เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - 6 ชาติสมาชิกก่อตั้งสหภาพยุโรปออกมากดดันในวันเสาร์ (25 มิ.ย.) เร่งให้อังกฤษเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวออกจากโซนเขตเศรษฐกิจพิเศษยุโรปที่มี 28 ชาติเข้าร่วมให้เร็วที่สุด ด้วยการเริ่มใช้กฎหมายมาตรา Article 50 หลังตลาดหุ้นและตลาดทุนทั่วโลกตกระเนระนาด และตามมาด้วยเสียงเรียกร้องอีกหลายชาติต้องการจัดลงประชามติแยกตัวบ้าง แต่ทว่านายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกรา แมร์เคิล ชี้ไม่เห็นด้วยที่จะกดดันอังกฤษให้เร่งรีบดำเนินการ พร้อมย้ำอังกฤษยังคงเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด
อัลญะซีเราะห์ สื่อกาตาร์ รายงานเมื่อวานนี้ (25 มิ.ย.) ว่า ในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ 6 ชาติสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มสหภาพยุโรปในวันเสาร์ (25) ที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งประกอบไปด้วยเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม และลักเซมเบิร์ก ต่างหารือถึงผลกระทบ BREXIT ที่เกิดขึ้นในวันศุกร์ (24) โดยทางฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอียูในเบลเยียมต้องการให้ทางอังกฤษเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนด้วยการใช้กฎหมายมาตรา Article 50 ในกระบวนการออกจากการเป็นสมาชิกภาพยุโรปให้เร็วที่สุด
“กระบวนการหลังจากมาตรา Article 50 ได้เริ่มต้นใช้ จะต้องเริ่มขึ้นทันที ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางตันในภายหลัง” รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ฟรังก์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเยอร์ (Frank-Walter Steinmeier) แถลงหลังจากเสร็จสิ้นการหารือที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของ 6 ชาติก่อตั้งอียู
และกล่าวต่อว่า “การเจรจาที่จะเกิดขึ้นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วม” และชไตน์ไมเยอร์ยังกล่าวต่อว่า “นอกจากนี้ คาดว่าจะมีแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อตัวนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ที่จะเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำของสมาชิกอียูในวันอังคารที่จะถึงนี้ในการให้เร่งดำเนินการ”
รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเยอรมนียืนกรานว่า ทางอังกฤษจะต้องเริ่มใช้มาตรา Article 50 ของสนธิสัญญากรุงลิสบอน ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการลาออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป
สื่อกาตาร์ชี้ว่า การออกมาเรียกร้องของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียูมีขึ้น 1 วันหลัวจากก่อนหน้านี้บรรดาผู้นำสหภาพยุโรปได้ออกแถลงการณ์ร่วม กระบวนการเจรจาผลจาก BREXIT เห็นสมควรที่จะต้องเริ่มอย่างทันที
“ทางเราหวังที่จะเห็นรัฐบาลอังกฤษทำให้ผลการลงประชามติของพลเมืองอังกกฤษเกิดขึ้นอย่างทันที แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า อาจจะต้องมีความยากลำบากในระหว่างดำเนินการอยู่บ้าง” รายงานจากแถลงการณ์ร่วมโดยโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป มาร์ติน ชูลซ์ ประธานสภายุโรป และมาร์ก รึตเตอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ที่ในขณะนี้นั่งหัวโต๊เป็นประธานสมาชิก 6 ชาติอียู
และในแถลงการณ์ร่วมยังระบุต่อว่า “การปล่อยให้เนิ่นนานออกไปไม่เห็นควรที่จะมีความจำเป็นเช่นนั้น”
ก่อนหน้านี้ยุงเกอร์ได้แถลงว่า เขาไม่เข้าใจในเหตุผลว่าเหตุใด รัฐบาลอังกฤษจึงต้องรอไปถึงเดือนตุลาคมจึงจะส่งจดหมายการลาออกจากความเป็นสมาชิกมายังอียู “ผมต้องการให้เกิดขึ้นทันที” ยุงเกอร์กล่าวให้ความเห็นกับวิทยุเยอรมัน ARD ในวันผลการลงประชามติออกมา (24 มิ.ย) ซึ่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรปชี้ว่า “มันไม่ใช่การเลิกราแบบฉันมิตร แต่ไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์บนเตียงแบบแนบแน่น”
แต่อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมในวันนี้ (26 มิ.ย.) อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้กล่าวให้ความเห็นขัดแย้งกับที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอียู 6 ชาติสมาชิกผู้ก่อตั้งว่า เธอไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งรีบให้อังกฤษเริ่มต้นกระบวนการออกจากการเป็นสมาชิกอียูทันที
รอยเตอร์ชี้ว่า ดูเหมือนแมร์เคิลเกือบจะเป็นผู้นำเพียงชาติเดียวใน 28 ชาติสมาชิกที่ไม่ต้องการให้อังกฤษเดินก้าวพ้นประตูจากความเป็นชาติสมาชิกยุโรปไป ซึ่งผู้นำหญิงเยอรมันยืนยันว่า เธอไม่ต้องการกดดันอังกฤษหลังจากคาเมรอนประกาศชัดเจนว่าจะยังไม่เริ่มดำเนินการใดๆจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคมไปแล้ว
แมร์เคลกล่าวในการแถลงข่าวว่า “เป็นความสัตย์จริงที่ว่า ไม่ควรที่ต้องใช้เวลาเนิ่นนาน แต่ทว่าดิฉันจะไม่ลุกขึ้นสู้ด้วยเงื่อนไขเวลาสั้นเช่นนี้” และกล่าวต่อว่า “การเจรจาจะเริ่มต้นขึ้น เหมือนการเจรจาทางธุรกิจทั่วไป ที่มีบรรยากาศที่ดี อังกฤษจะยังคงเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดต่อไป ที่ผูกเชื่อมกับเราด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ”