดาผู้นำชาติสมาชิกที่เหลืออีก 27 ชาติในอียู ต่างแสดงจุดยืนที่สอดคล้องกันประการหนึ่งว่า สหราชอาณาจักรไม่ควร “ถ่วงเวลา” และควรเร่งดำเนินมาตรการปลดแอกตัวเองออกจากอียูไปเสียโดยเร็ว ตามข้อกำหนดในมาตรา 50 ภายใต้สนธิสัญญาลิสบอน
จุดยืนดังกล่าวของผู้นำอียู เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ที่ย้ำว่า ผู้นำอังกฤษคงไม่สามารถเลือกเงื่อนไขการเจรจาถอนตัวตามใจชอบได้ เพราะผู้คุมเกมการเจรจาที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องเป็นฝ่ายสมาชิกที่เหลือของอียูเท่านั้น
“ใครก็ตามที่ปรารถนาจะผละจากครอบครัวน้ำไป ไม่สามารถคาดหมายเพียงว่าจะละทิ้งความผูกมัดทั้งหมดทั้งปวง แต่ยังจะเก็บอภิสิทธิ์ต่าง ๆ เอาไว้” แมร์เคิลกล่าวต่อรัฐสภาเยอรมนี
นอกเหนือจากผู้นำหญิงของเยอรมนีแล้ว ประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรี มัตเตโอ เรนซี แห่งอิตาลี ซึ่งถือเป็นผู้นำของ 3 ชาติสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดของอียูในเวลานี้ ต่างก็แสดงจุดยืนที่สอดคล้องกันว่า รัฐบาลอังกฤษควรเร่งเดินหน้ากระบวนการออกจากการเป็นสมาชิกอียูในทันที
*** สกอตแลนด์-ยิบรอลตาร์ประกาศชัด ขออยู่ใน EU ต่อ แม้ UK เลือกโบกมือลา
รายงานข่าวระบุว่า ผู้นำแคว้นสกอตแลนด์และยิบรอลตาร์ เปิดการหารือในวันอังคาร (28 มิ.ย.) เพื่อหาช่องทางให้ดินแดนของตน ยังคงได้อยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไป หลังจากที่สหราชอาณาจักร เลือกการโหวตออกจากการเป็นสมาชิกขององค์กรความร่วมมือแห่งนี้
แม้ยิบรอลตาร์ จะถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรตั้งแต่เมื่อกว่า 300 ปีก่อน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในดินแดน ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของสเปนแห่งนี้กลับลงคะแนน หนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่ในกลุ่ม 28 ชาติอย่างอียูต่อไป
เช่นเดียวกับในสกอตแลนด์ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ในแคว้นแห่งนี้ ลงคะแนนหนุนการอยู่ร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไปเช่นกัน
คำแถลงจากรัฐบาลท้องถิ่นของยิบรอลตาร์ระบุว่า กำลังพิจารณาทุกตัวเลือกเพื่อปกป้องจุดยืนของยิบรอลตาร์ในฐานะส่วนหนึ่งของอียูในอนาคต และว่า ฟาเบียน ปิการ์โด ผู้นำรัฐบาลยิบรอลตาร์ได้หารือเรื่องนี้กับนิโคลา สเตอร์เจียน ผู้นำแคว้นสกอตแลนด์แล้วถึงความเป็นไปได้และผลกระทบต่างๆ ของการที่ดินแดนทั้งสองแห่งนี้ของสหราชอาณาจักรจะยังคงขอเป็นส่วนหนึ่งกับอียูต่อไป
ด้านนิโคลา สเตอร์เจียน รัฐมนตรีคนที่หนึ่งหรือนายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์ ได้เดินทางมุ่งหน้าสู่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของอียูในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหาช่องทางให้สกอตแลนด์มีฐานะเป็นสมาชิกอียูต่อไป ซึ่งอาจหมายถึงการจัดลงประชามติประกาศเอกราชครั้งที่สองเพื่อแยกตัวจากสหราชอาณาจักร หลังจากพ่ายแพ้ไปในการลงประชามติครั้งแรกเมื่อสองปีก่อน
สเตอร์เจียนย้ำว่า เธอตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่า จะรักษาความสัมพันธ์กับอียูและคงอยู่ภายในอียู หลังจากผลการลงประชามติในสหราชอาณาจักรเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (23) ซึ่งถึงแม้ผลโดยรวมออกมาว่าฝ่ายเสียงข้างมากต้องการให้แยกตัวออกจากอียู ทว่าเฉพาะผู้ออกเสียงชาวสกอตติช เองกลับสนับสนุนการคงอยู่กับอียูอย่างท่วมท้น
*** อียู-นาโตหวั่นเบร็กซิตกระทบยุทธศาสตร์ทางทหาร
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยุโรป ระบุการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษนั้นเสี่ยง ที่จะบั่นทอนยุทธศาสตร์ทางทหารของยุโรป ที่กำลังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากรัสเซียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและยุโรปตะวันออก รวมถึงภัยคุกคามจากการก่อการร้าย และปัญหาผู้อพยพ
ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรเป็น 1 ใน 5 ชาติที่มีทรัพยากรเพียงพอจะคุมภารกิจทางทหารในต่างแดนให้แก่สหภาพยุโรป โดยที่รัฐบาลอังกฤษซึ่งมีงบประมาณทางทหารมากที่สุดในอียู ถือเป็นผู้บริจาครายใหญ่ของปฏิบัติการที่นำโดยอียู ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา และ อังกฤษยังเป็นผู้นำใน “ปฏิบัติการแอตตาแลนตา” ปฏิบัติการต่อต้านโจรสลัด บริเวณนอกแหลมแอฟริกา โดยมีเรือหลายลำตรวจตราในน่านน้ำบริเวณนั้น
ดังนั้น เมื่อจะไม่มีสหราชอาณาจักรอยู่ใต้ชายคาเดียวกันกับอียูอีกต่อไป หลายชาติในยุโรปจึงเริ่มรู้สึกเป็นกังวลต่ออนาคตที่ไม่แน่นอนของตน โดยเฉพาะทางด้านความมั่นคง
เฟเดริกา โมเกรินี ประธานด้านนโยบายต่างประเทศของอียู เตรียมเผยแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของอียูเพื่อเผชิญกับท่าทีก้าวร้าวมากขึ้นของรัสเซีย รวมถึงปัญหาวิกฤตผู้อพยพและปัญหารัฐล้มเหลวบริเวณพื้นที่พรมแดนอียู ที่ทำให้สหภาพยุโรปจำเป็นจะต้องดำเนินการด้วยตนเองโดยอัตโนมัติเมื่อถึงคราวจำ เป็น
*** ขุนคลังผู้ดีเตือนชาวอังกฤษ เตรียมเจอภาษีขึ้นเพราะเบร็กซิต
รัฐมนตรีคลังอังกฤษ “จอร์จ ออสบอร์น” ออกมาเตือนในวันอังคาร (28 มิ.ย.) ว่าอังกฤษอาจต้องเจอกับการขึ้นภาษีและลดค่าใช้จ่าย หลังจากการโหวตเลือกเบร็กซิตเพื่อก้าวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุบีบีซี รัฐมนตรีคลังของอังกฤษย้ำว่า จำเป็นจะต้องใช้การรักษาความมั่นคงทางการคลังต่อชาวอังกฤษหลังเบร็กซิต
เมื่อถูกถามว่านั่นหมายถึงการขึ้นภาษีและลดค่าใช้จ่ายใช่ไหม ออสบอร์นก็ตอบว่า ใช่ แน่นอนที่สุด แต่การตัดสินใจ จะเกิดขึ้นภายใต้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายหลังจากที่ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ได้ประกาศจะลาออกจากตำแหน่งหลังทราบผลประชามติช็อกโลกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
“มันชัดเจนมากว่าประเทศนี้กำลังจะยากจนลง” ออสบอร์นเผยต่อบีบีซี พร้อมทั้งยืนกรานว่าชาวอังกฤษจำเป็นจะต้องเผชิญกับการทำงบประมาณฉุกเฉิน และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
“เราจะต้องใช้การรักษาความมั่นคงทางการคลังกับประชาชน พูดอีกอย่างก็คือ เราจะแสดงให้ทั้งประเทศและทั้งโลกได้เห็นว่า ประเทศของเราสามารถอยู่ได้ด้วย ลำแข้งของเราเอง” ขุนคลังเมืองผู้ดีกล่าว
***โปแลนด์เรียกร้องคณะบริหารEUลาออก ฐานล้มเหลวสกัดBrexit
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญในรอบสัปดาห์หลังการลงประชามติ Brexit คือการที่ วิโทลด์ วาสซีคอฟสกี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ออกโรงเรียกร้องในวันอังคาร(28มิ.ย.)ให้เหล่าคณะบริหารของสหภาพยุโรป ลาออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากนโยบายของพวกเขาล้มเหลว ในการพิทักษ์ความเป็นหนึ่งเดียวของอียู และเปิดทางให้อังกฤษตัดสินใจแยกตัวออกจากกลุ่มความร่วมมือนี้ในที่สุด
"คำถามคือพวกผู้นำของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้เพิ่งเรียกร้องนักการเมืองให้เลิกฟังเสียงประชาชนผู้มี สิทธิ์เลือกตั้ง มีสิทธิ์ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อซ่อมแซมยุโรปหรือไม่" วาสซีคอฟสกี กล่าว
ดังนั้นจึงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่าผลพวงของ “Brexit” นั้น ได้กลายเป็นมหากาพย์เรื่องยาวแห่งยุโรป ที่ไม่จบลงเพียงแค่การทำประชามติหรือการหย่อนบัตรของผู้มาใช้สิทธิ์ในสหราชอาณาจักรเท่านั้น เพราะดูเหมือนว่า รัฐบาลอังกฤษเองกำลังพยายามเดินเกมต่อรองเพื่อให้ตนเองได้รับผลประโยชน์สูงสุดก่อนจะโบกมืออำลาอียู ขณะที่ฝ่ายอียูเองก็ต้องการให้อังกฤษแสดงความชัดเจนด้วยการรีบก้าวออกไป แทนการ “เตะถ่วง” ที่รังแต่จะนำมาซึ่งคำถามอีกมากมายที่ยังรอคำตอบอันคลุมเครือ และไม่เป็นผลดีนักต่อเศรษฐกิจ และตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลกที่ต้องการ “ความชัดเจน” ในประเด็นนี้