xs
xsm
sm
md
lg

‘ซาอุฯ’กับ‘ตุรกี’ทำสงครามใน‘เยเมน’และ‘ซีเรีย’เพื่อสร้างสายท่อส่งน้ำมัน-ก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: คริสตินา หลิน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Saudi Arabia and Turkey’s pipeline wars in Yemen and Syria
By Christina Lin
12/06/2016

ทั้งซาอุดีอาระเบียและตุรกี ต่างกำลังทำสงครามและให้การหนุนหลังกองกำลังอาวุธต่างๆ ในเยเมนและซีเรีย จุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้พวกเขาลงแรงทุ่มเทค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลทั้งในด้านชีวิตเลือดเนื้อและในแง่เงินทองงบประมาณเช่นนี้ ได้แก่การผลักดันให้มีการสร้างสายท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ซึ่งจะต้องพาดผ่านเขตผู้ว่าการ “ฮัดราเมาต์” ของเยเมน และจังหวัด “อะเลปโป” ของซีเรีย

การรณรงค์ทำสงครามของซาอุดีอาระเบียในเยเมน ซึ่งสูญสิ้นค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลทั้งในด้านชีวิตเลือดเนื้อและในแง่เงินทองงบประมาณ คือการย้ำยืนยันอย่างถูกต้องตามความหมายของคำว่า “ยุทธศาสตร์เข้าประตูหลัง” (backdoor strategy) โดยแท้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น “ประตู” หรือรูปร่างลักษณะอันแท้จริงของยุทธศาสตร์ดังกล่าว ก็ล้วนแต่ยังจมลึกอยู่ข้างใต้ท้องน้ำอันมืดมนแห่งการเมืองของภูมิภาคตะวันออกกลาง

ในเดือนมิถุนายน 2015 โจเก บูรินกา (Joke Buringa) ที่ปรึกษาอาวุโสซึ่งดูแลรับผิดชอบงานด้านเยเมน ในกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งพูดถึงความสนอกสนใจของซาอุดีอาระเบีย ในการสร้างสายท่อส่งน้ำมันที่จะวางพาดผ่านเยเมน บทความของเธอเน้นย้ำให้เห็นถึงภูมิรัฐศาสตร์ทางพลังงานซึ่งอยู่เบื้องหลังการรณรงค์ทิ้งระเบิดของริยาดในรอบปีที่ผ่านมา

สายท่อส่งน้ำมันซาอุดีฯพาดผ่านพื้นที่ฮัดราเมาต์ของเยเมน

ในบทความชิ้นดังกล่าวของเธอที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “Divide and Rule: Saudi Arabia, Oil and Yemen” (แบ่งแยกแล้วปกครอง: ซาอุดีอาระเบีย, น้ำมัน, และเยเมน) บูรินกาเผยให้เห็นว่า ซาอุดีอาระเบียมีความหวาดกลัวว่าอิหร่านจะทำการปิดล้อมช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz Strait) และจึงกำลังหาทางสร้างสายท่อส่งน้ำมันพาดผ่านเยเมน ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ถ้าทำสำเร็จก็จะทำให้ริยาดมีช่องทางตรงที่จะเข้าถึงอ่าวเอเดน (Gulf of Aden) และมหาสมุทรอินเดีย เพื่อต่อไปยังตลาดเอเชีย [1]

นาฟีซ อาเหม็ด (Nafeez Ahmed) คอลัมนิสต์ของ มิดเดิลอีสต์อาย (Middle East Eye) ก็อ้างอิงเอกสารรายงานทางการทูตของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเมื่อปี 2008 ฉบับหนึ่ง ที่ถูกนำออกมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ “วิกิลีกส์” (Wikileaks) ซึ่งยืนยันเรื่องที่ว่าฝ่ายซาอุดีอาระเบียมีความสนใจที่จะจัดสร้างสายท่อส่งน้ำมันซึ่ง “ซาอุดีอาระเบียเป็นทั้งเจ้าของ, ผู้ดำเนินการ, และผู้พิทักษ์คุ้มครองทั้งหมด” โดยวางพาดผ่าน ฮัดราเมาต์ (Hadramawt) ของเยเมน ไปจนถึงท่าเรือแห่งหนึ่งในอ่าวเอเดน”[2]

ฮัดราเมาต์นั้นเป็นเขตผู้ว่าการ (governorate) ที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดของเยเมน ที่นี่มีประชากร 4 ล้านจากทั้งหมด 26 ล้านคนของทั่วประเทศ, มีดินแดนภาคพื้นดินคิดเป็นประมาณ 50% ของเยเมน, เป็นผู้ส่งออกน้ำมัน 80% ของการส่งออกของประเทศ, เป็นเขตที่มีน้ำเพียงพอแก่การใช้อุปโภคบริโภค, และมีแร่ทองคำสำรองมูลค่าราว 4,000 ล้านดอลลาร์

ยิ่งเมื่ออิหร่านกับโอมานลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการสร้างสายท่อส่งก๊าซสายหนึ่งในปี 2014 ก็ทำให้ซาอุดีอาระเบียยิ่งเพิ่มความไม่ไว้วางใจโอมาน และยิ่งมองเห็นเสน่ห์ดึงดูดใจของทางเลือกในการสร้างสายท่อส่งน้ำมันผ่านฮัดราเมาต์ในเยเมน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2015 เมื่อพวกฮูตี (Houthis) เข้าควบคุมรัฐบาลเยเมนเอาไว้ได้ ริยาดก็เริ่มต้นการรณรงค์ทิ้งระเบิดของตนในเดือนถัดมา

ตามข้อเขียนของ บูรินกา สิ่งที่น่าสนใจมากประการหนึ่งก็คือ ฮัดราเมาต์ (ซึ่งเวลานี้ตกอยู่ใต้การควบคุมของกลุ่มอัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาราเบีย หรือ al-Qaeda in the Arabia Peninsula ใช้อักษรย่อว่า AQAP) เป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่แห่งซึ่งกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยซาอุดีอาระเบียไม่ได้เข้าถล่มโจมตีทางอากาศ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ท่าเรือและท่าอากาศยานนานาชาติในเมืองอัล-มูคัลลา (al-Mukalla) เมืองเอกของเขตผู้ว่าการแห่งนี้ยังคงอยู่ในสภาพที่น่าพอใจ ทั้งนี้ เธอตั้งข้อสังเกตว่า “ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ที่กำลังจัดส่งอาวุธให้อัลกออิดะห์ ซึ่งก็กำลังขยายเขตอิทธิพลของตนให้แผ่กว้างออกไป” พร้อมกับประเมินว่า “สายท่อส่งทั้งหลายที่พยายามมุ่งหน้าไปสู่มูคัลลา บางทีอาจจะไปถึงที่นั่นได้ในที่สุด”

ไมเคิล ฮอร์ตัน (Michael Horton) นักวิเคราะห์ด้านการก่อการร้ายของมูลนิธิเจมส์ทาวน์ (Jamestown Foundation) ก็เห็นด้วยว่า ในทัศนะของริยาดนั้น มองกลุ่ม AQAP ว่าเป็นตัวแทนที่มีประโยชน์ในสงครามที่ซาอุดีอาระเบียมุ่งต่อต้านพวกฮูตี โดยสิ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นในเยเมนนี้ “ก็เป็นกระจกสะท้อนสถานการณ์ในซีเรีย ซึ่งกลุ่มจับฮัต อัล-นุสรา (Jabhat al-Nusra) ที่อยู่ในเครือข่ายอัลกออิดะห์ ถูกซาอุดีอาระเบียและพวกรัฐริมอ่าวเปอร์เซียรายอื่นๆ มองเห็นกันมาสักระยะหนึ่งแล้วว่า เป็นกองกำลังอาวุธตัวแทนที่มีแนวความคิดค่อนข้างไปทางสายกลาง” ซึ่งสามารถใช้ในการตอบโต้ต่อสู้กับรัฐบาลอัสซาด [3]

ช่างโชคร้ายเสียจริง หนึ่งปีของการรณรงค์ทิ้งระเบิดที่นำโดยซาอุดีอาระเบียในเยเมน ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในการเพิ่มอำนาจให้แก่อัลกออิดะห์ จนพวกเขากำลังสถาปนารัฐเจ้าอาหรับแห่งฮัดราเมาต์ (Hadramawt emirate) ขึ้นมา [4]

ในทำนองเดียวกัน อัล-นุสรา สาขาของอัลกออิดะห์ในซีเรีย เวลานี้ก็กำลังสถาปนารัฐเจ้าอาหรับอิสลามขึ้นในภาคเหนือของซีเรีย [5] ทั้งนี้ซีเรียก็เป็นสถานที่ซึ่งซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, และตุรกี มีความสนอกสนใจที่จะสร้างสายท่อส่งก๊าซเพื่อใช้ลำเลียงก๊าซไปจนถึงตลาดอียูซึ่งสามารถทำกำไรได้อย่างงามๆ

สายท่อส่งก๊าซกาตาร์-ตุรกี วางผ่านจังหวัดอะเลปโปของซีเรีย

ในบทความซึ่งเขียนลงเผยแพร่ในวารสารอาร์มด์ฟอร์ซเจอร์นัล (Armed Forces Journal) พันตรี ร็อบ เทย์เลอร์ (Major Rob Taylor) เข้าขบวนผู้รู้คนอื่นๆ อีกจำนวนมากในการตั้งข้อสังเกตว่า สงครามกลางเมืองในซีเรียนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นสงครามสายท่อส่งน้ำมันและก๊าซ เพื่อช่วงชิงการควบคุมเหนือซัปพลายด้านพลังงาน โดยที่ซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, และตุรกี เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องโค่นล้มอัสซาดลงมา “เพื่อที่พวกเขาจะสามารถควบคุมซีเรีย และเอาสายท่อส่งของพวกเขาเองพาดผ่านซีเรียไปจนถึงตุรกี”[6]

“ซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ ตลอดจนอัลกออิดะห์และกลุ่มอื่นๆ ต่างกำลังวางแผนการเดินเกมกลยุทธ์โค่นล้มอัสซาด และเข้าฉวยใช้ประโยชน์เมื่อกองกำลังชาวสุหนี่เป็นผู้พิชิตเข้ายึดครองกรุงดามัสกัสตามที่พวกเขาวาดหวังเอาไว้ จากการดำเนินการเช่นนี้ พวกเขาหวังว่าจะได้รับส่วนแบ่งในการควบคุมเหนือรัฐบาลซีเรีย “ชุดใหม่” และได้รับส่วนแบ่งในความมั่งคั่งจากสายท่อส่ง”

สายท่อส่งที่เสนอกันนี้ จะวางพาดข้ามจังหวัดอะเลปโป (Aleppo) ของซีเรีย โดยที่อะเลปโปนี่เอง คือสถานที่ซึ่งประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน (Recep Tayyip Erdogan) แห่งตุรกี กำลังพยายามวิ่งเต้นล็อบบี้มาระยะหนึ่งแล้วเพื่อให้ประกาศเป็นเขตห้ามบิน (no-fly zone) โดยมีแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯคอยหนุนหลัง และใช้เงินภาษีอากรของชาวอเมริกันในการดำเนินการบังคับใช้

ตุรกียังกำลังเพิ่มความผูกพันด้านกลาโหมกับพวกผู้ผลิตพลังงานต่างๆ รวมทั้งกำลังสร้างฐานทัพทางทหารในต่างแดนเพื่อให้ตนเองสามารถเข้าถึงพื้นที่แนวระเบียงด้านพลังงาน (energy corridors) แห่งสำคัญๆ เป็นต้นว่า กาตาร์ที่ร่ำรวยด้วยก๊าซธรรมชาติในอ่าวเปอร์เซีย, โซมาเลียในบริเวณจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa), จอร์เจียในแถบเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus), และซูดานในทะเลแดง (Red Sea) นอกจากนั้น ตุรกียังมีกำลังทหารอยู่ในภาคเหนือของอิรักที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมัน, ภาคเหนือของไซปรัสซึ่งนอกชายฝั่งออกไปมีแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรอง, รวมทั้งกำลังชุมนุมพลอยู่ในบริเวณติดชายแดนซีเรีย [7]

ทั้งนี้ในเดือนธันวาคม 2015 ตุรกีประกาศแผนการที่จะจัดตั้งฐานทัพทางทหารแห่งหนึ่งซึ่งมีกำลังทหาร 3,000 คนขึ้นในกาตาร์ ต่อจากนั้นในเดือนมกราคม 2016 อังการาก็เผยแผนการในการจัดตั้งฐานทัพทางทหารแห่งหนึ่งในโซมาเลีย [8] ก่อนหน้า 2 เรื่องนี้ ตุรกียังเข้าร่วมกับจอร์เจียและอาเซอร์ไบจัน จัดทำเอกสารบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางทหารไตรภาคีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 อาเซอร์ไบจันนั้นเป็นผู้จัดส่งก๊าซมายังตุรกี นอกจากนั้นมีรายงานว่ากำลังมีการเจรจาหารือกันเกี่ยวกับการจัดตั้งฐานทัพทางทหารของตุรกีแห่งหนึ่งขึ้นในจอร์เจียในอนาคตข้างหน้า [9]

ในเดือนพฤษภาคม 2015 เช่นกัน ก่อนหน้าที่ซูดานจะจัดการเลือกตั้ง ตุรกีได้ส่งเรือรบจำนวนหนึ่งไปทำการซ้อมรบร่วมกับกองทัพซูดาน [10] โดยที่ซูดานเป็นผู้ที่ให้ความสนับสนุนแก่กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ในอียิปต์ เฉกเช่นเดียวกับเออร์โดกัน ขณะเดียวกันก็มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ซึ่งทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยอยู่ริมทะเลแดง ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงการค้าทางทะเลระหว่างยุโรปกับเอเชีย นับตั้งแต่ที่ โมฮาเหม็ด มอร์ซี (Mohamed Morsi) ผู้นำคนหนึ่งของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมถูกฝ่ายทหารของอียิปต์โค่นล้มลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี ความผูกพันระหว่างไคโร(อียิปต์) กับ คาร์ทูม (ซูดาน) ก็เสื่อมทรามลงอย่างมาก และในเดือนพฤศจิกายน 2015 ซูดานได้เริ่มชุมนุมทหารที่บริเวณชายแดนติดต่อกับอียิปต์ [11]

พร้อมๆ กับที่มีกำลังทหารอยู่ในภาคเหนือของอิรัก, ภาคเหนือของไซปรัส, และตามแนวพรมแดนของตนที่ติดต่อกับภาคเหนือของซีเรีย ตุรกียังกำลังสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของตนขึ้นมา[12] ด้วยแหล่งน้ำมันและก๊าซสำรองอันมากมายกว้างขวางของริยาด (ซาอุดีอาระเบีย) และโดฮา (กาตาร์) บวกกับแสนยานุภาพทางทหารที่ได้รับการอบรมจากองค์การนาโต้ของอังการา (ตุรกี) ชาติผู้ทรงอำนาจทั้ง 3 รายนี้ต่างกำลังให้การหนุนหลัง “อาร์มี ออฟ คองเควสต์” (Army of Conquest) อันเป็นการรวมตัวในด้านแผนยุทธการของหลายกองกำลังอาวุธอิสลามิสต์ซีเรียซึ่งนำโดย อัล-นุสรา กองกำลังเหล่านี้เคลื่อนไหวอยู่ในภาคเหนือของซีเรีย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด ขณะเดียวกัน ชาติผู้ทรงอำนาจทั้ง 3 ยังกำลังให้การหนุนหลัง AGAP เพื่อโค่นล้มพวกฮูตีในเยเมน เวลาเดียวกันนั้น ในลิเบีย กลุ่มลิเบีย ดอว์น (Libya Dawn) ซึ่งนำโดยกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ก็กำลังได้รับความสนับสนุนจากตุรกี, กาตาร์, และซูดาน

นักรบญิฮัดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน?

ถ้าหากอียิปต์, ลิเบีย, ซีเรีย, และประเทศอื่นๆ ในบริเวณด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตกไปอยู่ในกำมือของกองกำลังอาวุธอิสลามิสต์แล้ว สถานการณ์เช่นนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องดีสำหรับการพาณิชย์ทางทะเลในภูมิภาคแถบนี้อย่างแน่นอน

ในปี 1801 อเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ได้เข้าทำ “สงครามบาร์บารี” (Barbary wars ปี 1801-1805,1815) กับ 3 จังหวัดของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman provinces) ได้แก่ แอลเจียร์, ตูนิส, ตริโปลี และรัฐสุลต่านเอกราชแห่งโมร็อกโก (independent Sultanate of Morocco) เพื่อตอบโต้พฤติการณ์การก่อการร้ายทางทะเลในแถบเมดิเตอร์เรเนียนของพวกเขา รัฐในบริเวณแอฟริกาเหนือเหล่านี้ รู้จักเรียกขานกันในชื่อว่ารัฐบาร์บารี (Barbary States) และพวกเขาต่างเกี่ยวข้องพัวพันกับโจรสลัดที่มีพฤติการณ์จับคนเรียกค่าไถ่และเรียกค่าคุ้มครอง

หลังจากมีเรือสินค้าของอเมริกันถูกจับถูกยึดไปครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่ลูกเรือก็ถูกจับกุมถูกบังคับให้เป็นทาสพร้อมกับเรียกร้องค่าไถ่ ขณะเดียวกันพวกผู้ปกครองของรัฐบาร์บารียังข่มขู่เรียกร้องค่าคุ้มครองจนเกินเหตุ ในที่สุดเจฟเฟอร์สันก็ประกาศสงครามกับพวกเขา และจัดส่งกองทัพเรือสหรัฐฯออกไปยังต่างแดนเป็นครั้งแรก ลงท้ายแล้วกำลังทหารนาวิกโยธินอเมริกันก็สามารถสร้างความปราชัยให้แก่พวกรัฐบาร์บารี ซึ่งยังเป็นที่จารึกจดจำกันในรูปของเนื้อเพลงวรรคหนึ่ง (“the shores of Tripoli”) ของเพลง Marines’ Hymn เพลงสรรเสริญอย่างเป็นทางการประจำเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ

เวลานี้ ชายฝั่ง “บาร์บารี” แห่งแอฟริกาเหนือ, คลองสุเอซ, ทะเลแดง, และอ่าวเอเดน กำลังเผชิญหน้าอีกครั้งกับการหวนกลับมาของการก่อการร้ายทางทะเล ด้วยการปรากฏตัวของกลุ่มอิสลามิสต์ต่างๆ เป็นต้นว่า ไอซิส (ISIS ชื่อหนึ่งของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” หรือ ไอเอส) และอัลกออิดะห์ [13]

ในท่ามกลางความสนใจอันมากมายที่กำลังโฟกัสไปยังการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ ถึงขนาดที่ฝรั่งเศสก็ยังกำลังผลักดันอียูให้ส่งเรือเข้าร่วมตรวจการณ์เพื่อสำแดงเสรีภาพในอาณาบริเวณดังกล่าวด้วย จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่ฝรั่งเศสจะมองขยับใกล้เข้ามาที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หากจะทำการตรวจการณ์ลาดตระเวนทางทะเลอะไรกันจริงๆ รวมทั้งสมควรหรือยังที่ฝรั่งเศสจะเดินหน้ายื่นข้อเสนอต่อรัฐสภาอียูให้ห้ามการจัดส่งอาวุธแก่ซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากประเทศนี้กำลังสนับสนุนกลุ่มนักรบญิฮัดกลุ่มต่างๆ ในการสั่นคลอนเสถียรภาพของเหล่าชาติเพื่อนบ้านทางตอนใต้ของสหภาพยุโรป [14]

หมายเหตุ
[1]http://web.archive.org/web/20150701113930/http:/www.jokeburinga.com/divide-and-rule-saudi-arabia-oil-and-yemen-3/
[2] Nafeez Ahmed, “Saudi war for Yemen oil pipeline is empowering al-Qaeda, IS”, Middle East Eye, 10 February 2016, http://www.middleeasteye.net/essays/saudi-war-yemen-oil-pipeline-empowering-al-qaeda-1386143996
[3] Michael Horton, “The Hadramawt: AQAP and the Battle for Yemen’s Wealthiest Governorate”, Terrorism Monitor, Volume 13, Issue 14, 10 July 2015, http://www.jamestown.org/single/?tx_ttnews%5Btt_news%5D=44145&tx_ttnews%5BbackPid%5D=7#.V1qu8VdOtSU
[4] Bruce Riedel, “Al-Qaida’s Hadramawt emirate”, Brookings Blogs, 12 July 2015, http://www.brookings.edu/blogs/markaz/posts/2015/07/12-al-qaeda-yemen-emirate-saudi-riedel
[5] Jabbat al Nusra in Syria: An Islamic Emirate for Al-Qaeda, Institute for the Study of War, http://www.understandingwar.org/jabhat-al-nusra-syria-islamic-emirate-al-qaeda; Charles Lister, “Al Qaeda is about to Establish an Emirate in Northern Syria”, Foreign Policy, 4 May 2016, http://foreignpolicy.com/2016/05/04/al-qaeda-is-about-to-establish-an-emirate-in-northern-syria/; Raf Sanchez, “Al Qaeda leader gives blessing for terror group to form own ‘Islamic state’ in Syria”, Telegraph, 8 May 2016, http://www.telegraph.co.uk/news/2016/05/08/al-qaeda-leader-gives-blessing-for-terror-group-to-form-own-isla/
[6] Maj. Rob Taylor, “Pipeline politics in Syria”, Armed Forces Journal, 21 March 2014, http://armedforcesjournal.com/pipeline-politics-in-syria/
[7] Dorian Jones, “Turkey Military Masses at Syria Border, but Why?” Voice of America, 13 May 2016, http://www.voanews.com/content/turks-mass-syria-border/3329295.html; “Russia: Turkish troops in Syria for operation against the Kurds”, Associated Press, 13 March 2016, https://www.yahoo.com/news/turkey-declares-24-hour-curfew-mainly-kurdish-town-090847152.html?ref=gs
[8] “First Turkish military base in Africa to open in Somalia”, Daily Sabah, 19 January 2016, http://www.dailysabah.com/diplomacy/2016/01/19/first-turkish-military-base-in-africa-to-open-in-somalia
[9] Joshua Noonan, “Turkey’s military in the Caucasus”, Silk Road Reporter, 9 May 2015, http://www.silkroadreporters.com/2015/05/09/turkey-in-the-caucasus/
[10] Morgan Winsor, ‘Turkish Warships Dock in Sudan for Joint Drills Ahead of Sudanese Elections”, International Business Times, 6 April 2016, http://www.ibtimes.com/turkish-warships-dock-sudan-joint-drills-ahead-sudanese-elections-1870978
[11] Mohammed Amin, “Ongoing tension between Egypt, Sudan”, Anadolu Agency,1 June 2016, http://aa.com.tr/en/politics/ongoing-tension-between-egypt-sudan/501366
[12] Thomas Siebert, “Just what the Middle East Needs: Turkey’s Getting an Aircraft Carrier,” Daily Beast, 1 May 2016, http://www.thedailybeast.com/articles/2016/01/05/just-what-the-middle-east-needs-turkey-s-getting-an-aircraft-carrier.html
[13] Niklas Anzinger, “Jihad at Sea-Al Qaeda’s Maritime Front in Yemen”, Center for International Maritime Security, 25 February 2014, http://cimsec.org/jihad-sea-yemen-al-qaedas-new-frontier/9733; Akiva J. lOrenz, “Al Qaeda’s Maritime Threat”, Maritime Terrorism, 15 April 2007, http://www.maritimeterrorism.com/2007/04/15/al-qaeda’s-maritime-threat/; Ben Farmer, “Isil wants its own navy for attacks on cruise ships in the Mediterranean”, Telegraph, 28 January 2016, http://www.telegraph.co.uk/news/uknews/defence/12128328/Isil-wants-its-own-navy-for-attacks-in-the-Mediterranean.html;
[14] Eldar Mamedov, “European Parliament Calls for an Arms Embargo against Saudi Arabia”, Lobelog, 1 March 2016, https://lobelog.com/european-parliament-calls-for-an-arms-embargo-against-saudi-arabia/; http://www.latimes.com/opinion/op-ed/la-oe-0330-whitson-yemen-strikes-20160330-story.html

ดร.คริสตินา ลิน เป็นนักวิจัยอยู่ที่ศูนย์เพื่อความสัมพันธ์สองฟากฝั่งแอตแลนติก (Center for Transatlantic Relations) วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูงพอล เอช. นิทซ์ (SAIS) มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) โดยที่เธอเป็นผู้ชำนาญการในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ตะวันออก กลาง/เมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนั้นเธอยังเป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัยให้แก่ ศูนย์เจนส์ด้านข่าวกรองทางเคมี, ชีวภาพ, รังสี, และนิวเคลียร์ (Jane’s Chemical, Biological, Radiological, and Nuclear Intelligence Centre) ณ บริษัทวิจัย ไอเอสเอส เจนส์ (IHS Jane’s)

(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)

กำลังโหลดความคิดเห็น