รอยเตอร์ - สหรัฐฯเริ่มต้นทดสอบ “XPS เครื่องมือเลี้ยงปอดนอกร่างกาย” ผลงานสุดน่าทึ่งของบริษัทสัญชาติสวีเดน XVIVO Perfusion ในการปรับสภาพปอดที่อาจไม่แข็งแรงจากผู้บริจาคทำการปรับสภาพเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ก่อนปลูกถ่ายให้กับคนไข้ โดยการทำงานของเดอะ บ็อกซ์ ปอดจะยังคงมีสภาพเหมือนอยู่ภายในร่าง ถูกเก็บ ได้นานถึง 6 ชม. ภายในกล่องใสที่มีท่อคล้ายเส้นเลือดต่อเชื่อมเพื่อการพักของอวัยวะ
สหรัฐฯเริ่มต้นการทดสอบด้านคลินิกวิทยาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ 16 แห่ง กับ XPS เครื่องมือแพทย์สุดมหัศจรรย์ ที่ถูกขนานนามว่า เดอะ บ็อกซ์ หรือ กล่อง เครื่องมือเลี้ยงปอดนอกร่างกายได้นานถึง 6 ชม. ผลงานของบริษัทสัญชาติสวีเดน XVIVO Perfusion
ซึ่งในการทดสอบนี้ รอยเตอร์ชี้ว่า เครื่องมือเลี้ยงปอด XPS จะถูกใช้ในโรงพยาบาลการแพทย์ เมดิคัลเซนต์ ของมหาวิทยาลัยดุ๊ก รวมไปถึงมหาวิทยาลัยวอชิงตัน โรงพยาบาลนิวยอร์ก - เพรสไบทีเรียน และที่อื่น ๆ อีกทั่วประเทศ แต่ทว่าที่ผ่านมาพบว่าเครื่องมือเลี้ยงปอด XPS ได้รับอนุญาตให้ได้รับการใช้ในสถานพยาบาลในยุโรปและแคนาดาแล้ว
ทั้งนี้ ในการทดสอบทางคลินิกทั้ง 16 แห่งในอเมริกา รอยเตอร์ชี้ว่า ก่อนหน้านี้องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ FDA ได้เปิดไฟเขียวอนุญาตให้สามารถทำการทดลองด้านคลินิกได้ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม
ซึ่งเทคโนโลยีชั้นนำในการช่วยชีวิตคนไข้ที่ไม่เคยได้รับการใช้อย่างแพร่หลายมาก่อน มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนของผู้บริจาคอวัยวะด้วยการทำให้อวัยวะปอดที่มีสภาพไม่แข็งแรงสามารถพักฟื้นและซ่อมแซมตัวเองก่อนที่จะถูกปลูกถ่ายให้กับคนไข้
รอยเตอร์รายงานต่อว่า ในการทำงานของเครื่องมือเลี้ยงปอด XPS ของบริษัทสวีเดน “เดอะ บ็อกซ์” จะป้อนการเข้าออกของอากาศให้กับปอดที่ถูกตัดออกจากร่างกายของผู้บริจาคภายในกล่องใส ซึ่งอวัยวะชนิดนี้จะได้รับการเลี้ยงด้วยของเหลวที่มีส่วนผสมระหว่างยาและสารสเตอร์รอยด์เพื่อปรับให้ปอดมีสภาพการทำงานที่ดีขึ้น และรอเพื่อการพักฟื้นก่อนที่จะนำไปปลูกถ่ายให้กับคนไข้ต่อไป
โดยนายแพทย์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ วารุน ปูรี (Varun Puri) ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทรวงอกประจำมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ได้ให้ความเห็นถึงความน่าทึ่งของเครื่องมือเลี้ยงปอด XPS ว่า “เครื่องมือชนิดนี้ทำให้ปอดยังคง….มีชีวิตอยู่ได้ และยังทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เช่นพวกเรา มีเวลาในการประเมินระบบการทำงานของอวัยวะภายใต้สภาพแวดล้อมที่ได้รับการควบคุมอย่างไม่เหมือนใคร”
และ ปูรี กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้ปอดสามารถพักฟื้นได้เป็นเพราะว่า ถึงแม้ปอดจะอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่ต่างจากที่เคยอยู่ภายในร่างกาย แต่ทว่าในการต้องถูกเลี้ยงอยู่ภายในเดอะ บ็อกซ์ ปอดไม่จำเป็นต้องทำงานฟอกอากาศจริงเหมือนกับที่เคยต้องทำภายในร่างกาย และนั่นทำให้ปอดได้รับการพักฟื้น เพราะปอดเป็นอวัยวะที่ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลาในการเคลื่อนอากาศผ่านเข้าและออก โดยนำก๊าซออกซิเจนเข้ามา และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป และจากกระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซนี้ในบางสถานการณ์ทำให้อวัยวะนี้ทำงานอย่างหนักและกลายเป็นความกดดันต่ออวัยวะขึ้น
รอยเตอร์รายงานต่อว่า ในการทดลองกับคนไข้ในอเมริกา พบว่ามีเสียงตอบรับจากคนไข้ที่ได้ทดลองเครื่องมือเลี้ยงปอด XPS อย่างท่วมท้นโดย มิเชล โคลแมน (Michele Coleman) วัย 63 ปี อดีตสิงห์รมควันตัวยง ได้ยกย่องเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำจากสวีเดนชิ้นนี้ว่า ชีวิตของเธอสามารถรอดมาได้เพราะเจ้าเครื่องมือเลี้ยงปอด XPS จากโรคที่ไม่มีทางรักษา เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือ โรคซีโอพีดี (Chronic obstructive pulmonary disease, COPD)นี้ ซึ่งพบว่าจากอาการ ผู้ป่วยจะมีพยาธิสภาพของถุงลมโป่งพอง (Emphysema) และ/หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) เกิดร่วมกัน อาการหลักคือไอ มีเสมหะ หรืออาการหายใจเหนื่อยที่ค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ
และในการเข้าเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมการทดสอบ โคลแมน ได้เปิดเผยความรู้สึกว่า “มันน่ากลัวมาก แต่ทว่าหากมีสิ่งใดที่พวกเขาคิดว่าจะทำให้ดิฉันดีขึ้นจากปัจจุบันที่เป็นอยู่แล้ว ดิฉันพร้อมยอมรับ เพราะอันที่จริงแล้ว ดิฉันคาดว่า ตัวเองอาจจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานไปจนถึงสิ้นปีนี้”