xs
xsm
sm
md
lg

บรัสเซลส์ลั่น“ไม่คุยนอกรอบ” จนกว่าอังกฤษจะใช้ม.50 ลาออก - จัดลำดับเอสแอนด์พีชี้ เม็ดเงิน 2.08 ล้านล้าน หายจากระบบการเงินโลกวันประกาศBREXIT

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้าย)ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป 
เอเจนซีส์ - แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปยืนยัน ทางบรัสเซลส์จะไม่เปิดการเจรจานอกรอบกับอังกฤษจนกว่าที่จะได้รับจดหมายแจ้งการลาออกอย่างเป็นทางการ และเริ่มใช้กฎหมายมาตรา Article 50 สนธิสัญญากรุงลิสบอน ในขณะที่สถาบันสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส  (s&p) ออกมาชี้ มีเงินจำนวน 2.08 ล้านล้านดอลลาร์หายไปจากตลาดทุนโลกทันทีในวันศุกร์(24 มิ.ย)หลังผลสำรวจประชามติอังกฤษออกมา

NBC NEWS สื่อสหรัฐฯรายงานวันนี้(27 มิ.ย)ว่า สถาบันจัดลำดับทางการเงิน สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส  (s&p) ออกมาชี้ ว่าในวันประกาศผลการลงประชามติBREXITทำให้เม็ดเงินร่วม 2.08 ล้านล้านดอลลาร์ได้หายวับไปจากตลาดทุนทั่วโลกในพริบตาเมื่อวันศุกร์(24มิ.ย) เป็นตัวเลขความเสียหายสูงกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตในช่วงวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส(Lehman Brothers) สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่สหรัฐฯล้มละลายในปี 2008 รวมไปถึงวิกฤตตลาดหุ้นแบล็กมันเดย์ 1987 เสียอีก

ทั้งนี้พบว่าตลาดหุ้นยุโรปได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยพบว่าตลาดหุ้นทั้งในมิลานและมาดริดตกไปมากกว่า 12% หนักมากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น ในขณะที่เบนช์มาร์กFTSE 100 ของอังกฤษตกไปเกือบ 9% ในช่วงหนึ่งภายในวันประกาศผลการลงประชามติ แต่กลับขึ้นมาปิดต่ำกว่า 3.15% สำเร็จ

ซึ่งสภาพการณ์เลวร้ายเริ่มต้นในเอเชีย โดยพบว่าตลาดหุ้นนิเคอิของญี่ปุ่นตกไป 7.9 % และสภาพการณ์นี้ส่งไปถึงตลาดหุ้นวอลสตรีทของสหรัฐฯ ซึ่งพบว่าดัชนีสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส  500 ตกไป3.6%

ด้านโมฮิต บาจาจ (Mohit Bajaj ) ผู้อำนวยการบริษัท ETF trading solutions ประจำWallachBeth Capital LLC ในนิวยอร์ก ได้ให้ความเห็นว่า ภาวะการขายออกอย่างหนัก ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะนักลงทุนคาดการณ์ผิดในผลที่จะออกมา และทำให้ทุ่มไปในอีกฝั่งแทน

ในขณะเดียวกันในฝั่งเงินดอลลาร์ การสูญเม็ดเงินในวันศุกร์(24 มิ.ย)ได้ลบสถิติที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 28 กันยายน 2008 ซึ่งเป็นวันที่ทางสภาคองเกรสไม่ผ่านมาตรการอัดฉีดเงินจำนวน 700 พันล้านดอลลาร์ในการอุ้มวอลสตรีทในขณะนั้น ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นสูญเม็ดเงินไปถึง 1.94  ล้านล้านดอลลาร์ภายในวันเดียว

สื่อสหรัฐฯรายงานต่อว่า ทางสถาบันจัดลำดับทางการเงินได้ทำการคาดคะเนโดยใช้ดัชนี S&P Global Broad Market Index หรือ BMI ในการคำนวนที่รวมไปถึงตลาดทุนในอีก 47 ประเทศ และพบว่า ยอดความเสียหายในวันศุกร์(24 มิ.ย)คิดเป็นเปอร์เซนต์ของ market capitalization อยู่ที่ 4.7%

นอกจากนี้ยังพบว่า ดัชนี the MSCI all-country world ของคู่แข่งได้ตกลงไปถึง 4.76  % ในวันศุกร์(24มิ.ย) นับว่าเป็นยอดสูญเสียที่หนักที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2011 ไปอยู่ที่ 5.09 % ในวันแรกของการเปิดซื้อขายหลังจากที่ทางสถาบันจัดลำดับการเงิน แตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส  ได้ลดระดับความน่าเชื่อถือจาก AAA

และในขณะเดียวกันเดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษรายงานวันนี้(27 มิ.ย)ว่า ในการประชุมอียูซัมมิตในวันอังคาร(28 มิ.ย)ที่จะถึงนี้จะเป็นการพบปะที่น่ากระอักกระอ่วนใจระหว่างนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอนที่ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันศุกร์(24 มิ.ย)รับผิดชอบต่อผลการลงประชามติประกาศแยกตัว และฝ่ายบรรดาชาติผู้นำสมาชิกอียูอีก 27ชาติที่ในขณะนี้ยังแบ่งเป็นฝ่ายต้องการให้มีการเดินหน้าตามกระบวนการแยกตัวออกทันที และฝ่ายที่ประกาศว่ายังสามารถประวิงเวลารอต่อไปได้สักพัก

แต่อย่างไรก็ตาม เดอะการ์เดียนชี้ว่า แหล่งข่าวสหภาพยุโรปได้เปิดเผยว่า ทางทีมกฎหมายของอียูระบุว่า ***ตามกฎหมายแล้ว ชาติสมาชิกไม่สามารถถูกบังคับให้เริ่มต้นกระบวนการขอลาออกได้***

ทั้งนี้แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปได้เปิดเผยกับสื่ออังกฤษต่อ โดยย้ำว่า ***ในขณะเดียวกัน ทางบรัสเซลส์สามารถปฎิเสธที่จะเปิดการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับอังกฤษ ก่อนที่กระบวนการลาออกจากความสมาชิกจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ***

“ตราบเท่าที่ยังไม่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการ ตราบเท่านั้นจะยังไม่มีการเจรจาใดๆเกิดขึ้น” แหล่งข่าวบรัสเซลส์ชี้ และกล่าวต่อว่า ทางสหภาพยุโรปได้ล้มเลิกความหวังที่จะเห็นกระบวนการลาออกของอังกฤษโดยการเริ่มต้นใช้กฎหมายมาตรา Article 50 ของสนธิสัญญากรุงลิสบอน เกิดขึ้นในที่ประชุมซัมมิตวันอังคาร(28 มิ.ย)ที่จะถึงนี้แล้ว

และแหล่งข่าวยุโรปคนเดิมยังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า “ในขณะนี้อังกฤษอยู่ในวิกฤตที่ร้ายแรง แต่ทว่าอังกฤษกลับยังไม่เห็นถึงอันตรายในการตัดสินใจเช่นนั้นออกมา” และแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อียูยังย้ำว่า “ทางอียูพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการอย่างเร็วที่สุด ทางเราต้องการให้กระบวนการเกิดขึ้นโดยเร็วเท่าที่จะเป็นได้”

เดอะการ์เดียรายงานว่า ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รีย์ มีกำหนดจะเยือนกรุงลอนดอนเพื่อหารือหลังจากนั้นในวันจันทร์(27มิ.ย) หลังจากที่เดินทางไปหารือกับบรัสเซลส์ก่อน ในขณะที่ผู้นำเยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี จะร่วมหารือในกรุงเบอร์ลิน ก่อนที่จะมีการประชุมซัมมิตเกิดขึ้นในกรุงบรัสเซลส์ในวันพรุ่งนี้(28 มิ.ย) ซึ่งเคร์รีย์ได้ตอกย้ำให้อังกฤษและสหภาพยุโรปลดความขัดแย้งให้น้อยที่สุด ด้วยการเจรจาอย่างสร้างสรรค์

ทั้งนี้ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกอียู สื่ออังกฤษชี้ว่าคาเมรอนรับบทหนักที่ต้องทำหน้าที่อธิบายถึงจุดยืนของอังกฤษในช่วงเวลาอาหารค่ำในคืนวันอังคาร(28 มิ.ย) และหลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีอังกฤษจะออกจากที่ประชุมร่วม โดยที่ไม่เข้าร่วมการพูดคุยของกลุ่มยูโรโซน 27 ชาติที่เหลือในวันพุธ(29 มิ.ย)

เดอะการ์เดียนชี้ว่า ในขณะเดียวกัน มาร์ติน ชูลซ์ ประธานสภายุโรป เป็นผู้นำเสียงเรียกร้องให้อังกฤษเริ่มต้นกระบวนการลาออกให้เร็วที่สุดในวันอังคาร(28 มิ.ย)นี้ “ทางเราหวังว่าทางอังกฤษจะส่งมาทันที” ชูลซ์ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เยอรมัน บิลด์ และเสริมต่อว่า “ช่วงเวลาวันอังคารที่จะมีการประชุมซัมมิต ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม”

ในขณะที่ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป  ได้กล่าวให้ความเห็นว่า การเจรจาสมควรที่จะเริ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่อียูได้เปิดเผยกับเดอะการ์เดียนว่า ยุงเกอร์ได้ต่อสายถึงคาเมรอนในวันศุกร์(24 มิ.ย) แจ้งต่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า เห็นสมควรให้เริ่มต้นใช้มาตรา Article 50 อย่างทันที “การตัดสินใจจากพลเมืองอังกฤษเป็นสิ่งที่ชัดเจน และการดำเนินการต่อจากนั้นเพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ถือเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ”

แต่ทว่าในแถลงการณ์ลาออกบริเวณด้านหน้าบ้านเลขที่ 10ถนนดาวน์นิงสตรีท คาเมรอนกลับประกาศว่า หน้าที่นี้จะเป็นของผู้ที่จะมารับไม้ต่อจากเขาในเดือนตุลาคม

ทั้งนี้ในที่ประชุมซัมมิตวันอังคาร(28 มิ.ย)ที่จะถึงนี้ โดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรปจะนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม ซึ่งเขามีกำหนดจะพบหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฟร็องซัว ออล็องด์ ในเช้าวันจันทร์(27 มิ.ย)ก่อนจะบินไปกรุงเบอร์ลินเพื่อพบกับนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล และนายกรัฐมนตรีอิตาลี  มัตเตโอ เรนซี  ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน

และนอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวอื่นๆในวันอาทิตย์(26 มิ.ย)ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูง ที่เรียกว่า  “sherpas” ของบรรดาชาติสมาชิกยุโรป ได้มีการหารือในกรุงบรัสเซลส์เป็นครั้งแรกโดยที่ไม่มีอังกฤษเข้าร่วม เพื่อเตรียมพร้อมการประชุมซัมมิตที่จะถูกจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งสัญญาณว่า ทางสหภาพยุโรปรวมเป็นหนึ่งเดียวหลังจากการลงประชามติ BREXIT ของอังกฤษที่คาดไม่ถึง

โดยแหล่งข่าวอียูย้ำเพิ่มเติมว่า ***อังกฤษจะยังไม่สามารถเจรจาการค้ากับทางสหภาพยุโรปได้จนกว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปไปแล้ว***

นอกจากนี้เดอะการ์เดียนรายงานว่า มีรายงานว่าทางฝรั่งเศสและเยอรมันได้จัดทำเอกสารจำนวน 10 หน้าเสนอแนวทางใน 3กรอบใหญ่ด้วยกันคือ (1) ความมั่นคง (2)การโยกย้ายและผู้อพยพ และ(3) งานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ สำหรับชาติสมาชิกอียูในการหารือเพื่อจะพยุงสหภาพยุโรปที่มีอายุ 60ปีไม่ให้ง่อนแง่น หลังเกิดกระแสการเลียนแบบ BREXIT หลังจากนั้น

นอกจากนี้ในวันเสาร์(25 มิ.ย)ทัสค์ ได้แต่งตั้งให้ นักการทูตเบลเยียม Didier Seeuws เป็นตัวแทนจากสหภาพยุโรปในการเจรจากับอังกฤษในอนาคต
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ 6 ชาติสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มสหภาพยุโรปในวันเสาร์ (25) ที่กรุงเบอร์ลิน









กำลังโหลดความคิดเห็น