xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus:ลือสะพัด! รัฐเศรษฐีน้ำมันอาหรับหวัง “ฮิลลารี” คว้าชัยเลือกตั้งมะกัน ช่วยเอื้อผลประโยชน์พลังงานกว่า “ทรัมป์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิเคราะห์ดังประเมิน ซาอุดีอาระเบียและบรรดาประเทศเศรษฐีน้ำมัน แถบอ่าวเปอร์เซีย ตั้งความหวังให้นางฮิลลารี คลินตัน ว่าที่ผู้สมัครตัวแทนพรรคเดโมแครตเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะเหนือโดนัลด์ ทรัมป์ จากฟากฝั่งรีพับลิกัน ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 เพราะเป็นที่แน่ชัดว่า การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำหญิงเมืองลุงแซมของฮิลลารี จะเป็นผลดีและช่วยเอื้อประโยชน์ด้านพลังงานให้แก่บรรดาชาติอาหรับมากกว่า

โรเบิร์ต แม็คนอลลี ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน “Rapidan Group” ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของสหรัฐฯ เป็นผู้ที่ออกมาเปิดเผยประเด็นนี้ต่อสื่อดังอย่าง “ซีเอ็นบีซี” เมื่อวันพฤหัสบดี (2 มิ.ย.) ระหว่างเดินทางเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมของสมาชิกกลุ่มโอเปก (Organization of the Petroleum Exporting Countries : OPEC) หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออกรายใหญ่ที่กรุงเวียนนา เมืองหลวงของออสเตรีย

“มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับดำมืดอีกต่อไปแล้ว เวลานี้บรรดาผู้มีอำนาจทางการเมือง ทั้งในซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียต่างสวดภาวนาให้ฮิลลารี คลินตัน ได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของอเมริกา เพราะรัฐเศรษฐีน้ำมันฝ่ายสุหนี่เหล่านี้ ไม่ต้องการเผชิญหายนะครั้งใหญ่ จากนโยบายต่างประเทศและพลังงานภายใต้สโลแกน “อเมริกาต้องมาก่อน” ของโดนัลด์ ทรัมป์” แม็คนอลลี กล่าว


ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงาน Rapidan Group ระบุว่า ไม่มีสมาชิกกลุ่มโอเปกชาติใด โดยเฉพาะในแถบอ่าวเปอร์เซีย ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาแบบ “พลิกขั้ว” ภายในชั่วระยะเวลาเพียงแค่ข้ามคืนเพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ว่านี้ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในแถบอ่าวเปอร์เซีย ที่เต็มไปด้วยดินแดนที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน ที่มีสัดส่วนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในรายได้ทั้งหมดของประเทศ

“คำถามหลักที่สมาชิกโอเปกหยิบยกกันมาหารือในเวลานี้ ไม่ใช่คำถามที่ว่า เมื่อใดราคาน้ำมันในตลาดโลกจะผ่านพ้นช่วงขาลงอีกต่อไป เพราะคำถามยอดฮิตที่คาใจผู้มีอำนาจในโอเปกที่สุดในยามนี้ คือ คำถามที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดน้ำมันและประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หากว่า ชายที่ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป” แม็คนอลลี กล่าวเสริม

ตลอดระยะเวลาการหาเสียงที่ผ่านมา มหาเศรษฐีฝีปากกล้าจากนิวยอร์กอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตั้งคำถามมาโดยตลอด ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทรัมป์เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯจะต้องเลิกดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะในตะวันออกกลางเพื่อ “เอาอกเอาใจ” ซาอุดีอาระเบีย หวังแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ด้านพลังงานที่รัฐบาลริยาดห์ จะมอบตอบแทนให้กับวอชิงตัน

ไม่น่าแปลกใจว่า นโยบายของทรัมป์ที่ต้องการให้อเมริกา “เป็นอิสระ” ในด้าน พลังงานและหลุดพ้นจากการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ จะสร้างความกังวลใจให้กับซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับย่านอ่าวเปอร์เซียไม่น้อย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ประกาศชัดเจน ระหว่างการหาเสียงที่มลรัฐนอร์ธดาโกต้า ว่า เขาต้องการให้อเมริกาเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงในด้านพลังงาน ทั้งการเลิกนำเข้าน้ำมันจากนอกประเทศ และการหันมาขุดค้นสำรวจแหล่งพลังงานภายในประเทศตัวเองด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม



ในทางกลับกัน เป็นที่ทราบกันดีว่า หัวใจหลักในนโยบายต่างประเทศของนางฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง-อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯนั้นยังคงมีซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับในตะวันออกกลางเป็นแกนกลาง ยังไม่นับรวมกับกลุ่มผลประโยชน์ด้านพลังงานอีกนับไม่ถ้วน ที่มีสายสัมพันธ์ยึดโยงกับอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน สามีของเธอ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ดูจะเป็นผลดีและเป็นที่ต้องการของประเทศผู้ผลิตน้ำมันอาหรับ ที่ไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วในวอชิงตัน หากทรัมป์ได้ครองอำนาจ

“พวกผู้มีอำนาจในซาอุฯและรัฐอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียต่างเชื่อว่า พวกเขาจะสามารถพูดคุยและต่อรองผลประโยชน์ทั้งทางการเมืองและพลังงานกับฮิลลารีและบิล คลินตันได้ง่ายกว่า การพูดคุยกับทรัมป์” แม็คนอลลี กล่าวทิ้งท้าย

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในช่วงปลายปีนี้จะออกมาในรูปแบบใด และชัยชนะจะตกเป็นของฮิลลารี คลินตัน หรือโดนัลด์ ทรัมป์ แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า บรรดาผู้มีอำนาจในรัฐเศรษฐีน้ำมันอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซีย ที่นำโดยซาอุดีอาระเบียคงต้อง “ลุ้นตัวโก่ง” เพื่อให้ฮิลลารีเข้าป้ายคว้าชัย เพราะดูเหมือนไม่มีรัฐอาหรับรัฐใดที่ต้องการจะเห็นนโยบาย “America First” ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกนำมาปฏิบัติใช้งานจริง หากทรัมป์เป็นฝ่ายที่ได้เดินเข้าสู่ทำเนียบขาว


กำลังโหลดความคิดเห็น