xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการสิงคโปร์เตือน ‘สหรัฐฯ’ จะต้องจ่ายแพงลิ่วเพราะมองเรื่อง ‘ทะเลจีนใต้’ ผิดพลาด

เผยแพร่:   โดย: สำนักข่าวซินหวา

US misjudgment on South China Sea will be costly: Singapore scholar
BY Xinhua Agency
11/05/2016

สหรัฐฯวินิจฉัยจีนผิดพลาดแล้วในประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ และเรื่องนี้จะทำให้เกิดความเสียหายราคาแพงลิ่ว เจิ้ง ยงเหนียน นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงด้านจีนศึกษาของสิงคโปร์ระบุในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหวาของทางการจีน

สหรัฐฯวินิจฉัยจีนผิดพลาดเสียแล้ว ในเรื่องเกี่ยวกับความตั้งใจของจีนและบทบาทของจีนในประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ เจิ้ง ยงเหนียน (Zheng Yongnian) ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออก (East Asian Institute) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) บอกกับสำนักข่าวซินหวา ระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันจันทร์ (9 พ.ค.) ที่ผ่านมา

“การตัดสินวินิจฉัยเรื่องนี้ของสหรัฐฯ อิงอาศัยประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯเอง ในฐานะที่เป็นจักรวรรดิซึ่งมีนโยบายมุ่งแผ่ขยายอาณาเขต ตลอดจนยึดมั่นอยู่กับอุดมการณ์แห่งความเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่อย่างเหนียวแน่นลึกซึ้ง โดยที่ไม่ได้พิจารณาผลงานการดำเนินการทางการทูตของจีนในภูมิภาคแถบนี้” เขากล่าว

การวินิจฉัยผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ

เจิ้ง ซึ่งเป็นนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงทางด้านจีนศึกษา ชี้ว่า จีนนั้นไม่เหมือนกับสหรัฐฯ ตรงที่จีน “ไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบมิชชันนารี หรือนโยบายการทูตแบบมิชชันนารี” เหมือนอย่างสหรัฐฯ

เขาบอกต่อไปว่า ขณะที่การปรากฏตัวอย่างหนักแน่นของสหรัฐฯในภูมิภาคแถบนี้ ถูกบางคนบางฝ่ายในจีนมองว่าคือภัยคุกคาม ทว่าจีนก็ไม่ได้เคยมี “ลัทธิมอนโร” (Monroe Doctrine) เวอร์ชั่นของตนเอง ที่จะมุ่งขับไสผลักดันอิทธิพลของสหรัฐฯให้ออกไปจากภูมิภาค (ไม่เหมือนกับสหรัฐฯซึ่งประกาศลัทธิมอนโรในปี 1823 โดยมุ่งขับไสอิทธิพลของพวกประเทศในยุโรปให้ออกไปจากทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ –ผู้แปล)

เจิ้งมองว่า การที่เวลานี้สหรัฐฯอ้างว่าตนเองเป็นห่วงใยในเรื่องที่เสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้จะถูกสกัดขัดขวาง ก็เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะในทางเป็นจริงแล้ว จีนกลับเป็นผู้ที่ต้องการปกป้องรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้มากยิ่งขึ้นประเทศอื่นๆ เสียอีก เนื่องจากแดนมังกรต้องพึ่งพาอาศัยเส้นทางขนส่งทางทะเลอันสำคัญในอาณาบริเวณดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

พิจารณากันในภาพรวมแล้ว จีนกับสหรัฐฯไม่ได้มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กันโดยตรงในทะเลจีนใต้เลย นักวิชาการของมหาวิทยาลัยชื่อก้องในสิงคโปร์ผู้นี้ระบุ พร้อมกับเตือนว่า “ยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นจากการวินิจฉัยอันผิดพลาด จะทำให้อเมริกาต้องเสียหายในราคาแพงลิ่ว”

ทั้งนี้ฝ่ายจีนบอกว่ายินดีต้อนรับสหรัฐฯให้เข้ามาแสดงบทบาทเชิงบวกในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคแถบนี้ เป็นต้นว่า การเข้ามีส่วนร่วมในด้านความมั่นคงทางทะเล

นอกจากนั้นจีนยังแสดงความสนับสนุนการใช้วิธีการ 2 วิธีเคียงคู่กัน มาแก้ไขประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ โดยที่จีนประกาศหนุนความพยายามร่วมของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคที่จะปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ขณะเดียวกันจีนก็ยืนยันว่าข้อพิพาทต่างๆ เกี่ยวกับทะเลจีนใต้ควรต้องแก้ไขอย่างสันติ โดยผ่านช่องทางระดับทวิภาคี นั่นคือระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงอยู่ในกรณีพิพาทเหล่านั้น

วิธีแก้ไขที่จีนประกาศสนับสนุน

สหรัฐฯนั้นได้กล่าวย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ “ต้องได้รับการแก้ไขอย่างสันติโดยที่ไม่มีชาติใหญ่หนึ่งใดแสดงตัวควบคุมเหนือบรรดาเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่า” แต่ เจิ้ง บอกว่า คำพูดเช่นนี้ซึ่งก็คือการกล่าวหาอย่างอ้อมๆ ว่าจีนวางตัวเป็นอันธพาลระรานคนอื่นนั้น โดยสาระสำคัญแล้วเป็นการกล่าวหาที่มีอคติ

เขาเห็นว่า วิธีแก้ไขปัญหาที่สหรัฐฯหนุนหลังอยู่ ซึ่งได้แก่การทำให้กรณีพิพาทเหล่านี้กลายเป็นกรณีระดับระหว่างประเทศขึ้นมานั้น ไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้นเลย เนื่องจากบ่อยครั้งทีเดียว กรณีพิพาทช่วงชิงดินแดนไม่ค่อยมีช่องทางเอื้ออำนวยให้พวกรัฐซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกัน สามารถถอยหลังกลับได้อยู่แล้ว ดังนั้นความพยายามใดๆ ที่จะทำให้เกิดการป่าวร้องโฆษณาเกินจริง ก็มีแต่จะทำให้ความตึงเครียดเพิ่มระดับสูงขึ้นเท่านั้น

เติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำที่ล่วงลับไปแล้วของจีน ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ และเป็นที่ทราบกันดีว่าเขาเป็นผู้ที่มุ่งมองผลในทางปฏิบัติ เติ้งเป็นผู้ที่มองเห็นว่ากรณีพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้นั้นสามารถแก้ไขได้ และดังนั้นจึงได้เสนอวิธีการให้เข้าไปร่วมกันพัฒนา

วิธีที่เสนอโดยเติ้งนี้ดีกว่า เพราะสอดคล้องกับบริบททางประวัติศาสตร์อันสลับซับซ้อน ทั้งนี้จีนกับพวกชาติเพื่อนบ้านในทะเลจีนใต้ได้อยู่ร่วมกันมาเป็นเวลายาวนานหลายพันปีแล้ว ก่อนที่จะมีการจัดทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea)

จีนยังได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถทำความตกลงกับพวกชาติเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่าด้วยความเคารพ และปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างผู้มีฐานะเท่าเทียม ตัวอย่างเช่น จีนกับเวียดนามได้แก้ไขข้อพิพาทในเรื่องพรมแดนทางบกของพวกเขาไปได้ตั้งนานมาแล้วโดยผ่านการเจรจาแบบทวิภาคี ซึ่งจีนได้ยินยอมอ่อนข้อให้ในบางอย่างบางประการอีกด้วย

“กรณีนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า มันไม่ยุติธรรมเลยที่จะเรียกจีนว่าเป็นอันธพาลใหญ่เที่ยวระรานบรรดาชาติที่เล็กกว่า” เจิ้ง กล่าว

ในความเห็นของนักวิชาการชื่อดังผู้นี้ จีนได้พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ถูกตีฆ้องโฆษณาจนเอิกเกริก นอกจากนั้นจีนยังไม่ได้เป็นประเทศแรกที่ดำเนินการถมทะเลและก่อสร้างโครงการต่างๆ บนเกาะแก่งและแนวปะการังของทะเลจีนใต้ โดยที่ประเทศอย่างฟิลิปปินส์และเวียดนามต่างหากที่ได้กระทำเช่นนั้นมานานแล้ว

แม้กระทั่งในเวลาที่เผชิญกับการเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐฯ จีนก็ไม่ได้หวั่นไหววอกแวกในเรื่องการเดินหน้าแสวงหาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค

ไม่มีผู้ชนะ

เจิ้งบอกว่า วิธีการที่สหรัฐฯหนุนหลังอยู่ซึ่งทำให้ข้อพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้กลายเป็นกรณีระหว่างประเทศ อีกทั้งกลายเป็นประเด็นปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกทีนั้น จะทำให้ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องได้รับความเสียหายราคาแพง

ทางฝ่ายจีนนั้น ขณะที่ไม่ได้เป็นผลประโยชน์อะไรของแดนมังกรเลยที่จะทำให้เกิดการประโคมโหมโฆษณาประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ ทว่าเมื่อถูกยั่วยุจีนก็จะต้องตอบโต้อยู่ดี โดยที่จีนนั้นมีศักยภาพอย่างเต็มที่ที่จะต้านทานพฤติการณ์ยั่วยุทั้งหลายซึ่งสหรัฐฯหนุนหลังอยู่ ถ้าหากจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

สำหรับสมาคมอาเซียน เวลานี้ต้องตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ เนื่องจากรัฐสมาชิกบางรายพยายามที่จะผลักดันให้ข้อพิพาทที่พวกตนมีอยู่กับจีน เข้าไปอยู่ในเวทีอาเซียนทั้งๆ ที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐสมาชิกอื่นๆ

เจิ้งมองว่า อาเซียนมีเสถียรภาพลดน้อยลงนับตั้งแต่ที่สหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงด้วยนโยบาย “ปักหมุดหวนคืนสู่เอเชีย” (pivot to Asia) ของตน

ยิ่งกว่านั้น การทำให้ข้อพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้กลายเป็นกรณีระหว่างประเทศขึ้นมา ก็ไม่จำเป็นว่าจะเป็นสิ่งที่ให้ผลประโยชน์ แม้กระทั่งแก่พวกรัฐที่อ้างกรรมสิทธิ์อยู่

“นักการเมืองบางคนกำลังผลักดันเรื่องนี้ เนื่องจากคำนึงถึงผลทางการเมืองโดยที่ไม่ได้พิจารณาว่าจะเป็นผลประโยชน์สำหรับประเทศชาติของพวกเขาหรือไม่” เจิ้ง บอก

ในส่วนของสหรัฐฯ การเข้ามาแทรกแซงของสหรัฐฯคือการคำนวณผิดพลาดในเชิงยุทธศาสตร์ และก็ก่อให้เกิดความเสียหายที่สหรัฐฯจะต้องแบกรับอีกด้วย

เจิ้งชี้ว่า ผลประโยชน์ของพวกประเทศในภูมิภาคแถบนี้กับของสหรัฐฯ ไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวกันเสมอไป “ขณะที่ระหว่างสหรัฐฯกับพวกรัฐ (ที่อ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนในทะเลจีนใต้) เหล่านี้ มีการบรรจบกันของผลประโยชน์แห่งชาติอยู่ในบางด้านบางพื้นที่ ทว่าการทำให้เกิดผลประโยชน์แห่งชาติอย่างสูงสุดของรัฐเหล่านี้ ไม่จำเป็นว่าจะเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯไปด้วย” เขากล่าว

“สหรัฐฯแทบไม่ค่อยได้ผลประโยชน์อะไรหรอกจากการเข้ามาแทรกแซง การแทรกแซงของสหรัฐฯมีแต่จะผลักดันให้ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าสู่สถานการณ์ที่พ่ายแพ้สูญเสียกันทุกฝ่าย (lose-lose situation)” เขากล่าวต่อ

เจิ้งบอกว่า จีนได้แสดงให้เห็นความแข็งแกร่งอย่างชนิดไม่วอกแวกลังเล ในเวลาเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้

“จีนจำเป็นที่จะต้องอดทนอดกลั้น เนื่องจากความมีเหตุมีผลนั้นเกิดขึ้นมาจากความอดทนอดกลั้น” เขากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น