xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ปลูกถ่าย “เจ้าโลก” เคสแรก มุ่งให้ “ดูดี-ฉี่ได้-มีเพศสัมพันธ์ได้” ปลุกความหวังคืนความสุขผู้สูญเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ภาพถ่ายในวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมาและเผยแพร่โดยโรงพยาบากลางแมสซาชูเซตส์ แสดงให้เห็น  โธมัส แมนนิ่ง ยกนิ้วโป้งเป็นคำตอบ เมื่อถูกถามว่าเขารู้สึกอย่างไรบ้างภายหลังเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเพศชายรายแรกในสหรัฐฯ ซึ่งใช้เวลานานถึง 15 ชั่วโมง </i>
เอพี - ทีมแพทย์สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายอวัยวะเพศชายครั้งแรกให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งวัย 64 ปี ถือเป็นการผ่าตัดอันสำคัญ และสร้างความหวังให้แก่ผู้ได้รับอุบัติเหตุตลอดจนทหารที่ถูกระเบิดว่าอาจมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายสำคัญนอกเหนือจากกระบวนการผ่าตัดและผลของการผ่าตัด นั่นคือการขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะเพศ

โรงพยาบาลกลางแมสซาชูเซตส์แถลงเมื่อวันจันทร์ (16 พ.ค.) ว่า โธมัส แมนนิ่ง จากเมืองฮาลิแฟกซ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ มีอาการฟื้นตัวที่ดีหลังเข้ารับการผ่าตัดนาน 15 ชั่วโมงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

แพทย์เจ้าของไข้แสดงความหวังว่า ในที่สุดแล้วแมนนิ่งจะสามารถปัสสาวะได้เป็นปกติและมีเพศสัมพันธ์ได้อีกครั้งเป็นครั้งแรก หลังจากอาการมะเร็งอวัยวะเพศชนิดรุนแรงทำให้ต้องตัดอวัยวะเพศของเขาเมื่อปี 2012 โดยที่แพทย์ระบุว่า สภาวะจิตใจจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวของคนไข้รายนี้

นพ.เคอร์ติส เซทรูโล หนึ่งในหัวหน้าคณะศัลยแพทย์ที่ประกอบด้วยทีมงานกว่า 50 คน แถลงว่า แมนนิ่งมีกำลังใจดีมากและต้องการกลับมาใช้ชีวิตปกติอีกครั้ง และยังบอกอีกว่า อวัยวะเพศที่ปลูกถ่ายมีเลือดไหลเวียนดี และไม่มีสัญญาณว่าร่างกายปฏิเสธอวัยวะใหม่ จึงคาดว่าแมนนิ่งจะออกจากโรงพยาบาลได้ในเร็วๆ นี้

เซทรูโลเสริมว่า การผ่าตัดมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ อวัยวะที่ปลูกถ่ายให้แล้วต้องดูเป็นธรรมชาติ, สามารถปัสสาวะได้ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลใน 2-3 สัปดาห์ และมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่แมนนิ่งจะไม่สามารถมีบุตรได้เนื่องจากไม่ได้รับการปลูกถ่ายอัณฑะใหม่

ไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้บริจาคอวัยวะครั้งนี้ เพียงแต่บอกว่าเป็นผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว
<i>น.พ.ดิกเคน โค ผู้อำนวยการโครงการศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ ของโรงพยาบาลกลางแมสซาชูเซตส์ เมืองบอสตัน จับมือกับสมาคมในทีมศัลยแพทย์ ภายหลังการแถลงข่าวที่โรงพยาบาลเมื่อวันจันทร์ (16 พ.ค.) เพื่อประกาศข่าวความสำเร็จของการปลูกถ่ายอวัยวะเพศชายรายแรกในสหรัฐฯ </i>
การผ่าตัดแมนนิ่งถือว่าอยู่ในขั้นทดลอง โดยเวลานี้มีผู้ป่วยเพียงรายเดียวเท่านั้นที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพศ และยังใช้อวัยวะที่ปลูกถ่ายอยู่ ทั้งนี้ การผ่าตัดคราวนั้นเกิดขึ้นที่แอฟริกาใต้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีโรงพยาบาลอีก 4 แห่งของอเมริกาที่ได้รับอนุญาตจากยูไนเต็ด เน็ตเวิร์ก ฟอร์ ออร์แกน แชร์ริ่ง (ยูเอ็นโอ) ซึ่งควบคุมดูแลระบบการปลูกถ่ายอวัยวะในสหรัฐฯ ให้ทำการผ่าตัดที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้

หมอเซทรูโลกล่าวว่า การสูญเสียอวัยวะเพศ ไม่ว่าจากมะเร็ง อุบัติเหตุ หรือการรบ ล้วนสร้างความบอบช้ำทางจิตใจและส่งผลต่อการปัสสาวะ การมีเพศสัมพันธ์ และความสามารถในการมีบุตร หลายคนที่ประสบภาวะนี้กลายเป็นคนเก็บตัวและสิ้นหวัง

การปลูกถ่ายเพื่อเสริมสร้างแก้ไขความพิการนั้น ต่างจากการปลูกถ่ายเพื่อรักษาชีวิตทั่วไป เช่น การปลูกถ่ายหัวใจ ตับ ไต เนื่องจากมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต และแม้การปลูกถ่ายอวัยวะเพศชายอาจจะฟังดูสุดโต่ง แต่ก่อนหน้านี้ก็มีการปลูกถ่ายใบหน้า มือ หรือแม้กระทั่งมดลูกมาแล้ว

ทางด้าน นพ. ดับเบิลยู. พี. แอนดริว ลี ประธานแผนกศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้างแก้ไขความพิการของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ชี้ว่า นี่เป็นขั้นตอนใหม่ที่สำคัญ โดยขณะนี้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์กำลังเตรียมปลูกถ่ายอวัยวะเพศให้ทหารผู้หนึ่งที่บาดเจ็บจากการไปรบ

อย่างไรก็ดี ผู้เข้ารับการผ่าตัดเช่นนี้ต้องเผชิญความเสี่ยงสาหัสหลายประการ เป็นต้นว่า ร่างกายอาจปฏิเสธเนื้อเยื่ออวัยวะที่ปลูกถ่ายให้ และผลข้างเคียงจากการใช้ยาระงับการปฏิเสธเนื้อเยื่อที่ต้องใช้ตลอดชีวิต ซึ่งแพทย์กำลังหาวิธีลดการใช้ยาเหล่านี้

การปลูกถ่ายอวัยวะเพศชายเช่นนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากทหารผ่านศึกที่กลับจากอิรักและอัฟกานิสถาน ทว่ากรณีของพวกเขาเหล่านี้จะต้องได้รับการผ่าตัดที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นอีก เนื่องจากอาการบาดเจ็บของพวกเขามักเกิดจากกับระเบิดที่ทำให้เส้นเลือดและเนื้อเยื่อบริเวณเชิงกรานเสียหายและต้องการการซ่อมแซม
<i>2 สมาชิกทีมศัลยแพทย์ น.พ.ดิกเคน โค (ซ้าย) และ น.พ.เคอร์ติส เซทรูโล (ขวา) กล่าวกับผู้สื่อข่าว ระหว่างการแถลงข่าวที่โรงพยาบาลกลางแมสซาชูเซตส์ เมืองบอสตัน เมื่อวันจันทร์ (16 พ.ค.) </i>
เท่าที่ผ่านมามีรายงานว่าชายคนหนึ่งในจีนเคยรับการปลูกถ่ายอวัยวะเพศในปี 2005 แต่หลังจากสองสัปดาห์ชายคนดังกล่าวก็ขอให้แพทย์ตัดอวัยวะที่ปลูกถ่ายออกเนื่องจากเขาและภรรยามีปัญหาด้านจิตวิทยา

ต่อมาเดือนธันวาคม 2014 ชายหนุ่มวัย 21 ปีในแอฟริกาใต้ที่ต้องตัดอวัยวะเพศทิ้งเนื่องจากมีอาการแทรกซ้อนจากการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศตอนเป็นวัยรุ่นช่วงปลาย ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเพศ

นพ.อังเดร แวน เดอร์ เมอร์วี จากมหาวิทยาลัยสเตนเลนบอช เผยว่า คนไข้รายนั้นมีสุขภาพดี มีความสัมพันธ์ทางเพศได้ตามปกติ และมีบุตรได้ แม้บุตรของเขาเสียชีวิตตั้งแต่คลอดก็ตาม อย่างไรก็ดี คนไข้รายนี้มีปัญหาในช่วงการฟื้นตัว เนื่องจากมีเส้นเลือดขอดและการติดเชื้อ

สำหรับการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติแต่กำเนิดหรือการผ่าตัดแปลงเพศนั้น แพทย์สามารถสร้างอวัยวะเพศชายจากผิวของผู้ป่วยเอง และใช้การปลูกถ่ายเพื่อให้ตั้งตรง แต่การปลูกถ่ายอวัยวะเพศชายที่ทำงานเป็นปกติต้องมีการเชื่อมต่อเส้นเลือดและเส้นประสาท

นพ.แวน เดอร์ เมอร์วี เสริมว่า ยังมีความท้าทายนอกเหนือจากการผ่าตัด นั่นคือการหาผู้บริจาคอวัยวะเพศ เนื่องจากญาติมักลังเลที่จะอนุญาตให้นำอวัยวะเพศของผู้ตายไปใช้ประโยชน์ต่อ

นพ.สกอตต์ เลวิน ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายมือหนึ่งของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และรองประธานคณะกรรมการการปลูกถ่ายเพื่อเสริมสร้างแก้ไขความพิการของยูเอ็นโอ เสริมว่า ในอเมริกา บุคคลหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ที่ตกลงบริจาคอวัยวะ เช่น หัวใจหรือปอด จะถูกสอบถามแยกต่างหากว่าต้องการบริจาคอวัยวะเพศ มือ หรืออวัยวะอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่

กำลังโหลดความคิดเห็น