xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ดีกลับมาลุยหาเสียงประชามติอียู โพลชี้ฝ่าย “อยู่ต่อ” พลิกแซงขึ้นนำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - การรณรงค์ชักชวนให้คนอังกฤษอยู่ต่อหรือออกจากอียูได้เริ่มขึ้นอีกครั้งในวันจันทร์ (20) หรือก่อนลงประชามติ 3 วัน หลังจากระงับการหาเสียงชั่วคราวเพราะเหตุฆาตกรรมสมาชิกรัฐสภาหญิง “โจ คอกซ์” ที่มีจุดยืนสนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรป ขณะเดียวกัน โพลล่าสุดระบุฝ่าย “อยู่ต่อ” พลิกกลับมานำฝ่าย “ถอนตัว”

สภาเมืองผู้ดีเปิดอภิปรายอีกครั้งหลังจากหยุดพัก 3 วัน และไว้อาลัยแก่โจ คอกซ์ สมาชิกรัฐสภาที่ถูกสังหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

นักการเมืองทั้งสองฝ่ายต่างพยายามอย่างเต็มที่เพื่อโน้มน้าวผู้มีสิทธิออกเสียงก่อนการลงประชามติในวันพฤหัสบดี (23)

“คุณควรเปลี่ยนประวัติศาสตร์ยุโรป ผมหวังว่าคุณจะโหวตออก เพื่อให้อังกฤษกลับมามีอำนาจควบคุมโชคชะตาอนาคตของตัวเอง โอกาสนี้จะไม่หวนกลับมาอีกแล้วตลอดชั่วอายุขัยของเรา และผมขอร้องว่าเราไม่ควรปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป” บอริส จอห์นสัน ผู้สนับสนุนให้อังกฤษออกจากอียู (เบร็กซิต) เชิญชวนผ่านบทความในเดลี เทเลกราฟ

ด้านนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน เรียกร้องผู้มีสิทธิออกเสียงเลือก “อยู่ต่อ” ระหว่างการปรากฏตัวในรายการของบีบีซีเมื่อคืนวันอาทิตย์ (19) ที่มีผู้ชมรายการบางคนกล่าวหาเขาว่า พะเน้าพะนอ “เผด็จการอียู”

“ถ้าเราเดินออกมาเท่ากับเราแพ้ ผมไม่คิดว่าอังกฤษจะเป็นพวกขี้แพ้ แต่คิดว่าเราจะอยู่และสู้ต่อไป” คาเมรอนกล่าว

ฝ่ายออกและฝ่ายอยู่ต่อต่างคุมเชิงกัน โดยที่โพลโดยรวมระบุว่าทั้งสองฝ่ายมีผู้สนับสนุน 50% เท่ากัน ทั้งนี้ จากการคำนวณของเว็บไซต์วิจัย วอต ยูเค ติงค์ส

การลงประชามติในวันพฤหัสบดีอาจทำให้ได้เห็นอังกฤษเป็นประเทศแรกที่โบกมือลาสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีสมาชิกทั้งหมด 28 ประเทศ อันเป็นแนวโน้มที่ทำให้ตลาดเศรษฐกิจปั่นป่วนมาตลอดสัปดาห์ที่แล้วเมื่อฝ่ายเบร็กซิตมีแนวโน้มเป็นต่อ

เจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน มีแนวโน้มถูกซักถามอย่างดุเดือด โดยผู้ชมรายการถ่ายทอดสดช่วงคืนวันจันทร์ ที่เขาจะรณรงค์ให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อ

ขณะที่การสังหารคอกซ์ นักการเมืองพรรคแรงงานที่เป็นที่รู้จักจากจุดยืนสนับสนุนอียูและการเป็นตัวแทนแก้ต่างให้ผู้อพยพ ทำให้ชาวเมืองผู้ดีช็อกไปตามๆ กันและตั้งคำถามว่า การรณรงค์เรื่องการทำประชามติสร้างความแตกแยกมากเกินควรหรือไม่

ระหว่างถูกนำตัวขึ้นศาลเมื่อวันเสาร์ (18) โธมัส แมร์ ผู้ถูกกล่าวหาสังหารคอกซ์ ไม่ยอมบอกชื่อตัวเอง แต่กลับประกาศว่า “ความตายสู่ผู้ทรยศ เสรีภาพสำหรับอังกฤษ”

ล่าสุดโปสเตอร์ของฝ่ายเบร็กซิตที่เป็นภาพขบวนผู้อพยพและผู้ลี้ภัยยาวสุดลูกหูลูกตาบริเวณชายแดนสโลวีเนีย และมีตัวหนังสือสีแดงขนาดใหญ่เขียนว่า “จุดแตกหัก” กำลังถูกวิจารณ์อย่างหนัก

รัฐมนตรีคลัง จอร์จ ออสบอร์น วิพากษ์ว่า “น่ารังเกียจและชั่วร้าย” และยังบอกว่า เลียนแบบสำนวนที่ใช้ในทศวรรษ 1930

ซายีดา วาร์ซี นักการเมืองอาวุโสจากพรรคอนุรักษนิยมเช่นกัน บอกว่า โปสเตอร์นี้ทำให้เธอตัดสินใจถอนตัวจากการสนับสนุนฝ่ายเบร็กซิต เนื่องจากเห็นว่าเป็นการโกหก ส่งเสริมความเกลียดชังและความหวาดกลัวคนต่างชาติเพื่อให้ได้ชัยชนะในการทำประชามติ

ฝ่ายเบร็กซิตโต้กลับด้วยการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่า ปล่อยข่าวลือที่น่าตกใจเรื่องเศรษฐกิจอาจถดถอยหากอังกฤษถอนตัวจากอียู

ไนเจล ฟาราจ ผู้นำพรรคยูเค อินดิเพนเดนซ์ ปาร์ตี้ (UKIP) ยืนกรานว่า โปสเตอร์ดังกล่าวไม่ได้มุ่งกระตุ้นความรู้สึกเกลียดชัง แต่ยอมรับว่าการสังหารคอกซ์อาจส่งผลลบต่อแคมเปญ “เบร็กซิต” ที่กำลังดีวันดีคืน

อนึ่ง ผลสำรวจจาก 3 สำนักที่ออกมาเมื่อวันอาทิตย์ระบุว่า ฝ่ายสนับสนุนให้อยู่ต่อมีคะแนนตีตื้นกลับขึ้นมานำบ้าง กระนั้น ผู้จัดทำการสำรวจตั้งข้อสังเกตว่าทำการสำรวจก่อนเหตุสังหารคอกซ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสฯ (16) จึงไม่ได้สะท้อนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลต่อการลงประชามติอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น